xs
xsm
sm
md
lg

JELI ร่วมกับ กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดงานแถลงข่าวและเสวนารณรงค์ “ แรงงานแพลตฟอร์ม & แรงงานข้ามชาติ : หนทางสู่การจัดตั้งและการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ โรงแรม เดอะ ควอเตอร์ ลาดพร้าว บาย ยูเอชจี กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 09.00 น. เปิดเวทีเสวนาแรงงาน ทุกภาคส่วนร่วมหาทางออก ผลักดันประกันสังคม มาตรา 33 เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ ก้าวสำคัญสู่สวัสดิการที่มั่นคงและเท่าเทียม โดย สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ร่วมกับ คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยตัวแทนแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานไทย อาทิ กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม องค์กรระหว่างประเทศ และนักวิชาการ เปิดเวทีสะท้อนปัญหาและวางแนวทางการคุ้มครองแรงงานที่ตกหล่นร่วมกัน ผ่านงานแถลงข่าวและโครงการรณรงค์ “ แรงงานแพลตฟอร์ม & แรงงานข้ามชาติ : หนทางสู่การจัดตั้งและการเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33 ”

นายสหัสวัต คุ้มคง โฆษกคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถึง.. วัตถุประสงค์ของงานนี้ว่า ต้องการสื่อสารให้สังคมเห็นถึงปัญหาการเข้าถึงสิทธิและการรวมตัวเจรจาต่อรอง ซึ่งประเทศไทยมีสมาชิกสหภาพแรงงานในสัดส่วนที่น้อยมากเป็นระดับท้าย ๆ ของโลก ราว 1.3% และข้อตกลงร่วมมีส่วนที่ครอบคลุมแรงงานน้อยมาก เพียง 0.08% เท่านั้น ส่งผลให้แรงงานในประเทศไทยมีอัตราการต่อรองที่ต่ำมาก ซึ่งนำไปสู่การได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ และสวัสดิภาพการทำงานที่ไม่ยุติธรรม

“ กฎหมายแรงงานไทยยังไม่ทันต่อสถานการณ์และรูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไปและสลับซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่งพบว่าไรเดอร์จำนวนกว่า 1 ล้านคน ยังไม่มีสถานภาพทางกฎหมาย ทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน นอกจากนี้ยังถูกบังคับลดค่ารอบ จนต้องทำงานอย่างเร่งรีบ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุในชั่วโมงการทำงานและบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่กลับไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนประกันสังคมหรือกองทุนเงินทดแทนได้เลย ”

ทางด้าน นายสุรสิทธิ์ ศรีแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้ร่วมแสดงปาฐกถาเปิดงานในครั้งนี้ โดยได้แสดงความเห็นถึงความสำคัญของความคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการว่า วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเผยแพร่และขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบ โดยเฉพาะในเรื่องของการคุ้มครองแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากในประเทศไทย คิดเป็นกว่า 52.3% ของแรงงานทั้งหมด แรงงานกลุ่มนี้ยังขาดสวัสดิการพื้นฐาน เช่น บำนาญและประกันสังคม ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตและรายได้ที่ไม่เป็นธรรม

“ กระทรวงแรงงานได้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวกว่า 1.5-1.7 ล้านคน ซึ่งสามารถขึ้นทะเบียนเข้าระบบประกันสังคมได้ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติใด ๆ และมุ่งหมายจะบริหารจัดการแรงงานทุกคนซึ่งมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่มีอยู่ ”

เปิดตัว Toolbox และแอปพลิเคชัน CONNECT เปลี่ยนคู่มือให้กลายเป็นเครื่องมือสร้างความแข็งแกร่งแห่งการรวมกลุ่ม

ไฮไลท์สำคัญของงานในวันนี้ คือ การเปิดตัวกล่องเครื่องมือ (Toolbox) เพื่อเสรีภาพการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง “ คู่มือการจัดตั้งแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติและแอปพลิเคชันคอนเน็ก (CONNECT App) เพื่อแรงงาน ” โดยมีนายวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยสถาบันแรงงานฯ และนายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ที่ปรึกษาสถาบันแรงงานฯ ได้ให้รายละเอียดของข้อมูลการใช้งานและความสำคัญของกล่องคู่มือนี้ต่อแรงงาน

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา กล่าวว่า.. Toolbox นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและส่งเสริมสิทธิของแรงงานในกลุ่มที่เข้าถึงการเจรจาต่อรองได้ยาก โดยเฉพาะแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกลุ่มแรงงานเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิแรงงานได้ เนื่องจากมีเพียง 1.3% ของแรงงานทั้งหมดที่สามารถใช้สิทธิในการเจรจาต่อรองได้ การพัฒนาเครื่องมือนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้แรงงานกลุ่มนี้มีสิทธิและเสียงมากขึ้น

