แพทย์ออร์โธฯ ชี้ "นวดบิดคอ" มีโอกาสกระดูกเคลื่อน กดทับเส้นประสาท ส่งผลหายใจผิดปกติ ย้ำหมอนรองกระดูกคอเสื่อมยิ่งต้องระวัง ห้ามนวดบิดคอ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
จากกรณีต้นสังกัดของนักร้องสาว "ผิง ชญาดา" หรือ น.ส.ชญาดา พร้าวหอม โพสต์แจ้งข้าวเศร้าต่อการจากไปของนักร้องคนดัง ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ผิง ชญาดา ได้โพสต์ข้อความผ่าน Facebook เล่าถึงประสบการณ์และเตือนเกี่ยวกับ "การนวดบิดคอ" แล้วป่วยหนักติดเตียง จนกระทั่งการเสียชีวิตจนเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ผศ.นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรคกระดูกคอและสันหลัง ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) กล่าวว่า แม้ตอนนี้จะยังไม่สรุปสาเหตุที่แน่ชัด แต่กรณีการนวดบิดหรือสะบัดคอโดยคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรามีโอกาสที่จะใช้แรงมากกว่าปกติ และส่งผลให้กระดูกคอมีโอกาสเคลื่อนได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า กระดูกคอที่เคลื่อนจะนำไปสู่ ภาวะกดทับเส้นประสาท ในกระดูกคอที่ 3 ถึง 5 (C3-C5) หากกระทบกระเทือนรุนแรง เช่น ในเคสผู้ป่วยอุบัติเหตุ อาจผลต่อการหายใจที่ผิดปกติ กระทบต่อการควบคุมการหายใจส่วนกระบังลม เช่น เหนื่อย หายใจได้ไม่เต็มที่ หรือหายใจด้วยตัวเองไม่ได้ และหากมีอาการแทรกซ้อนร่วมด้วย มีโอกาสรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
“บริเวณต้นคอ ถือเป็นศูนย์รวมของอวัยวะสำคัญ มีเส้นเลือดและเส้นประสาทที่มีความสำคัญ หากมีอาการเจ็บปวด หรือปวดเมื่อย การส่งต่อไปกายภาพบำบัดก็ต้องอยู่ภายใต้กำกับดูแลของแพทย์และบุคลากรการแพทย์ ซึ่งการบิดคอ หรือสะบัดคอโดยตัวเราเอง ร่างกายของเราจะรู้ลิมิต แต่เมื่อไรก็ตามการบิดคอหรือสะบัดคอจากบุคคลอื่น แรงที่กดอาจจะมีความแตกต่างกัน แต่ถ้ามีการจับกดหรือใช้แรงมากจนกระดูกเคลื่อนหรือมีภาวะอาการแทรกซ้อน อาจส่งผลต่อระบบประสาท ส่งผลไปยังการควบคุมภาวะการหายใจหรือกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ อาจกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้” ผศ.นพ.ปิลันธน์ กล่าว
ผศ.นพ.ปิลันธน์ กล่าวว่า ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยคอ แล้วใช้วิธีทางเลือก เช่น นวดบิดหรือสะบัดคอ ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะในเคสที่มีภาวะเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอ ซึ่งเกิดได้ตามวัยทั้งจากการก้มเงยคอบ่อย เมื่อมีภาวะเสื่อมมีอาการปวดเมื่อย ไม่แนะนำให้นวดหรือบิดคอ เพราะโดยปกติคอของคนเรามีข้อกระดูก 7 ข้อ โดยข้อที่ 1-2 ที่สามารถหมุนได้เยอะกว่า ส่วนข้ออื่นๆหมุนได้ในองศาน้อยกว่า จึงไม่ควรบิดหรือหมุนโดยเฉพาะจากบุคคลอื่นอย่างเด็ดขาด แล้วยิ่งในกรณีที่มีความเสื่อมของหมอนรองกระดูกคอด้วยแล้ว ยิ่งเสี่ยงได้รับผลกระทบถึงแก่ชีวิตได้
ปัจจุบันสำหรับคนที่มีอาการปวดเมื่อยคออันเนื่องมาจากความเสื่อม มีตั้งแต่การดูแลรักษาให้ยาตามอาการไปจนถึงการผ่าตัดแบบส่องกล้องรักษาอาการกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท ซึ่งโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ มีเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการผ่าตัดกระดูกคอและหลังได้ทุกรูปแบบ