รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์
หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
คนไทยตายจากโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี ปีละเกือบสองหมื่นคน มีงานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโรคนี้ที่ใช้ยากัญชารักษา มีชีวิตอยู่รอดได้นานกว่าผู้ที่ไม่ได้ยากัญชา
ความทุกข์ของคนไทย
มะเร็งตับและท่อน้ำดีเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของคนไทย
คนไทยยังคงประสบกับความทุกข์ทรมานและเสียชีวิตจากมะเร็งตับและท่อน้ำดีในอัตราที่เพิ่มขึ้น
จำนวนผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีเพิ่มขึ้นจาก 32,936 คนในปี พ.ศ.2552 เป็น 50,700 คนในปี พ.ศ.2563 หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 54 ในช่วง 10 ปี [1]
ผู้ป่วยโรคนี้มักจะตายไว
จำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับและท่อน้ำดีเพิ่มขึ้นจาก 13,677 คน ในปี พ.ศ.2551 เป็น 16,288 คน ในปี พ.ศ.2562 หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น ร้อยละ 19 ในช่วง 10 ปี [1]
อัตราการรอดชีพของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีขึ้นอยู่กับ ระยะของโรค ขนาดของก้อน การแพร่กระจาย และวิธีการรักษาที่ได้รับ [2]
กัญชาเป็นทางออกหรือไม่
ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำยากัญชามาใช้บำบัดรักษาโรคหลายโรค รวมทั้งโรคมะเร็ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการรักษาในระยะประคับประคอง เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ลดอาการเจ็บปวดทรมาน นอนไม่หลับ วิตกกังวล และลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด ซึ่งพบว่าได้ผลดี [3][4]
แต่งานวิจัยที่ศึกษาผลการใช้ยากัญชารักษาโรคมะเร็ง ในด้านการยืดอายุหรืออัตราการรอดชีพ มีจำนวนน้อย จึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่เริ่มมีงานวิจัยเพื่อตอบคำถามเรื่องนี้ แล้ว ดังเช่นงานวิจัยต่อไปนี้
งานวิจัยเรื่องการใช้กัญชาในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี
นริศรา พันธุ์ศิลา และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม [5] ศึกษาอัตราการรอดชีพของ ผู้ป่วยโรคตับและมะเร็งท่อน้ำดี จำนวน 491 คน แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ใช้ยากัญชา 87 คนและไม่ได้ใช้ยากัญชา 404 คน จากโรงพยาบาล 6 แห่ง ใน 5 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มารับบริการในช่วงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2562 ถึง วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564
ผลการวิจัยพบว่า คนที่ใช้ยากัญชา มีระยะเวลาการอยู่รอดชีวิต (median survival time) นานกว่า คนที่ไม่ได้ใช้ยากัญชา นั่นคือ ผู้ป่วยที่ใช้ยากัญชา มีระยะเวลาการอยู่รอดเฉลี่ย เท่ากับ 5.66 เดือน ในขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้ยากัญชา มีระยะเวลาการอยู่รอดเฉลี่ย เพียง 0.83 เดือน
นับว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่า ณ จุดสิ้นสุดของการวิจัย ผู้ที่ใช้ยากัญชา ยังมีชีวิตอยู่ ร้อยละ 41.2 ในขณะที่ ผู้ที่ไม่ได้ใช้ยากัญชา ยังมีชีวิตอยู่ เพียง ร้อยละ 5.4 (ดูตารางที่ 1 และภาพที่ 1)
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นศักยภาพของยากัญชาในด้านการยืดอายุอย่างชัดเจน สมควรมีการสนับสนุนให้มีศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะคุณภาพและส่วนผสมของกัญชาก็มีผลความสำเร็จในการรักษา
คุณภาพและส่วนผสมของกัญชามีผลต่อความสำเร็จ
ประสบการณ์ของคุณคอรี่ เยลแลน (Corrie Yelland) แห่งแคนาดา ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็ง ใช้กัญชารักษาตนเองและหายจากโรคมะเร็งมาแล้ว 13 ปี ให้คำแนะนำผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ เกี่ยวกับวิธีการใช้กัญชาไปแล้วมากกว่า 2,000 คน พบว่า ควรใช้กัญชามากกว่า 6 สายพันธุ์ และใช้วิธีสกัดมากกว่า 1 วิธี และถ้ามีสัดส่วนของ “ทีเอชซี (THC)” ต่อ “ซีบีดี (CBD)” เท่ากับ 4 ต่อ 1 จะยิ่งได้ผลดี [6]
ข้อคิด ปิดท้าย
การลงทุนสร้างความรู้จริงในเรื่องนี้อย่างจริงจังและมากเพียงพอ จะช่วยคนไทยที่ป่วยโรคมะเร็งให้มีความหวัง และน่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของโลกในเรื่องนี้
ภาคผนวก
ตารางที่ 1 ผลการศึกษา ระยะเวลาการอยู่รอด ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี เปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยที่ใช้กัญชา (CT) กับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้กัญชา (ST)
เอกสารอ้างอิง
[1] กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข. สถิติสาธารณสุข. อ้างใน: ณรงค์ จันทร์แก้ว. แผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ปี 2565 -2569. เขตสุขภาพที่ 8. https://r8way.moph.go.th/r8wayNewadmin/page/upload_file/20220321081244.pdf
[2] Connell LC, et al. Combined intrahepatic cholangiocarcinoma and hepatocellular carcinoma. Chin Clin Oncol. 2016 Oct;5(5):66. doi: 10.21037/cco.2016.10.02. PMID: 27829279.
[3] สมมิตร สิงห์ใจ. ผลการให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยแบบประคับประคอง โรงพยาบาลแม่ออน อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่. วารสารโรงพยาบาลนครพิงค์. ปีที่ 15 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม–ธันวาคม 2567. หน้า 321-335.
[4] วิธวินท์ ฝักเจริญผล, วรยศ ดาราสว่าง. ผลการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ต่ออาการไม่สุขสบายและคุณภาพชีวิต ในผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะประคับประคอง. วารสารการแพทย์โรงพยาบาลศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์. ปีที่ 38 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2566. หน้า 53-62.
[5] Phansila N, Pansila P, Wongkongdech A et al. Survival rate of patients with combined hepatocellular cholangiocarcinoma receiving medical cannabis treatment: A retrospective, cohort comparative study. F1000Research 2022, 11:1212.
https://doi.org/10.12688/f1000research.123250.1 and
https://f1000research.com/articles/11-1212 and
https://www.researchgate.net/publication/357193789_Survival_Rate_of_Cholangiocarcinoma_Hepatocellular_Patients_Received_Cannabis_Treatment/figures?lo=1
[6] Carrie Yelland and Ian Jessop. Cannabis Health Radio.https://www.bitchute.com/channel/ZrRRMJj5Jzs9