xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาเล่นแล้ว! “Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ ตอน เล่นตอนจิ๋ว โตไปแจ๋ว” ปี 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเล่นอิสระ หรือ Free Play ไม่ใช่เพียงการปล่อยให้เด็กเล่นสนุกไปวัน ๆ แต่มากกว่านั้นมันคือการเปิดโอกาสให้เขาได้เติบโต เรียนรู้ และค้นพบโลกในแบบของตัวเอง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเติบโต

แม้ว่าการเล่นอิสระจะเริ่มจากตัวเด็กเอง แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญนั่นคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเล่นอย่างเต็มที่ การเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น ไม่จำเป็นต้องใช้ของเล่นราคาแพง เพียงแค่ต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ให้เวลาเพียงพอ และส่งเสริมการเล่นของเขาด้วยความเข้าใจ

เช่นเดียวกับที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พยายามทำมาโดยตลอด ในครั้งนี้ สสส. ส่งท้ายปีด้วยกิจกรรมดี ๆ เพื่อเด็ก ๆ สำหรับงาน “Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ ตอน เล่นตอนจิ๋ว โตไปแจ๋ว” ปีที่ 2 ที่จัดร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กับการเปิดพื้นที่อุทยาน 100 ปี ให้เด็กเข้าถึงการเล่นที่เป็นอิสระ ทั้ง สนุกเล่น กับกิจกรรมหลากหลาย สนุกเรียนรู้ กับเรื่องราวและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลใจเด็ก Workshop สุดสร้างสรรค์ พัฒนาทักษะใหม่ ๆ และ สนุกชม กับการแสดงจากวงดนตรีและนิทานยามเย็น

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)
สนุกกับการเล่นอิสระ สร้างทักษะชีวิต
เดินหน้าสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City)

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวในการเปิดงานไว้ว่า กทม. มีวิสัยทัศน์ในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน มุ่งเน้นการดูแลคุณภาพชีวิตประชากรทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องการศึกษาและการสร้างพัฒนาการที่ดีทุกมิติ การส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ได้จำกัดแค่เพียงห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ในทุกแห่ง ทั้งศูนย์เยาวชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ สวนสาธารณะ และภายในชุมชน งาน “Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ” ที่ กทม. ร่วมกับ สสส. และภาคีจัดขึ้นครั้งนี้ เป็นรูปแบบหนึ่งของการส่งเสริมการเข้าถึงพื้นที่เรียนรู้ ส่งเสริมเด็กทุกคนได้เล่นอย่างเล่นอิสระ เกิดเป็นความสุขของเด็กที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ ส่งผลให้เกิดพัฒนาการรอบด้านตามวัย สร้างทักษะทางด้านสมอง และเสริมทักษะการใช้ชีวิต

“Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ ตอน เล่นตอนจิ๋ว โตไปแจ๋ว เป็นงานที่ผมชอบมากที่สุดในทุกงานที่เคยมีของ กทม. เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับเด็ก ๆ มาเล่นแล้วก็ได้มาใช้ชีวิตในเมืองมากขึ้น บางงานอาจต้องมีค่าใช้จ่าย แต่งานนี้ฟรีทุกอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่มีนโยบายปรับสนามเด็กเล่น เพื่อให้ทุกคนได้ออกมาใช้ชีวิตแบบนี้มากขึ้น หัวใจของงานในวันนี้คือ เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนเทคนิคการเล่นว่า เล่นอย่างไรทำให้เราเก่งขึ้น พ่อแม่เองก็ได้เรียนรู้เหมือนกันว่า กระดาษลังใช้แล้วสามารถเอามาทำแบบนี้ได้ ลังผลไม้ก็สามารถเอามาเล่นได้ หลายอย่างสามารถเอามาเล่นได้ ในทุกกิจกรรมจะเห็นได้เลยว่า ลูกไม่ได้เล่นคนเดียว แต่จะมีพี่ ๆ Play Worker เข้ามาช่วยด้วย คิดว่า วันนี้นอกจากจะได้มาเล่นด้วยกันแล้ว เรายังได้มาเรียนรู้เทคนิคของการเป็น Play Worker ร่วมกัน ซึ่งดีใจมากที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ และยินดีที่จะสนับสนุนให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่เล่นอิสระแบบนี้มากขึ้นในอนาคต”

