“มะเร็ง” คือการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ภายในร่างกาย ซึ่งเซลล์เหล่านี้ไม่สามารถหยุดการเจริญเติบโตหรือสลายตัวได้ตามปกติ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามี “ความเป็นอมตะ” และเมื่อเจริญเติบโตถึงระดับหนึ่งเซลล์เหล่านี้จะลุกลามไปยังอวัยวะภายในหรือเนื้อเยื่อข้างเคียง จากนั้นจะเข้าสู่ระบบเลือดและระบบต่อมน้ำเหลืองจนลุกลามเข้าสู่อวัยวะภายใน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต โดยอัตราการเกิดของมะเร็งเต้านมในระยะที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มมะเร็งซึ่งถือเป็นอุบัติการณ์และสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกาศิต จิรัปปภา สาขาวิชาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มะเร็งเต้านมที่คนส่วนใหญ่เป็นมากที่สุด เรียกว่า “Invasive Ductal Carcinoma (IDC)” ซึ่งสามารถจำแนกเป็น 3 ชนิดหลัก ได้แก่ “ชนิดลุกลามน้อย” โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen receptor) และตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone receptor) ที่เป็นบวก ร่วมกับไม่มีความผิดปกติหรือการแสดงออกของยีน HER2 และมีค่าการแบ่งตัวของเนื้องอกที่เรียกว่า Ki-67 ต่ำ (น้อยกว่า 20%) ถ้ามีลักษณะดังกล่าวครบการรักษาร่วมก็จะไม่มาก ถือเป็นมะเร็งที่มีนิสัยดีหรือไม่ดุ ส่วนกลุ่มที่คนไข้ส่วนใหญ่กังวลมากคือ “ชนิดลุกลาม” ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะลุกลามไปถึงอวัยวะข้างเคียงหรืออวัยวะภายในอื่น ๆ ได้ โดยจะเกิดกับผู้ป่วยที่มีการแสดงออกของยีน HER2 ร่วมกับไม่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนและตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ดีเท่า ๆ กันคือกลุ่มที่ไม่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนและตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ร่วมกับไม่มีการแสดงออกของยีน HER2 เลย เรียกกลุ่มนี้ว่า “Triple Negative Breast Cancer” โดยกลุ่ม Triple Negative Breast Cancer และกลุ่มที่มีการแสดงออกของยีน HER2 เพียงอย่างเดียว ทั้งสองชนิดนี้จะมีการลุกลามของมะเร็งค่อนข้างเยอะหรือเป็นกลุ่มที่มีนิสัยไม่ดีหรือดุ ซึ่งโอกาสที่จะกลับมาเกิดซ้ำหรือกระจายเข้าสู่อวัยวะภายในก็จะมีมากกว่ากลุ่มที่มีนิสัยดี
โดยปกติมะเร็งเต้านมสามารถเกิดได้ในทุกช่วงวัย แต่เมื่ออ้างอิงจากอุบัติการณ์ที่พบทั่วโลกจะสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยจะเริ่มไต่ชันสูงขึ้นตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปีก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นอาจพบได้ค่อนข้างน้อยกว่า โดยเรียกมะเร็งเต้านมที่พบในคนอายุน้อยนี้ว่า “Breast Cancer in Young Patient” ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับกลุ่มที่เป็น Triple Negative Breast Cancer และมีความรุนแรงมาก บางส่วนประมาณ 10% ในคนที่เป็นมะเร็งเต้านมกลุ่มนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะมีความผิดปกติของยีน BRCA (Breast cancer gene) ประกอบด้วย BRCA1 และ BRCA2 ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์เป็นหลัก หากกลไกการทำงานของยีนชนิดนี้มีความผิดปกติข้ามขั้นตอนจะส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งเต้านมในที่สุด และนอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งรังไข่ได้ด้วย
