xs
xsm
sm
md
lg

ราชมงคลพระนคร สร้างโอกาสผู้บกพร่อง เรียน-ทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) กล่าวว่า การศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความรู้ ทักษะ และนำไปสู่การประกอบอาชีพในอนาคต ซึ่งการสร้างโอกาสทางการศึกษาเพื่อให้นักศึกษาทุกกลุ่มเข้าถึงระบบการศึกษานั้นจึงเป็นเป้าหมายหนึ่งของราชมงคลพระนคร ที่ต้องการผลักดันให้ทุกคนได้พัฒนาองค์ความรู้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บกพร่อง ซึ่งมหาวิทยาลัยมองว่าการศึกษาสามารถสร้างมูลค่าให้ผู้บกพร่องสมัครงานได้และมีโอกาสพัฒนาในตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการและหน่วยงานของภาครัฐ พบว่า จำนวนสถานประกอบการที่ต้องจ้างงาน ปี 2564 จำนวน 64,720 คน ปี 2565 จำนวน 63,727 คน ปี 2566 จำนวน 67,857 คน และปี 2567 จำนวน 69,311 คน จะเห็นได้ว่าในแต่ละปีมีแนวโน้มในการจ้างงานผู้บกพร่องสูงขึ้นทุกปี (ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2567) และเมื่อพิจารณาข้อมูลนักศึกษาผู้บกพร่องที่จบการศึกษาจากราชมงคลพระนครในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นักศึกษาผู้บกพร่องมีงานทำหลังจบการศึกษา และได้ทำงานกับสถานประกอบการที่มีชื่อเสียง

ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในทุกปีราชมงคลพระนคร เปิดรับสมัครนักศึกษาพิการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี โดยในปีการศึกษา 2568 นี้ มหาวิทยาลัยได้เปิดรับสมัครผู้บกพร่องที่ต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา จำนวน 46 คน ได้แก่ บกพร่องทางการได้ยิน บกพร่องทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว ผู้บกพร่องทางสายตา (ตาบอดสี) ที่สามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้ โดยผู้สมัครต้องสำเร็จหรือกำลังศึกษาอยู่ในคุณวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดยสามารถสมัครผ่านประเภทโควตา รอบที่ 2 ตั้งแต่บัดนี้ – 13 มกราคม 2568 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถสมัครผ่านระบบทีแคส รอบที่ 2 (Tcas2) ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ – 21 เมษายน 2568 สำหรับผู้สมัครต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม 2.00 ขึ้นไป หรือตามที่คณะกำหนด และเป็นผู้บกพร่องที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีความประพฤติเรียบร้อย สามารถสมัครผ่านระบบออนไลน์ www.rmutp.ac.th ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน โทรศัพท์ 0 2665 3777 ต่อ 6636 , 6302-9




ด้าน นางสาวพรไพลิน ไตรเป็นมะดัน หรือไหม ศิษย์เก่าสาขาอุตสาหกรรมการบริการอาหาร คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ราชมงคลพระนคร ซึ่งเป็นหนึ่งในนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ในการเรียนที่ราชมงคลพระนครได้เติมเต็มความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการทำอาหารโดยตรง ซึ่งเป็นการเรียนรวมกับเพื่อน ๆ จึงทำให้บางครั้งฟังไม่ทันจากที่อาจารย์สอน จะมีเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนคอยช่วยเหลือหรืออธิบายเนื้อหาในส่วนที่ไม่เข้าใจให้ฟัง ผสมผสานกับการฝึกปฏิบัติบ่อยครั้งจึงทำให้เกิดความชำนาญในการทำอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อได้ออกไปปฏิบัติสหกิจศึกษาจึงได้รับคำชื่นชมจากหัวหน้างาน และได้รับโอกาสในการเข้าทำงานตำแหน่ง บาริสต้า บริษัท CJ MORE ทันทีหลังเรียนจบ จึงทำให้รู้สึกภูมิใจที่ได้นำความรู้จากการเรียนมาประกอบอาชีพ และดูแลครอบครัวได้

อย่างไรก็ตาม สาขาวิชาที่เปิดรับประกอบด้วย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและการจัดการสินค้า สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ สาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการอาหาร สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาวิทยาการข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม สาขาวิชาวัสดุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิชาสถิติสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการบริการ สาขาวิชาการโรงแรมและธุรกิจบริการ สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล สาขาวิชาภาษาไทยประยุกต์เพื่ออาชีพและนวัตกรรมการสื่อสาร คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น สาขาวิชาเทคโนโลยีเสื้อผ้าและการจัดการธุรกิจแฟชั่น สาขาวิชานวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งทอ สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สาขาวิชาการออกแบบบรรจุภัณฑ์และเทคโนโลยีการพิมพ์ สาขาวิชาสถาปัตยกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น