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า ในอนาคตตามนโนบายของท่านผู้ว่าฯ กำลังมองหาโอกาสในการพัฒนาพื้นที่พระราม 8 เพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งที่ 3 ให้เด็ก ๆ มีพื้นที่เล่นอิสระและการเรียนรู้ที่หลากหลายยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีแค่ทุ่งครุและจตุจักร

ของขวัญจาก สสส.
ส่งต่อถึงเด็กเมืองกรุงฯ

ลานกว้างของอุทยาน 100 ปี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเล็กลงไปถนัดตาเมื่อพื้นที่เหล่านั้นเต็มไปด้วยกิจกรรมหลากหลายและครอบครัวนับพันที่ออกมาใช้เวลาร่วมกัน ภาพความสุขของครอบครัวกลายเป็นฉากหลัง เสียงหัวเราะแทรกเป็นระยะระหว่างการพูดคุยกับ พี่ผึ้ง หรือ น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ซึ่งเมื่อพูดถึงประเด็นเด็กและเยาวชน ก็คงขาดชื่อนี้ไปไม่ได้

พี่ผึ้ง เล่าย้อนถึงแนวคิดของการจัดงานนี้สั้น ๆ ว่า Let’s play festival หรือ เทศกาลเล่นอิสระ จัดขึ้นต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว หลังจากได้ขยายกิจกรรมไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีภาคีเครือข่ายมากกว่า 50 พื้นที่และ Play Worker มากกว่า 1,000 คนที่ร่วมกันขับเคลื่อน หัวใจสำคัญของการรวมตัวคือ “อยากให้เด็ก ๆ มีความสุขผ่านการเล่น” ไม่เพียงแค่ให้เด็ก ๆ ได้สนุกสนาน แต่ยังต้องการให้ผู้ปกครองได้มีความสุขร่วมกันด้วย เรามีเป้าหมายอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกท่านได้ใช้การเล่นอิสระเป็นเครื่องมือพัฒนาเด็ก ๆ ทั้งในบ้าน โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก(ศพด.) ชุมชน และทุก ๆ ที่ในชีวิตประจำวัน และเห็นถึงความสำคัญว่า ทุกสิ่งรอบตัวสามารถเป็นของเล่นได้

พี่ผึ้ง หรือ น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
พี่ผึ้งเล่าอย่างปลื้มใจว่า “ปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้วที่ สสส. และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กลับมาจัดงานนี้ เพื่อให้ทุกคนสนุกแล้วก็ได้แรงบันดาลใจกลับไปว่า เรื่องเล่นเป็นเรื่องที่ง่าย ๆ ทำได้ทุกที่ทุกเวลา ชื่นชมผู้ปกครองทุกท่านที่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จริง ๆ ต้องบอกว่า เกินคาดมากเพราะว่าเราจัดงาน 3 วัน วันแรก ๆ ผู้ปกครองพาลูกหลานมาสัก 2,000 กว่าคน เห็นอากง อาม่า คุณปู่ คุณย่า ไปรับหลานจากโรงเรียนแล้วแวะมาเล่น ได้ออกกำลังกายไปพร้อมกับหลาน ๆ ด้วย แต่วันเสาร์น่าจะมากกว่า 3 เท่า เราได้เห็นทุกคนสนุกมาก และยังเป็นปีที่เราได้เห็นว่า ผู้ปกครองเล่นไปกับลูกด้วย ไม่ได้แค่พาลูกมาเล่นอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือ เราเห็นว่า การเล่นมันช่วยสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวได้จริง”

จากข้อมูลสถิติ พบว่า เวลาเล่นของเด็กไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่น่ากังวล สสส. และภาคีเครือข่ายจึงมุ่งมั่นส่งเสริมแนวคิดที่ว่า การเล่นคือส่วนสำคัญของชีวิตเด็ก

ในขณะข้อมูลระบุว่า วัยเด็กแรกเกิด-7 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการสร้างทักษะติดตัวเป็น “ทุนชีวิต” เพื่อให้เด็กใช้ต่อยอดในการเรียนรู้และเติบโต โดยเฉพาะทักษะด้านกระบวนการคิด การรับรู้ การยับยั้งชั่งใจ และความจำ ทักษะทั้งหมดนี้จะพัฒนาได้ดีเมื่อเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสบการณ์เรียนรู้อย่างเต็มที่ ในไทยยังมีการส่งเสริมพื้นที่เล่นและเรียนรู้จำนวนน้อย ส่งผลให้เด็กต้องใช้เวลาว่างนอกห้องเรียนเพื่อไปห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด และบ้านเพื่อน

