สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สร้างแรงบันดาลใจทางวิทยาศาสตร์แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียนจิตรลดา ผ่านกิจกรรม “ค่ายนักวิทยาศาสตร์น้อย...ท่องแดนซินโครตรอน” จัดเตรียมฐานการทดลองสนุกๆ ได้แก่ เรียนรู้การเดินทางของคลื่นเสียงจากฐานกระดิ่งในโหลแก้ว เรียนรู้ไฟฟ้าสถิตย์จากฐานเครื่องเปลี่ยนทรงผมสุดแนว ทดลองสร้างภูเขาไฟระเบิดจากสารเคมีใกล้ตัว เรียนรู้การเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็ก ทำยาสีฟันช้างสร้างปริมาณฟองมหาศาลจากสารเคมีปริมาณน้อย วาดภาพเซลล์พืช ถอดรหัสลับจากสารละลายอินดิเคเตอร์ แข่งปลูกผลึกน้ำแข็งร้อนให้สูงกว่าใคร เรียนรู้สเปกตรัมของแสง และทดลองแยกสเปกตรัมของแสง
นครราชสีมา – ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ประธานคณะทำงานจัดกิจกรรมศึกษาเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนสำหรับโรงเรียนจิตรลดา และรองผู้อำนวยการพัฒนาเครื่องกำเนิดแสงสยาม 2 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เป็นประธานเปิดกิจกรรม “ค่ายนักวิทยาศาสตร์น้อย...ท่องแดนซินโครตรอน” ให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจิตรลดา จำนวน 106 คน เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน พร้อมทั้งบรรยายพิเศษเรื่อง “แสงซินโครตรอน…ลำแสงสุดล้ำ” เพื่อเปิดมุมมองเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่นักเรียนในค่าย
สถาบันฯ ได้จัดฐานการทดลองสำหรับนักเรียนในค่ายทั้งหมด 10 ฐานการทดลองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน ได้แก่ “ฐานกระดิ่งในโหลแก้ว” เพื่อเรียนรู้การเดินทางของคลื่นเสียงจากการฟังความดังของเสียงกระดิ่งในโหลแก้วที่ค่อยๆ ถูกปั๊มอากาศออก, “ฐานเครื่องเปลี่ยนทรงผมสุดแนว” เพื่อเรียนรู้เรื่องไฟฟ้าสถิตจากทรงผมที่เปลี่ยนไปเมื่อสัมผัสเครื่องฟานเดอกราฟฟ์, “ฐานภูเขาไฟระเบิด” สร้างภูเขาไฟจำลองจากปฏิกิริยาเคมีของสารเคมีในครัวอย่างผงฟู น้ำยาล้างจาน สีผสมอาหาร และน้ำส้มสายชู, “ฐานท่อถ่วงเวลา” เรียนรู้กฎการเหนี่ยวนำของไมเคิล ฟาราเดย์ จากการทดลองปล่อยแม่เหล็กลงท่อทองแดง แล้วจับเวลาการตกของแม่เหล็ก, “ฐานยาสีฟันช้าง” สร้างปริมาณฟองมหาศาลจากการเร่งปฏิกิริยาเคมีในน้ำยาล้างจานด้วยสารเคมีปริมาณเล็กน้อย
“ฐานสิ่งมีชีวิตจิ๋วรอบตัวเรา” ขยายมุมมองโลกสิ่งมีชีวิตจิ๋วด้วยกล้องจุลทรรศน์ความละเอียดสูง, “ฐานถอดรหัสลับ” เพื่อเรียนรู้สารที่เป็นกรด-เบส และสารละลายอินดิเคเตอร์ที่ใช้บอกความเป็นกรด-เบส, “ฐาน Elsa Trick” เพื่อเรียนรู้การตกผลึกแบบคายความร้อนจากสารละลายอิ่มตัวยิ่งยวด ด้วยการแข่งขันสร้างผลึกน้ำแข็งให้สูงกว่าคู่แข่ง, “ฐานสเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า” เพื่อเรียนรู้สเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากจากชุดสาธิตแสงที่แยกแสงสีขาวเป็นสีต่างๆ เมื่อเดินทางผ่านปริซึม และส่องดูความร้อนที่ปล่อยจากสิ่งต่างๆ รอบตัวผ่านกล้องอินฟราเรด รวมถึงแยกธนบัตรจริงหรือปลอมด้วยไฟฉายแสงอัลตราไวโอเลต, และฐานสุดท้าย “รุ้งกระป๋อง” ทดลองแยกสเปกตรัมแสงด้วยกระป๋องขนม สังเกตแสงรุ้งในกระป๋องเมื่อสองแสงขาวหรือแสงสีอื่นๆ จากหลอดไฟ LED สีแสง สีเขียว และสีน้ำเงิน
นอกจากกิจกรรมฐานการทดลองต่างๆ แล้ว นักเรียนในค่ายยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งมีทีมนักวิทยาศาสตร์และนักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาคนำชม แล้วปิดท้ายด้วยการแสดงโชว์วิทยาศาสตร์แสนสนุก (SLRI Science Show) โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ แสดงความมหัศจรรย์ของไนโตรเจนเหลวเมื่อสัมผัสวัตถุต่างๆ และการแสดงฟองสบู่ยักษ์ตระการตา สอดแทรกความรู้ทางวิทยาศาสตร์เรื่อง “แรงตึงผิว”