ทางด้าน นายวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัย สถาบันแรงงานฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า.. แรงงานที่สามารถเข้าถึงการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองมีสัดส่วนที่ต่ำมาก จาก 12 ล้านคนที่อยู่ภายใต้มาตรา 33 มีเพียง 1.3% ที่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ หากรวมแรงงานที่อยู่ภายใต้ มาตรา 40 จำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคน แต่ถ้ารวมแรงงานในเศรษฐกิจนอกระบบ สัดส่วนการรวมกลุ่มจะลดลงเหลือเพียง 0.3% ตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ การรวมกลุ่มจะต้องนำไปสู่การเจรจากับนายจ้าง เพื่อให้เกิดผลผูกพันและข้อตกลงการจ้างงาน ซึ่งในประเทศไทยมีสัดส่วนการรวมกลุ่มเพียง 0.08% หากคำนวณตามสัดส่วนประชากร 40 ล้านคน สัดส่วนการรวมกลุ่มก็จะลดลงเหลือเพียง 0.003%

MOU แห่งความหวัง ผลึกพลังภาคีที่หลากหลาย สร้างความท้าทาย ทลายความไม่เป็นธรรม

กิจกรรมสำคัญอีกหนึ่งช่วง นั่นคือพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU “ การส่งเสริมเสรีภาพการรวมกลุ่มและเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองของแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ ” ระหว่าง สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ 7 องค์กรคนงานระดับรากหญ้า ได้แก่ กลุ่มไรเดอร์จังหวัดสระบุรี กลุ่มไรเดอร์เซ็นเตอร์ (Rider Center) กลุ่มไรเดอร์ก้าวไกล จังหวัดชลบุรี สมาคมไรเดอร์ภาคใต้ (Southern Riders Association) กลุ่มสหกรณ์คนทำงานด้านการดูแล กลุ่มกิจการเพื่อสังคมคนทำงานนวดบำบัด และ กลุ่มมอญแสงเทียน คู่ภาคีทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือในการส่งเสริมการรวมกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานและพลวัติความท้าทายด้านกฎหมายและนโยบายแรงงานที่มีข้อจำกัดเรื่องชาตินิยม ความมั่นคงแห่งรัฐ และอคติทางประวัติศาสตร์ สู่นโยบายและกฎหมายที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการแรงงานที่ดี คำนึงถึงสิทธิแรงงานเป็นสำคัญกว่าการควบคุม

ทุกเสียงมีความหมาย ทุกความหมาย คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง

นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน นำเสนอ.. ความก้าวหน้าและการสนับสนุนเสรีภาพในการสมาคม หรือเสรีภาพในการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรหรือสหภาพของแรงงานทุกกลุ่มรวมถึงแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นเจรจาต่อรองขอรับสิทธิประโยชน์ในการทำงาน และสร้างความเป็นธรรมในสภาพการทำงาน รวมถึงการรักษาศักดิ์ศรีในอาชีพ โดยรัฐบาลไทยนำโดยกระทรวงแรงงานตระหนักดีว่าเสรีภาพในการสมาคมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของแรงงานทุกคนและเคารพสิทธิของแรงงานทุกกลุ่ม รัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะให้สัตยาบันอนุสัญญาของ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 มาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคีซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานได้เห็นชอบในหลักการให้ขับเคลื่อนการให้สัตยาบัน และปัจจุบันอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้มีกฎหมายภายในประเทศมีบทบัญญัติที่สอดคล้องกับอนุสัญญา ก่อนที่จะเสนอรัฐสภาพิจารณาการให้สัตยาบัน ตามกระบวนการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญต่อไป

นายชินโชติ แสงสังข์ รองประธานคณะกรรมการ คนที่สาม วุฒิสภา ได้พูดถึง.. ความคืบหน้าในประเด็นการคุ้มครองแรงงานในรูปแบบแพลตฟอร์ม ซึ่งมักเผชิญกับความเสี่ยงจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และย้ำถึงความจำเป็นที่ระบบประกันสังคมจะต้องเปิดรับลูกจ้างแพลตฟอร์มให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียมกับแรงงานทั่วไป โดยเฉพาะมาตรา 33 ที่ปัจจุบันกลุ่มลูกจ้างแพลตฟอร์มยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะที่แรงงานข้ามชาติมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงควรให้ความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของกลุ่มแรงงานเหล่านี้ในระบบที่เหมาะสม

นายเซีย จำปาทอง รองประธานคณะกรรมการ คนที่สาม สภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถึง.. ความสำคัญของการรวมกลุ่มของแรงงานและสิทธิในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง โดยร่วมผลักดันข้อเสนอและร่างกฎหมายเพื่อให้การรวมกลุ่มเป็นไปได้อย่างเสรีและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทุกกลุ่มแรงงานมีเกียรติ ศักดิ์ศรี และคุณภาพชีวิตที่ดีในอาชีพของตน

นางสาวสุภาภรณ์ พันธ์ประสิทธิ์ จากกลุ่มไรเดอร์เซ็นเตอร์ (Riders Center) ประธานและผู้ก่อตั้งสหพันธ์แรงงานแพลตฟอร์ม กล่าวถึง.. ความยากลำบากที่ไรเดอร์ต้องเผชิญ ตั้งแต่การประสบอุบัติเหตุจนถึงการสูญเสียรายได้และชีวิต โดยกลุ่มไรเดอร์มักต้องช่วยเหลือกันเอง ทั้งการไปโรงพยาบาล เยี่ยมเยียน และระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ หรือครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่สิ่งที่ไรเดอร์ได้จากบริษัทแพลตฟอร์มคือพวงหรีดไม่ใช่สวัสดิการและกองทุนเงินทดแทนช่วยเยียวยาความยากลำบากซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานที่ไรเดอร์พึงมี โดยขอเรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนและให้บริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

นางสาวรุ่งนิรันดร์ คำพิทูรย์ ตัวแทนของคนทำงานด้านการดูแล (Care Workers Cooperative) กล่าวถึง.. สภาพการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์มในสายอาชีพที่ให้บริการตามบ้าน เช่น หมอนวด แม่บ้านและผู้ดูแล ซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากและความไม่เป็นธรรมที่หลายคนอาจไม่เคยรับรู้ เช่น ความโดดเดี่ยวของคนทำงานตามบ้านที่ต้องอยู่กับนายจ้าง 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ไม่มีสภาพแวดล้อมการทำงานและเวลาที่จะปกป้องสิทธิแรงงานของตนเอง เพราะต้องเตรียมพร้อมให้บริการตลอดเวลา พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มที่ต้องทำงานตามบ้านลูกค้า ซึ่งมักเป็นผู้หญิงและมีความเสี่ยงเฉพาะสูง

นายอลงกรณ์ สุนทรชื่น ตัวแทนจาก กลุ่มมอญแสงเทียน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาที่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ว่า.. ยังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมาย ขณะที่นายจ้างก็มักไม่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ซึ่งเป็นเหตุให้แรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างสมบูรณ์ มอญแสงเทียนจึงมุ่งลงพื้นที่ให้ความรู้แก่แรงงานข้ามชาติและส่งเสริมการรวมตัวของกลุ่มแพลตฟอร์ม ซึ่งการรวมตัวนี้มีบทบาทสำคัญและได้รับการสนับสนุนจากองค์กร NGO ที่ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ การรวมกลุ่มในลักษณะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เปิดเวทีอภิปรายและการแสดงวิสัยทัศน์ “ หนทางสู่การเข้าถึงประกันสังคมมาตรา 33 ของแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงานข้ามชาติ ”

นางลัดดา สายเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ระบุว่า.. สำนักงานประกันสังคมกำลังเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้แรงงานแพลตฟอร์มได้รับสิทธิประกันสังคม โดยกองทุนทดแทนจะครอบคลุมการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ไม่จำกัดสถานที่หรือเวลาทำงาน เพื่อให้แรงงานได้รับการดูแลอย่างครบถ้วน

นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เสนอคำแนะนำว่า.. ให้ยกเลิกข้อจำกัดที่ทำให้แรงงานข้ามชาติบางกลุ่มเข้าไม่ถึงประกันสังคมมาตรา 33 ทั้งนี้ รัฐควรแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศและขยายสิทธิครอบคลุมแรงงานแพลตฟอร์ม โดยให้การตีความคำว่าลูกจ้างและนายจ้างชัดเจนขึ้น โดยเสนอให้กระทรวงแรงงานออกข้ออนุบัญญัติชัดเจนกำหนดให้บริษัทแพลตฟอร์มเป็นนายจ้างและมีหน้าที่ต้องนำไรเดอร์เข้าสู่ระบบประกันสังคมแทนการ การแก้ไข พ.ร.บ. ประกันสังคมและคุ้มครองแรงงานซึ่งมักใช้เวลานาน แต่แนวทางนี้สามารถเร่งดำเนินการได้ เช่นเดียวกับกรณีแรงงานประมงหรือแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน

นายอดิศร เกิดมงคล ที่ปรึกษาสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรข้ามชาติ ชี้ว่า.. แรงงานข้ามชาติหลายกลุ่มยังเข้าไม่ถึงประกันสังคม โดยเฉพาะแรงงานตามฤดูกาลและในภาคเกษตร รัฐควรแก้กฎหมายเพื่อให้แรงงานเหล่านี้เข้าระบบได้ และยืนยันว่าประกันสังคมควรเป็นสิทธิของทุกคนอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญคือการเปิดโอกาสให้แรงงานเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานประกันสังคม นอกจากนี้ ต้องตรวจสอบสิทธิและแก้ไขข้อกฎหมายที่ขัดกับอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองที่เหมาะสม












กำลังโหลดความคิดเห็น