สสส. แจงรายงานประจำปี โชว์ 7 ผลงานเด่น เน้นลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ-ลดตายก่อนวัย-เพิ่มอายุคาดเฉลี่ยคนไทย สส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ชมพลิกโฉมการทำงานสร้างเสริมสุขภาพครอบคลุมกาย-จิต แนะเพิ่มการทำงานร่วมกับสภา เพิ่มความเข้มข้นป้องกันโรค NCDs และรองรับสังคมผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2567 ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) มีวาระรายงานประจำปี 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เป็นผู้ชี้แจง กล่าวถึงดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพของไทย อยู่ที่อันดับ 5 ของโลก แต่มีอายุคาดเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ 76.56 ปี เป็นอันดับ 78 ของโลก ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 2565 พบสาเหตุการตายในกลุ่มอายุน้อยและวัยทำงาน 170,000 คน เกิดจากอุบัติเหตุและ NCDs สสส. สานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนผลงานเด่น 7 เรื่อง 1.จัดการโรค NCDs 2.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.ควบคุมยาสูบ 4.ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด 5.สังคมขับขี่ปลอดภัย 6.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม 7.สานพลังเครือข่ายระดับสากล มุ่งลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ป้องกันการตายก่อนวัยอันควร
ากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ร่วมอภิปรายและเสนอแนวทางการทำงานเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพแก่ สสส. โดย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สส. จ.สุโขทัย เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สสส. ได้วางอนาคตการสร้างเสริมสุขภาพอย่างชัดเจน ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย จนเกิดประโยชน์ทั้งในประเทศ และนานาชาติ สำหรับ 7 ผลงานเด่น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายอย่างชัดเจนในการสร้างสังคมสุขภาวะและสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรค ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการตื่นรู้สุขภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสานพลังวิชาการและเครือข่าย ส่งเสริมให้ประชาชนห่างไกลจากโรค NCDs ซึ่งรอบปีที่ผ่านมาคนไทยเป็น NCDs ถึง 33 ล้านเคส โดย 1 คนอาจจะเป็นหลายโรค และเสียชีวิต ถึง 400,000 คน นอกจากนี้ สสส. ได้ตั้งสถาบันการเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาวะ Thai Health Academy พัฒนาภาคีเครือข่าย แต่มีผู้เข้าถึงโครงการเพียง 2,708 คน เสวนาผ่านสื่อออนไลน์อีก 16,000 คน จึงขอให้เพิ่มปริมาณผู้เข้าร่วมให้มากขึ้น โดยยกระดับบริการผ่านระบบดิจิทัล และคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางดานดิจิทัลให้กับประชาชนด้วย
น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ชื่นชม สสส. ภาคีเครือข่าย และนักสร้างเสริมสุขภาพทุกคน ที่ช่วยกันสร้างสังคมสุขภาวะ ดูแลคนทุกช่วงวัย รวมถึงช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต พร้อมเสนอให้เพิ่มการทํางานร่วมกับนักการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะรัฐสภา กรรมาธิการคณะต่างๆ เช่น กรรมาธิการสาธารณสุข ที่กําลังพิจารณาการลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิการรักษา สสส. อาจมีนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ หรือสามารถเชื่อมโยงการทํางานข้ามหน่วยงาน หรือข้ามกระทรวงได้
“เรากําลังประสบปัญหากําลังคนด้านสุขภาพ แต่ สสส. พลิกโฉมด้วยแนวทางการบริหารจัดการแบบกองทุน สามารถทํางานร่วมกับมูลนิธิ องค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์กรเอกชน หรือแม้แต่บุคคล ร่วมงานกับกําลังคนนอกภาคราชการกว่า 65% โดยมีคะแนนสูงด้านการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล สภาฯ ควรเรียนรู้และประยุกต์แนวทางการบริหารจัดการกองทุนสุขภาพลักษณะนี้มาใช้ส่งเสริมพลเมืองให้ตื่นรู้ด้านอื่น เช่น การพัฒนากระบวนการประชาธิปไตย วิจัยและพัฒนานวัตกรรม การกีฬา เพื่อให้ผลสําเร็จของ สสส. ไม่จํากัดอยู่เพียงการสร้างเสริมสุขภาพ แต่สามารถสร้างเสริมการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้าในทุกด้าน” น.ส.กัลยพัชร กล่าว
นายสฤษดิ์ บุตรเนียน สส. จ.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุมีจํานวนมาก กระทรวงมหาดไทย มี 10 นโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน สอดคล้องหลายภารกิจของ สสส. เช่น การปรับพื้นฐานที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ พัฒนาเด็ก และเยาวชน อยากให้เพิ่มการสนับสนุนพื้นที่ชุมชนต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะการหนุนเสริมศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อลดภาระครอบครัว ลดอุปสรรคในการมีลูก เพราะปัจจุบันคนไม่อยากมีลูก ส่วนผู้สูงอายุ มีผู้ป่วยติดเตียงจำนวนมาก หาก สสส. สามารถหนุนเสริมการดูแลแก้ปัญหานี้ได้ ก็จะทำให้ทุกบนแผ่นดินไทย มีวิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนต่อสุขภาวะที่ดีตามพันธกิจของ สสส. ได้จริง
ดร.อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อ่านรายงานประจำปีของ สสส. เห็นพัฒนาการทุกปี มีข้อสังเกตุ 5 ข้อ 1.การลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ พัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัย เช่น โครงการ "ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" "บ้านอิ่มใจ" ช่วยคนไร้บ้านเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูก ตั้งเป้าให้คนไร้บ้านทุกคนมีที่อยู่อาศัยภายในปี 2579 2.พัฒนาสุขภาพแรงงานไรเดอร์ ริเริ่มต้นแบบส่งเสริมสุขภาพ เช่น หลักสูตร "คอ บ่า ไหล่ สะโพก โยกสบาย" "ไรเดอร์ เซฟตี้" บริการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ ลดความเสี่ยงจากการทำงานหนัก 3.สร้างความปลอดภัยทางถนน รณรงค์การสวมหมวกกันน็อก สร้างวินัยจราจรในกลุ่มเด็ก เยาวชน ยกระดับความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน 4.รับมือภัยคุกคามทางดิจิทัล พัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวังข่าวลวงและหลักสูตร “สูงวัยรู้ทันสื่อ” สร้างความรอบรู้ในกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงจากภัยออนไลน์ 5.ยกระดับเชิงนโยบายและกฎหมาย ผลักดันกฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ นำเทคโนโลยีมาช่วยตรวจสอบผู้กระทำผิด ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยลดลง จากอันดับ 3 ของโลกในปี 2553 เป็นอันดับ 18 ในปี 2566 จน WHO ยกย่องไทยเป็นตัวอย่างที่ดี