สอดคล้องกับผลสำรวจข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการแหล่งเรียนรู้ กลุ่มเยาวชนอายุ 15-25 ปี รวม 19,694 คน จากทั่วประเทศ ปี 2565 โดย สสส. และคิด for คิดส์ พบเด็กและเยาวชน 60% ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้ประเภทศูนย์ฝึกอาชีพ 42.7% ไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ 29% ไม่เคยไปสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์ 22.8% ไม่เคยไปสนามกีฬา สาเหตุที่เข้าไม่ถึงแหล่งเรียนรู้เนื่องจากระยะทางไกล การเดินทางเป็นอุปสรรค และเด็กส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวรายได้น้อย


“ถ้าเดินในงานจะเห็นเลยว่า สิ่งที่เด็กได้ทันทีคือความสุข เวลาที่เด็กมีความสุข สารแห่งความสุขมันจะสร้างสุขภาพจิตที่ดี สลายความตึงเครียด ถ้าเด็กต้องเรียนหนังสือมาทั้งวัน หรือต้องไปทำกิจกรรมที่ผู้ใหญ่อยากให้ทำมาทั้งวัน เราปล่อยให้เขาเล่นสัก 1-2 ชั่วโมงจะเป็นการคูลดาวน์ที่ดีมาก ให้เขาได้ปลดปล่อยความตึงเครียดที่สะสมมาทั้งวัน สิ่งนี้สำคัญมาก ๆ เพราะว่าเด็กยุคใหม่ เราจะพบว่า พอเข้าวัยรุ่นมีปัญหาด้านสุขภาพจิตกันเยอะ แต่ถ้าเราให้เขาได้เล่นเยอะ ๆ ตั้งแต่เขาเด็ก ๆ เล่นไปเลยทุกวัน มันมีงานวิจัยที่ต่างประเทศออสเตรเลีย เขาศึกษา 2 กลุ่มเปรียบเทียบเลยว่า เด็กที่พ่อแม่ให้เล่นต่อวันอย่างเต็มที่ กับเด็กที่ไม่ค่อยได้เล่น พอโตขึ้น 8-9 ขวบ ทักษะในการควบคุมตัวเอง บริหารจัดการอารมณ์จะแตกต่างกันมาก” ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าว

หรือนี่คือสัญญาณเตือนว่า
เด็กไทยกำลังเครียดเกินไปหรือเปล่า?

ด้าน น.ส.ประสพสุข โบราณมูล ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกและมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน เสริมข้อมูลว่า จากการติดตามสถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชนที่ผ่านมา พบว่า โอกาสในการเล่นอิสระของเด็กลดลง สาเหตุจากการติดหน้าจอมือถือ จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พบเด็กปฐมวัย 64% ใช้งานโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โดยมีระยะเวลาการใช้จอที่มากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลต่อการเล่นของเด็กที่ลดลงถึง 50%

นอกจากนี้ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ความสนใจเฉพาะเรื่องวิชาการ ครูไม่เข้าใจเรื่องเล่นอิสระ และไม่มีทักษะการเป็นผู้อำนวยการเล่น (Play worker ) เมื่อเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนเวลาเล่นยิ่งลดลง เพราะส่วนหนึ่งต้องเรียนพิเศษเพิ่มเติมนอกจากเวลาเรียนปกติใช้เวลาเฉลี่ย 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่มีช่วงเวลาผ่อนคลาย ส่งผลให้เด็กเผชิญภาวะเครียด เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า สอดคล้องกับผลสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปี รวม 503,884 ราย โดยกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 2565 - 14 ต.ค. 2567 พบเด็กเสี่ยงทำร้ายตนเอง 17.4% เสี่ยงป่วยซึมเศร้า 10.28%

“งาน Let’s play festival มีหมุดหมายสำคัญ คือการส่งเสริมให้ครอบครัวใช้การเล่นอิสระเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสุขและพัฒนาเด็ก เน้นอะไรก็เล่นได้ ที่ไหนก็เล่นได้ และจุดประกายให้คนหันมาพูดคุยเรื่องเด็ก ต่อยอดทำงานประเด็นอื่นๆ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนผ่านกลไกความร่วมมือของชุมชน”

