xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์ห่วงคนไทยหลบแดด ขาดวิตามิน D ดึงแคลเซียมสร้างกระดูกไม่พอ เตือน "กระดูกพรุน" ภัยเงียบสังคมสูงวัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์ PRINCE OF BONES เตือน "กระดูกพรุน" ภัยเงียบกลุ่มสูงวัยสุดเสี่ยง หกล้มสะโพกหัก ทำเดินไม่ได้ ถึงขั้นเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนถึง 40% ห่วงคนไทยหลบแดด ส่อขาดวิตามินดี ดึงแคลเซียมไปสร้างกระดูกไม่พอ ต้นตอทำกระดูกบาง ย้ำหลัง 35 ปี กระดูกเริ่มสลายมากกว่าสร้าง แนะรับแคลเซียม-วิตามินดีให้เพียงพอ ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อ-ความยืดหยุ่น การทรงตัว

นพ.รณศักดิ์ มงคลรังสฤษฏ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES)  กล่าวว่า ปัจจุบันโรคเกี่ยวกับกระดูกที่เป็นภัยเงียบและคนยังให้ความสนใจน้อยคือ "โรคกระดูกพรุน" เนื่องจากไม่มีอาการบ่งบอก ยิ่งปัจจุบันเป็นสังคมผู้สูงอายุทำให้เจอภาวะกระดูกพรุนได้มากขึ้น โดยมักจะพบในกลุ่มผู้หญิงสูงวัย เนื่องจากหลังหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนหมดไปทำให้มวลกระดูกลดลงค่อนข้างเร็ว ซึ่งตามปกติแล้วกระดูกของคนเราจะมีการสร้างและสลายตลอดเวลา เพราะหากไม่มีการสร้างและสลายเลยก็จะเหมือนกับบ้านที่เก่าทำให้กระดูกเปราะบาง โดยจะสลายส่วนที่เก่าออกและสร้างใหม่เพื่อให้กระดูกมีความใหม่ แต่เมื่ออายุเยอะขึ้นการสลายจะมากกว่าการสร้าง ทำให้มวลกระดูกบางลงเรื่อยๆ 

นพ.รณศักดิ์ มงคลรังสฤษฏ์
"ทุกช่วงอายุไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือสูงวัย กระดูกมีการสร้างและสลายตลอด แต่ในเด็กจะสร้างมากกว่าสลาย โดยทั่วไปเราจะมีมวลกระดูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงพีคที่มวลกระดูกเยอะสุดที่อายุประมาณ 35 ปี หลังจากนี้การสลายจะเริ่มมากกว่าการสร้าง หากเรารับสารอาหารคือแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการสร้าง มวลกระดูกก็จะลดลงเร็วมากกว่าปกติ ทำให้เจอกระดูกพรุนได้ในคนที่อายุน้อยได้" นพ.รณศักดิ์กล่าว

นพ.รณศักดิ์ กล่าวอีกว่า อันตรายของภาวะกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ คือ เมื่อเกิดการล้มจะทำให้กระดูกที่พรุนแตกหักได้ง่าย และเกิดปัญหาแทรกซ้อนหลังจากกระดูกหักสูง โดยเฉพาะการหักบริเวณสะโพกหรือกระดูกสันหลัง โดยผู้สูงอายุที่ล้มแล้วกระดูกสะโพกหัก ไม่ว่าผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดก็มีโอกาสเสี่ยงกลับมาเดินได้ไม่เหมือนเดิม และมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างมาก คือ ภายใน 1-2 ปีมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงถึง 40% จากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่ตามมา ดังนั้น แนะนำให้ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและผู้ชายอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ควรมาตรวจคัดกรองมวลกระดูก ผ่านเครื่องตรวจมวลกระดูก ซึ่งจะมี 3 ระดับคือ มวลกระดูกปกติ กระดูกบาง และกระดูกพรุน ซึ่งหากตรวจพบเจอเร็วแล้วรักษาถูกวิธี กระดูกก็จะแข็งแรงขึ้น โอกาสล้มแล้วกระดูกหักก็จะลดลง


นพ.รณศักดิ์ กล่าวว่า การป้องกันและชะลอภาวะกระดูกพรุน คือ การรับแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ หากไม่แน่ใจสามารถรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมได้ ซึ่งเฉลี่ยแล้วควรรับวันละประมาณ 1 พันมิลลิกรัม แต่สิ่งสำคัญคือการดูดซึมแคลเซียมจำเป็นต้องใช้วิตามินดี ซึ่งร่างกายสังเคราะห์ได้จากการรับแสงแดด โดยปัจจุบันคนไทยอาจมีภาวะขาดวิตามินดีจากการหลบหรือหลีกเลี่ยงการออกแดด เนื่องจากประเทศไทยอากาศร้อน ขณะที่ภาวะขาดวิตามินดีสังเกตอาการได้ยาก แต่อาจมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นอักเสบง่าย หรือภูมิคุ้มกันต่ำ ดังนั้น แม้จะได้รับแคลเซียมเยอะแต่วิตามินดีต่ำ ก็จะดูดซึมมาสร้างมวลกระดูกได้ไม่ดี จึงอาจต้องเข้ารับการตรวจวิตามินดีในเลือดด้วย โดยการรับแสงแดดควรเป็นช่วงเช้า 08.00-10.00 น. หรือช่วงเย็น 15.00-18.00 น. ประมาณวันละ 1 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายกระตุ้นการสร้างกระดูก เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การทำบอดีเวทโดยใช้น้ำหนักของร่างกายตนเอง หรือใช้ดัมเบลขนาดหรือขวดน้ำเบาๆ ในการบริหาร รวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่นและทรงตัวจากการทำโยคะหรือไทเก๊กจะป้องกันการล้มได้ดีขึ้น และจัดการสภาวะแวดล้อมที่อยู่อาศัยที่เสี่ยงต่อการล้ม เช่น เพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ แยกโซนเปียกโซนแห้งในห้องน้ำ มีราวจับ แผ่นกันลื่น จัดเก็บของให้เรียบร้อยอย่างสายไฟเพื่อป้องกันการสะดุด

นพ.รณศักดิ์ มงคลรังสฤษฏ์
ส่วนการรักษาภาวะกระดูกพรุนต้องให้กลุ่มยาลดการสลายของกระดูกด้วย ซึ่งจะไปขัดขวางกลไกของเซลล์สลายกระดูก เพื่อให้การสร้างมากกว่าการสลายให้มีมวลกระดูกเพิ่มขึ้น สำหรับกรณีผู้ที่เคยกระดูกหักมาก่อนจากการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุน เนื่องจากเป็นคนละภาวะ ซึ่งกระดูกหักช่วงอายุน้อยเกิดจากแรงกระทำ ไม่เกี่ยวกับมวลกระดูก อีกทั้งกระดูกสมานเองได้ แต่ปัจจัยเสี่ยงกว่าคือหากกระดูกหักบริเวณข้อ จะทำให้ผิวข้อได้รับบาดเจ็บและไม่เรียบหรือมีการสึก ทำให้เกิดภาวะข้อเสื่อมได้เร็วกว่าคนทั่วไป

สำหรับผู้มีปัญหาภาวะกระดูกพรุนหรือโรคด้านกระดูกและข้อ ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) ร่วมมือกับ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ และแบ่งเบาภาระของภาครัฐ ในราคาที่เหมาะสมโดยไม่ต้องรอคิวนาน โดยออกแบบการรักษาและฟื้นฟูแบบองค์รวมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ผู้ป่วยมีผลลัพธ์การรักษาที่ดีและได้มาตรฐาน

สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคกระดูกและข้อ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใกล้บ้าน หรือติดต่อ ศูนย์รักษาโรคกระดูกและข้อแบบองค์รวม โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (PRINCE OF BONES) เปิดทุกวัน ระหว่างเวลา 8:00 - 20:00 น. รายละเอียดเพิ่มเติม: www.princsuvarnabhumi.com/princeofbones หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-0805999


กำลังโหลดความคิดเห็น