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกาศิต จิรัปปภา สาขาวิชาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต่อว่า แม้มะเร็งเต้านมจะสามารถเกิดได้กับทุกเพศ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นในเพศหญิงก็มีมากกว่าเพศชาย ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในผู้ชายมีน้อยมาก ซึ่งอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นมีเพียง 0.1% ใน 100,000 คน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดขึ้นในเพศชายอาจต้องระมัดระวังว่าจะมีความผิดปกติของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 ซึ่งเพศชายก็มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเช่นกันแต่น้อยกว่าเพศหญิงและยังมีโอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมได้ แสดงให้เห็นว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกายที่ส่งผลให้กลไกการทำงานของยีนมีความผิดปกติ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่ยีนอย่าง BRCA ทำงานผิดปกติก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้ชาย โดยอุบัติการณ์นี้จะรวมอยู่ใน 10% ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านมโดยมีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของยีนในทั้งเพศชายและเพศหญิง ส่วนอีก 90% ของการเกิดมะเร็งเต้านมคือไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเมื่อไม่ทราบสาเหตุจึงมักคิดว่าเกิดได้เฉพาะกับเพศหญิงเท่านั้นเนื่องจากไปเกี่ยวข้องกับภาวะที่ร่างกายเกิดการอิ่มตัวกับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นเวลานาน เช่น มีประจำเดือนเร็วตั้งแต่อายุน้อย ประจำเดือนไม่หยุดเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน หรือผู้หญิงที่ไม่แต่งงานและไม่มีบุตร ซึ่งทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้มากกว่า ทั้งนี้ หากพบว่าผู้ชายในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ผู้หญิงในครอบครัวควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านมเนื่องจากสัมพันธ์กับเรื่องของยีนซึ่งส่งต่อกันผ่านทางสายเลือดคนในครอบครัวเดียวกัน
วิธีตรวจมะเร็งเต้านมเบื้องต้นด้วยตนเอง สามารถทำได้โดยการยืนหน้ากระจก ยกแขนขึ้น เอาแขนลงแนบลำตัวแล้วสังเกตขนาดเต้านมทั้งสองข้างว่าเท่ากันหรือไม่ มีข้างใดที่เคยเท่ากันแล้วขณะยกแขนขึ้นมีอาการดึงรั้งของผิวหนังไหม เวลายกแขนขึ้นให้คลำบริเวณรอบเต้านมให้ครบทุกส่วนสลับกัน รวมถึงเวลานอนให้คลำดูว่ามีก้อนนูนผิดปกติหรือมีเลือดออกมาจากหัวนมหรือไม่ หรือคลำไปแล้วผิวหนังมีลักษณะปื้น ๆ หนา ๆ หรือสุดท้ายคลำไปถึงรักแร้แล้วสะดุดเป็นก้อนหรือมีต่อมน้ำเหลืองโตด้วยหรือไม่ ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการคัดกรองโรค โดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำอัลตร้าซาวด์ทันที แต่หากไม่พบอาการที่กล่าวมาข้างต้น ช่วงอายุที่แนะนำให้มาทำการตรวจหามะเร็งเต้ามนมคือ 40 ปี โดยแพทย์จะทำการตรวจคัดกรองโรคตามปกติและมีการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยเทคโนโลยี Digital Mammography ร่วมด้วย เนื่องจากมะเร็งระยะแรกเริ่มหรือระยะ 0 มักมาด้วยก้อนเล็ก ๆ มีขนาดเพียง 2 - 3 มม. ซึ่งการการคลำขาก้อนเนื้อร้ายเพียงอย่างเดียวจะไม่เจอแต่สามารถหาเจอได้ด้วยการทำอัลตร้าซาวด์ ส่วนบริเวณที่เป็นจุดหินปูนเล็ก ๆ หรือที่เรียกว่า Microcalcifications จะสามารถตรวจพบได้ด้วยเครื่อง Digital Mammography
การนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยหวังผลเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย หน่วยศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ มีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านม อาทิ “การผ่าตัดอนุรักษ์เต้านม” (Breast Conserving Surgery) เป็นการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมร่วมกับการฉายแสง ซึ่งผลการรักษาจะเทียบเท่าการผ่าตัดเต้านมทิ้งทั้งเต้าแต่ผู้ป่วยจะยังคงมีอวัยวะนั้นอยู่เหมือนเดิม ซึ่งโดยส่วนใหญ่มะเร็งจะมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร หรือมีเพียง 2 - 3 ก้อนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน และเมื่อตรวจด้วยเครื่อง Digital Mammography ร่วมกับทำอัลตร้าซาวด์แล้วต้องไม่พบการลุกลามไปถึงอวัยวะอื่นเพิ่มเติม “การผ่าตัดแบบเสริมสร้างเต้านม” (Oncoplastic Breast Surgery) เป็นการผ่าตัดรอยโรคที่อยู่ในหัวนมและใต้ฐานนม ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากกว่าแต่ยังคงสามารถทำการผ่าตัดเพื่อเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ โดยการรักษาของโรงพยาบาลรามาธิบดีในปัจจุบันยังมีการผ่าตัดแบบเสริมสร้างเต้านมให้ใหม่แก่คนไข้ทันทีในคราวเดียวกัน เรียกว่า “Immediate breast reconstruction” ในกลุ่มผู้ป่วยที่จำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้ง เช่น อาจมีก้อนเนื้อร้ายหลายก้อนทำให้ไม่สามารถผ่าตัดแบบเก็บเต้านมได้ หรือมีจุดหินปูนที่เป็นมะเร็งกระจายอยู่เป็นก้อนหลายที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความผิดปกติของ BRCA โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้นอกจากจะตัดเต้านมข้างหนึ่งแล้วจะต้องตัดอีกข้างหนึ่งด้วยเพราะว่ามีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้งสองข้าง และ “การผ่าตัดเต้านมโดยสงวนหัวนมและลานนม” จะทำได้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีข้อห้าม เช่น ก้อนเนื้องอกจะต้องอยู่ไกลหัวนม ไม่มีเลือดออกทางหัวนม ไม่มีจุดหินปูนผิดปกติใกล้ฐานนม ร่วมกับทำการตรวจเซลล์ที่อยู่ใต้ฐานนมด้วยว่าต้องไม่มีเซลล์มะเร็งก่อตัวอยู่จึงจะสามารถเก็บหัวนมไว้ได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ โรงพยาบาลรามาธิบดียังมีนวัตกรรมที่เรียกว่า “การฉีดปลูกถ่ายเซลล์ไขมัน” (Lipofilling) ขั้นตอนนี้เริ่มต้นด้วยการใส่ซิลิโคนเข้าไปบริเวณใต้กล้ามเนื้อ หลังจากนั้นแพทย์จะใช้เซลล์ไขมันของผู้ป่วยเอง เช่น ไขมันจากหน้าท้องส่วนล่างหรือไขมันต้นขา นำมาฉีดเติมครั้งละ 200-300 ซีซี เพื่อเพิ่มความหนาของชั้นไขมันรอบซิลิโคน ผลลัพธ์คือเต้านมที่ดูสมจริงและใกล้เคียงกับธรรมชาติยิ่งขึ้น และในกรณีที่ไม่สามารถใช้ซิลิโคนได้ จำเป็นต้องมีการตัดผิวหนังออกไป หรือคนไข้ไม่ต้องการใช้ซิลิโคน ก็จะมีการนำเนื้อเยื่อของคนไข้เองมาใช้ เช่น เนื้อเยื่อของไขมันหน้าท้องส่วนล่าง เรียกว่า TRAM Flap Surgery หรือ กล้ามเนื้อหลัง เรียกว่า Latissimus Flap Surgery มาใช้ในการทำเต้านมใหม่ให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกาศิต จิรัปปภา สาขาวิชาศัลยศาสตร์เต้านมและต่อมไร้ท่อ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวทิ้งท้ายว่า “มะเร็งเต้านมเป็นภัยเงียบ” หรือ “มฤตยูเงียบ” เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการ เช่น มีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนม คลำเจอก้อนหรือพบว่าต่อมน้ำเหลืองโต ร่วมกับผิวหนังเปลี่ยนสี หรือมีการดึงรั้งของผิวหนังแล้ว อาการแบบนี้มักเกิดขึ้นในระยะที่ 2 เพราะฉะนั้นการค้นพบมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่มหรือระยะ 0 ซึ่งมักจะมาด้วยจุดหินปูนเล็ก ๆ โอกาสเดียวที่จะค้นพบระยะนี้คือต้องมาตรวจคัดกรองโรคที่โรงพยาบาล หรือหากค้นพบว่ามีอาการด้วยตนเองก็ให้มาตรวจหามะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลได้ทันที เพราะมะเร็งเต้านมไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตามถ้ามาด้วยก้อนเล็ก ๆ การผ่าตัดนั้นเราสามารถทำการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้ได้เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องสูญเสียอวัยวะ