ปีนี้ ‘Let’s play festival เทศกาลเล่นอิสระ ตอน เล่นตอนจิ๋ว โตไปแจ๋ว’ ตั้งใจจัดเป็น 3 โซนไฮไลท์ คือ 1.โซนลานเล่นอิสระ ชวนเด็กมาเล่นกับสิ่งรอบตัว loose parts เล่นกับธรรมชาติ ของเล่นวันวาน และของเล่นพื้นถิ่นวิถีวัฒนธรรม โดยมี Play Worker พร้อมให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด 2.โซน Work shop การเป็น Play worker Mini work shop พาลูกเล่น 3.โซนเวทีเสวนาสื่อสารคุณค่าของการเล่น เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องเล่นอิสระในสังคมไทย

และความพิเศษของปีนี้ สสส. เปิดตัวแคมเปญ "เล่นอิสระอย่างสร้างสรรค์" ผ่านการโปรโมทบนสื่อต่าง ๆ รวมถึงป้ายโฆษณาและช่องทางออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นในวัยเด็ก และเห็นคุณค่าของการให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ


เพราะพ่อแม่คือ ‘ของเล่นที่ดีที่สุด’ ของลูก

เมื่อถามถึงบทบาทของพ่อแม่ว่าจะเป็น Play Worker ที่ช่วยส่งเสริมการเล่นอิสระให้กับลูก ๆ ได้อย่างไร พี่ผึ้ง แนะนำว่า เริ่มต้นได้จากการ “เล่นกับลูก คำเดียวสั้น ๆ เลย” ไม่ส่งมือถือให้ ไม่ส่งแท็บเล็ตให้ แล้วก็ไม่ใช่แค่บอกให้เขาเล่น ๆ ไป แล้วตัวเองก็ไปทำอย่างอื่นต่อ แต่จริงๆ สิ่งที่เด็กต้องการมากที่สุดคือการใช้เวลาร่วมกัน และของเล่นที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ เล่นกับลูกในวัยที่เขายังต้องการ ซึ่งเป็นการสร้างฐานของความผูกพันธ์ให้มั่นคง

“เราพบว่า พ่อแม่หลายคนที่กลับมาปีนี้อีก เขาจะเล่าให้ฟังว่า เขากลับไปทำมุมเล่นที่บ้าน เอาของที่เมื่อก่อนเคยไปทิ้งหรือไปรีไซเคิลขาย เอามาเป็นของที่ให้ลูกเล่น อันนี้เป็นฟีดแบคที่เราอยากได้ยินมากที่สุด และปีนี้กิจกรรมการเล่นอิสระได้รับการตอบรับมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มานาน ปีที่ผ่านมาเริ่มยกระดับแทนที่จะทำเอง ก็เป็นการสอนคนอื่นด้วย ตอนนี้นอกจากครอบครัวก็มีหลายหมู่บ้าน หลายตำบลที่ไปเรียนรู้กับพื้นที่ต้นแบบของเรา และกลับมาทำลานเล่นหมู่บ้านของตัวเอง”

และพี่ผึ้งยังบอกอีกว่า เป้าหมายหลักสำหรับ สสส. ก็ยังคงเหมือนเดิม คือเราอยากให้ผู้ใหญ่ทั้งหลายมาแล้วได้รับแรงบันดาลใจว่า วิธีพัฒนาเด็กในโลกยุคใหม่ต้องเป็นแบบไหน เราไม่อยากมาบ่นว่า เด็กติดมือถือ เด็กติดหน้าจอทีหลัง และเป้าหมายสำคัญอย่างการส่งเสริมให้เด็กในทุกหมู่บ้านและชุมชนมีพื้นที่เล่นใกล้บ้านที่เข้าถึงได้ภายใน 15 นาที เพราะว่ามันจะยิ่งเพิ่มโอกาส ถ้ามีพื้นที่เล่นใกล้บ้าน กลับจากโรงเรียน กลับจากศูนย์เด็กเล็กเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วค่อยวิ่งออกไปเล่นกับเพื่อน ๆ จากการพูดคุยเราพบเลยว่า ในพื้นที่ที่ทำแบบนี้ เด็กกินเก่งขึ้น เพราะเหนื่อยจากเล่นก็ต้องกิน นอนหลับดีขึ้นแล้วก็ไม่ร้องหามือถือ อยากให้เอากลับไปทำกันให้มาก ๆ

จาก Supporter ในบ้าน
สู่ Play Worker นอกบ้าน

และบูธหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่อง นั่นก็คือบูธของ ศูนย์ Life Di ศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการและความสัมพันธ์ระหว่างวัย จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความน่าสนใจของที่นี่อยู่ที่ว่า การมีนักจิตวิทยาเด็กเข้าร่วมพร้อมให้คำแนะนำตลอดทั้งงาน โดย พิงค์ชญาภาณ์ ยศสุวรรณกุล นิสิตปริญญาโท ปี 1 ด้านจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาฯ อธิบายให้ฟังแบบง่าย ๆ ว่า ศูนย์ Life D จัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้เข้ามาร่วมกับ สสส. และเครือข่ายเปลี่ยนโลกเป็นปีแรก กิจกรรมหลักในวันนี้ คือ นักจิตวิทยาชวนเล่น ซึ่งเป็นกิจกรรมเล่านิทานตามแนวทางพัฒนาทักษะสมอง (EF) โดยมีเนื้อหาและเรื่องราวที่ปรับให้เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม DIY ที่ช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองปรึกษาเรื่องพัฒนาการเด็กกับนักจิตวิทยาจากศูนย์ Life D

พิงค์ชญาภาณ์ ยศสุวรรณกุล นิสิตปริญญาโท ปี 1 ด้านจิตวิทยาพัฒนาการ จุฬาฯ
“ภายในงานจะมีกลุ่มผู้ปกครองจากหลากหลายแบล็คกราว แต่ว่าโดยทั่วๆ ไป ศูนย์ของเราจะให้คำปรึกษาครอบคลุมตั้งแต่คุณแม่ที่เตรียมตัวมีน้อง ไปจนถึงสูงวัยเลย เพราะฉะนั้นคนที่มาเข้าร่วมงานแล้วมาปรึกษาก็จะมีทุกช่วงวัย อย่างบางคนสงสัยว่า เด็กมีอาการเหมือนสมาธิสั้น หรือว่าปัญหาการติดจอ ก็จะมีมาปรึกษาว่า น้องไม่นิ่งเลย เราก็จะมีให้คำแนะนำเบื้องต้นว่าแต่ละช่วงวัยควรทำอย่างไร ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของเราด้วยที่อยากส่งนักจิตวิทยาเพื่อออกมาสื่อสารกับกลุ่มคน ครอบครัวและอีกหลายช่วงวัยแบบนี้ เพื่อให้ความรู้ด้านจิตวิทยาพื้นฐานเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวที่มากขึ้น”

แล้วในฐานะนักจิตวิทยาเด็ก Free Play ช่วยได้จริงไหม พิงค์ชญาภาณ์ ตอบว่า “ช่วง 5 ปีให้หลัง Free Play มีการพูดถึงอย่างแพร่หลายทั้งในนักจิตวิทยา คุณหมอ อินฟลูเอนเซอร์ ที่พูดถึงข้อดีของการเล่นอิสระ ต้องบอกว่า Free Play เป็นเหมือนการเปิดพื้นที่จินตนาการให้กับเด็ก ๆ ให้เขาได้ค้นพบความสามารถ แล้วก็ศักยภาพได้อย่างหลากหลายด้านมากขึ้น โดยที่ไม่ถูกจำกัด อาทิ การถูกกำจัดเรื่องของเล่นเฉพาะเพศหรือมีบทบาททางเพศบางอย่างที่เป็นขนบแบบดั้งเดิม เช่น เด็กผู้หญิงต้องเล่นเฉพาะตุ๊กตาบาร์บี้นะ เด็กผู้ชายจะต้องเล่นตุ๊กตาทหารเท่านั้น แต่ว่าในปัจจุบันพอเปิดเป็น Free Play มากขึ้น มันทำให้การเล่นของเด็ก ๆ กว้างขึ้น มีจินตนาการแล้วก็พัฒนาทักษะได้รอบด้านมากขึ้น”

“อย่างลูกชายตนก็จะปล่อยให้เขา Free Play เหมือนกัน เขาชอบโดดน้ำคลอง ชอบพื้นที่ในสวน ต้นไม้ใบหญ้าทุกต้นเล่นได้ ดอกไม้เล่นได้ เราเป็นเหมือนกับ Supporter ให้เขามากกว่า ถ้าเขาอยากทำเรือ เราก็จะปล่อยให้เขาคิดและจัดการตั้งแต่ต้นจนจบว่า เขาจะทำเรือจากอะไรได้บ้าง และเขาต้องการให้เราสนับสนุนอะไร เช่น อุปกรณ์หรือตอนที่เขาเด็กอยู่ยังตัดไม้ไม่ได้ เราก็จะช่วยสนับสนุนการเล่นของเขาแบบนั้นมากกว่า”


จากการพูดคุยไปสักระยะจึงได้ทราบว่า นอกจากเป็นพี่เลี้ยงประจำบูธนี้แล้ว พิงค์ชญาภาณ์ ยังเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกของ สสส. ที่ จ.นครราชสีมา ที่ตั้งใจนำความรู้ที่เรียนกลับไปพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กที่สวนสมยศวิภา ฟาร์มสกูลโคราช ซึ่งภายในฟาร์มจะมีทั้งการปรึกษาพัฒนาการ การเรียนรู้ผ่านการเล่นในพื้นที่เกษตรกรรมท้องถิ่น เรียนรู้วัฒนธรรมเดินป่าเมืองโบรานแล้วก็ตามรอยไดโนเสาร์ ซึ่งเตรียมเปิดตัวในเดือนธันวาคมนี้อีกด้วย

“ต้องขอบคุณ สสส. และเครือข่ายต่าง ๆ ที่ติดต่อเข้ามาและแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เครือข่ายมันใหญ่ขึ้นในทุก ๆ ปี ก็เป็นโอกาสที่ดีมากเลยที่เราได้ออกมาเจอกับเด็ก ๆ แล้วก็เด็ก ๆ ก็ได้รู้จักเรา สุดท้ายก็อยากจะเชิญชวนให้มางานนี้กันเยอะ ๆ เพราะว่าเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกของเรามีหลากหลายจังหวัด มีพื้นที่เล่นให้กับเด็ก ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราไม่ได้แค่เปิดพื้นที่เล่นแต่ว่าเราแลกเปลี่ยนร่วมกัน”

ลดจอ เพิ่มเวลาเที่ยว
เพราะการเรียนรู้นอกห้องเรียนไม่มีวันหมด

นอกจากนั้น ภายในงานเราได้มีโอกาสคุยกับคุณพ่อที่พาลูก ๆ มาร่วมกิจกรรม นายสิทธิพร อารักษ์วรกุล เล่าถึงวันว่างของครอบครัวไว้ว่า ปกติครอบครัวก็จะปล่อยให้เขาเล่นอิสระอยู่แล้ว แต่จะคอยดูห่างๆ ไม่ให้เกิดอันตราย ยอมรับว่า เด็ก ๆ ก็มีเล่นมือถือบ้าง แต่ครอบครัวพยายามลดเวลาใช้หน้าจอด้วยการพาเขาไปเที่ยวทุกสัปดาห์ เพื่อลดเวลาการใช้มือถือ มีไปเที่ยวคาเฟ่ ห้าง ธรรมชาติบ้าง เที่ยวกิจกรรมที่จัดแบบนี้บ้าง และพยายามเลือกกิจกรรมที่หลากหลายไม่ให้ซ้ำ ซึ่งเรามางานนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว แต่ปีนี้สถานที่กว้างขึ้น กิจกรรมให้เด็กทำค่อนข้างหลากหลาย และเด็ก ๆ ก็น่าจะชอบด้วย ซึ่งดีกว่าอยู่บ้าน ให้เด็กได้ออกมาเปิดหูเปิดตาข้างนอก ได้มาเจอเพื่อนใหม่ และกิจกรรมใหม่ ๆ พอได้เห็นลูกมีความสุขก็ทำให้พ่อแม่รู้สึกมีความสุขไปด้วย

สุดท้ายอยากขอบคุณผู้จัดงานแล้วก็อยากฝากให้ปีต่อไปเพิ่มความถี่ในการจัดกิจกรรม เช่น จาก 1 ปีจัดครั้งเป็น 3 เดือนครั้ง หรือครึ่งปีจัดครั้ง จะได้มีกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ให้เด็กได้ทำบ่อย ๆ

สำหรับใครที่ชอบกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ สามารถติดตามข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่เพจ "Let’s Play More เล่นเปลี่ยนโลก"หรือ www.letsplaymore.org ซึ่งจะคอยอัปเดตข่าวสารเกี่ยวกับลานเล่นและกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ








กำลังโหลดความคิดเห็น