ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามของนานาประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ จนเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ผ่านการขับเคลื่อนอย่างแข็งขันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม การลดลงของบุหรี่มวลไม่ได้หมายความว่า ปัญหาจะหมดไป การเกิดขึ้นของ “บุหรี่ไฟฟ้า” กลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของคนทำงาน ในขณะที่อุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้าก็พยายามทุกวิถีทางในการแสวงหากำไรและกลุ่มลูกค้ารายใหม่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
จนกระทั่ง ปี 2024 เป็นปีแรกที่รัฐบาลไทยมีมาตรการให้ “บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม” ในประเทศ ไม่ว่าจะการนำเข้า จำหน่าย ผลิต และครอบครอง ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และยังคงมาตรการมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนที่มั่นคงของประเทศในสายตาชาวโลก ในขณะเดียวกัน ช่วงไม่กี่ปีที่มาหลายประเทศได้ทยอยทบทวนและปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า จากการ ‘แบน’ สู่การ ‘ควบคุม’ อนุญาตให้ใช้งานหรือจำหน่ายได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ปริมาณนิโคติน การห้ามโฆษณา ไปจนถึงการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อ-ผู้ขาย
ซึ่งนั่นก็เป็นอีกประเด็นที่ประเทศไทยเองต้องจับตามอง โดยขณะนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยมีการสรุปออกมา 3 แนวทาง คือ 1.แบนบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนปัจจุบัน 2.อนุญาตนำเข้าเฉพาะ HTP (ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบร้อน) และสุดท้ายคือการยกเลิกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่า จะมีการนำเข้าอภิปรายในที่ประชุมเร็ว ๆ นี้
ประเด็นนี้จึงกระตุ้นให้เกิดคำถามว่า ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับการปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าจริงหรือ?
เราขอชวนมาหาคำตอบกันในเวทีเสวนาประเด็นผลกระทบจากเปิดเสรีบุหรี่ไฟฟ้าในต่างประเทศ พร้อมด้วยบทเรียนสำหรับประเทศที่ยกเลิกการห้ามขายและประเทศที่ให้ขายได้แต่ควบคุมมาตรฐานบุหรี่ไฟฟ้า และการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทยาสูบ ที่จัดโดยศูนย์ความรู้เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทบุหรี่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งองค์การอนามัยโลก จากสำนักเลขานุการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ และผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริการ่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล
โดยประเทศแรกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงก็คือ แคนาดา
แคนาดา มีการอนุญาตให้การซื้อขายและบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2021 โดยมีการเพิ่มการควบคุมในภายหลังเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเยาวชน
ศ.สเตลล่า บีอลอส (Professor Stellar Bialous) ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา อธิบายว่า แคนาดาได้ยกเลิกการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยเปลี่ยนไปใช้ระบบการกำกับดูแลภายใต้กฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุทรีไฟฟ้า (Tobacco and Vapine Products Act) การยกเลิกการห้ามดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนและคนหนุ่มสาวอย่างเห็นได้ชัด และในบางรัฐมีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
เช่น ในช่วงปี 2017-2018 ที่เมืองอัลเบอร์ตา (Alberfa) พบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 16-19 ปี เพิ่มขึ้นถึง 74% โดยอัตราการใช้เพิ่มจาก 8.496 เป็น 14.696 ในช่วงเวลานั้นอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี (ประมาณ 1996-20%) โดยพบว่า ในกลุ่มผู้หญิงมีอัตราการใช้สูงกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ ในช่วงปี 2021-2022 มีเยาวชน 11% ที่ใช้บุหรี่ทั่วไปควบคู่ไปด้วย
“รัฐบาลแคนาดาได้ดำเนินมาตรการหลากหลายรูปแบบ เพื่อลดอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน อาทิ ออกมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติมในปี 2021 เพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน โดยจำกัดปริมาณนิโคตินไม่ให้เกิน 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตั้งแต่ปี 2017-2020 แคนาดาจัดทำแคมเปญสื่อสารให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าแก่เยาวชนอายุ 13-18 ปี โดยใช้งบประมาณกว่า 12 ล้านดอลลาร์ (415 ล้านบาท) รวมทั้งการรณรงค์เรื่องความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ในจำนวนนี้ลงทุนกับกลุ่มเยาวชนโดยเฉพาะถึง 9.5 ล้านดอลลาร์ (320 ล้านบาท)” ศ.สเตลล่า ให้ข้อมูล
และศ.สเตลล่า ขยายความต่ออีกว่า ความพยายามในการควบคุมและการรณรงค์ยกใหญ่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าค่อย ๆ ลดลงแต่ก็ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง และในบางกลุ่มตัวเลขยังสูงกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ธรรมดา จากการสำรวจปี 2022 พบชาวแคนาดาที่มีอายุยิ่งน้อยยิ่งมีแนวโน้มที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าภายใน 30 วันก่อนการสำรวจ โดยเยาวชนอายุ 15–19 ปี มีอัตราการสูบ 14% และกลุ่มอายุ 20–24 มีอัตราการสูบ 20% ขณะที่กลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการสูบเพียง 4% ซึ่งเป็นอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เคยสูงที่สุดในโลก”
ต่อมาที่กรณีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศที่นับได้ว่า เป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และเป็นแหล่งกำเนิดของแบรนด์บุหรี่ไฟฟ้าชั้นนำมากมาย แม้จะไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในลักษณะเดียวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบทั่วไป แต่บุหรี่ไฟฟ้ายังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานอาหารและยา หรือ FDA
ศ.สเตลล่า ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดกฎระเบียบว่า บุหรี่ไฟฟ้าที่จะสามารถจำหน่ายได้ในตลาดต้องได้รับการอนุมัติจาก FDA ก่อนเท่านั้น เมื่อมีการเปิดให้ตรวจสอบมาตรฐานสำหรับการขออนุญาตจำหน่าย พบว่า มีบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 6 ล้านรุ่นที่ยื่นขอใบอนุญาต แต่จนถึงปัจจุบันมีเพียงแค่ 34 รุ่นจาก 3 ยี่ห้อที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายตามกฎหมาย นอกจากสหรัฐฯ ยังมีกฎหมายห้ามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าที่มีกลิ่นหอม แต่ผลสำรวจกลับพบว่า 87% ของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอม ซึ่งจริง ๆ ผิดกฎหมายในสหรัฐฯ
เธอย้ำอีกว่า “ที่ผ่านการเห็นชอบแล้วก็จะมีการเฝ้าระวังและตรวจสอบเป็นระยะ ๆ ซึ่งการที่ให้ขายได้ ไม่ได้หมายความว่า ปลอดภัย แต่มันผ่านเกณฑ์ที่เขากำหนดไว้เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีห้ามไม่ให้ระบุหรืออ้างว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปลอดภัยหรือสามารถช่วยในการเลิกบุหรี่”
ในขณะเดียวกัน FDA ทุ่มงบประมาณกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว ๆ 8,657 ล้านบาทในช่วง 2 ปีแรกของการรณรงค์ภายใต้แคมเปญ “The Real Cost” โดยใช้งบประมาณมากกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,000 ล้านบาท) กับการขับเคลื่อนในโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน สื่อการเรียนการสอน บทเรียน รวมทั้งโซเชียลมีเดียที่เด็กและเยาวชนเข้าถึง
จากผลสำรวจล่าสุดของสหรัฐฯ พบอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนลดลง โดยแนวโน้มการใช้งานลดลงเหลือเพียง 5.9% ในปี 2024 จากเดิมที่พุ่งสูงกว่า 27.5% ในปี 2019 ซึ่ง ศ.สเตลล่า ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ตัวเลขที่ลดลงอย่างมีนัยยสำคัญนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงได้ยาก
จากบทเรียนของแคนาดาและสหรัฐอเมริกานับเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี และก็อดตั้งคำถามต่อไปไม่ได้ว่า ประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นหรือไม่ ศ.สเตลล่า ให้คำตอบว่า ประเทศไทยยังไม่พร้อมสำหรับการปลดล็อก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรคนจำนวนมาก พร้อมฝากให้รัฐบาลไทยเข้มแข็ง อย่าหลงกลบริษัทยาสูบ ให้คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนมากกว่ากำไร มากกว่าภาษีที่มาจากการขายยาสูบและบุหรี่ไฟ้า เพราะบริษัทบุหรี่เขามองถึงกำไร ไม่ได้มองถึงสุขภาพของประชาชนเรา
ด้าน แอนดรู แบลค (Andrew Black) ผู้นำทีมสำนักเลขานุการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก เข้ามาเสริมในประเด็นการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบต่อการกำหนดนโยบายยาสูบ กล่าวว่า ยาสูบเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งที่ทำให้คนป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรกว่า 8.2 ล้านคนต่อปี พร้อมทั้งส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลายประเทศ การประเมินผลกระทบของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) และงานวิจัยอื่น ๆ ที่เผยแพร่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยังคงย้ำว่า การแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดต่อการบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา ว่าด้วยการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และการได้รับควันบุหรี่บุหรี่มือสอง เพื่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ จำเป็นต้องยุติการแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบ ไม่เช่นนั้น การที่จะได้รับประโยชน์ด้านสุขภาพและเศรฐกิจที่อนุสัญญาเสนอไว้จะยิ่งยากขึ้นกว่าเดิม
“บริษัทยาสูบใช้กลยุทธ์หลากหลายรูปแบบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน แม้ว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ผมอยากย้ำว่า อุตสาหกรรมยาสูบมีเป้าหมายเดียวคือการสร้างผลกำไรสูงสุด โดยมูลค่ากำไรที่เกิดขึ้นมาจากความเจ็บป่วยและการสูญเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างกำไรมหาศาล ย้ำว่า มหาศาล ซึ่งกำไรเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่กลับสร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับระบบสาธารณสุข ทั้งในการรักษาโรคและการฟื้นฟูสุขภาพ”
และเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เราขออธิบายเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับ WHO FCTC โดยข้อมูลจากมูลนิธิรณรงณ์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุว่า WHO Framework Convention on Tobacco Control : WHO FCTC หรือที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า กรอบอนุสัญญาว่าด้วย การควบคุมยาสูบ ค.ศ. 2003 (พ.ศ.2546) จัดเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสุขภาพฉบับแรกขององค์การอนามัยโลก (WorldHealth Organization – WHO) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชากรโลกให้ปลอดภัยจากภัยร้ายของการบริโภคยาสูบและการสูดดมควันยาสูบ กล่าวได้ว่า กรอบอนุสัญญาฯ นี้เป็นกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการสกัดกั้นมิให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาและหยุดยั้งการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 183 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย
แอนดรู เสริมว่า อนุสัญญา WHO FCTC ในมาตรา 5.3 ระบุชัดเจนให้ประเทศสมาชิก 183 ประเทศ ควรปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยปราศจากการรับผลประโยชน์เชิงพาณิชย์และผลประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติและข้อเสนอแนะที่มีประสิทธิภาพ คือ 1. ให้สังคมทุกภาคส่วนรับรู้ถึงอันตรายของการเสียชีวิตจากยาสูบและที่สำคัญรู้ถึงกลยุทธ์การแทรกแซงนโยบายของบริษัทบุหรี่ ซึ่งเป็นที่มาของการจัด Workshop ร่วมกับ 17 ประเทศในครั้งนี้ 2. เจ้าหน้าที่รัฐต้องตัดการติดต่อกับบริษัทบุหรี่ให้เหลือเท่าที่จำเป็นและเป็นไปอย่างโปร่งใส 3.บริษัทบุหรี่ไม่มีส่วนในการตัดสินนโยบายควบคุมยาสูบหรือนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ผมอยากฝากถึงรัฐบาลไทยว่า สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า อยากให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กและเยาวชนเป็นหลัก เพราะถ้าเยาวชนติดแล้ว เขาไม่สามารถหลุดจากวงจรนี้ได้เลย” แอนดรู ทิ้งท้าย
ท่ามกลางการถกเถียงถึงบทสรุปของเรื่องนี้ ในเวลาเดียวกันอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้าก็ยังเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้สูงและประเทศที่มีเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เล่าว่า ประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าข้ามชาติ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีกำลังการซื้อและเป็นผู้นำในอาเซียน หากสามารถเข้าสู่ตลาดประเทศไทยได้ บริษัทก็หวังว่า จะสามารถขยายการจำหน่ายไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนต่อไป
และเมื่อถามถึงความพร้อมของประเทศไทยในการปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้า คำตอบของ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต ไม่ต่างอะไรจากสเตล่าและแอนดรู โดยกล่าวว่า “ปัญหาของเราต้องพูดกันตามตรงว่า คือการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะด้วยการห้ามนำเข้า ห้ามขาย มันขาดประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นภาพว่า ถ้าเราเปิดขาย เราจะเจอปัญหาที่ยากกว่านี้ในการขัดขวาง ทางเลือกที่ดีที่สุดคือต้องห้ามขายต่อไปและเร่งรัดปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย ร่วมไปกับการป้องกันและรณรงค์ จริง ๆ องค์กรนานาชาติมีข้อแนะนำตั้งแต่ 4 ปีก่อนว่า ประเทศที่รายได้ปานกลางหรือรายได้น้อย ทางที่ดีที่สุดคือห้ามปลดล็อกเด็ดขาด เพราะว่า ถ้าคุณปล่อยเข้ามามันจะทำให้การควบคุมยาสูบอ่อนแอลงไปด้วย และเชื่อได้ว่า สินค้าผิดกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ต่อไปเหมือนเดิม ต้องยอมรับว่า ประเทศไทย 2-3 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้พูดถึงยาสูบมวลเลย เพราะเราไม่มีคน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิ เครือข่ายตอนนี้ก็ทำแต่เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ยิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ขาดบุคลากรทำงาน ซึ่งมีเพียงจังหวัดละคนเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม หากบทสรุปสุดท้ายมาถึงจุดที่ต้องปรับเปลี่ยนและหาทางออกเพื่ออยู่ร่วมกันกับบุหรี่ไฟฟ้า ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต ในฐานะคนที่ลงแรงกับเรื่องนี้มากว่า 30 ปีทิ้งท้ายว่า “ถ้าปลดล็อก มันจะเป็นเหมือนกับการระบาด ประเทศไทยรับมือไม่ไหวหรอก ผมบอกเลย”
ท้ายนี้ การปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นคำตอบสุดท้ายหรือไม่ ก็คงต้องติดตามกันต่อไป หรือหากลองจินตนาการเล่น ๆ ว่าเมื่อวันนั้นมาถึงจะเป็นการ ‘ก้าว’ ไปสู่ความก้าวหน้าหรือเป็นการถอยหลังลงคลอง หากการปลดล็อกเกิดขึ้นโดยที่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มแข็งพอ อาจนำไปสู่ ‘วัวหายล้อมคอก’ ที่ยากจะแก้ไข อย่างไรก็ดี ท่ามกลางการถกเถียงที่ยังคงดำเนินต่อไป หวังว่า สิ่งหนึ่งที่ทุกภาคส่วนคำนึงถึงก็คือ ผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญของประเทศ