xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรก ลอยกระทงดิจิทัลในสวนสันติภาพ สืบสานประเพณี ลดขยะ ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



(15 พ.ย. 67) เวลา 18.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ร่วมเปิดงาน “รางน้ำลอยกระทงดิจิทัล : Rangnam Loy Krathong Digital” ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตราชเทวี ร่วมกับ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ และชุมชนย่านรางน้ำ จัดขึ้น ณ สวนสันติภาพ เขตราชเทวี และบริเวณสระน้ำหน้าคราวน์ เอเทรียม คิง เพาเวอร์ รางน้ำ

"มีหลายคนเป็นห่วงว่าลอยกระทงดิจิทัลจะเป็นการทำลายวัฒนธรรมประเพณีที่มีอยู่เดิม แต่ขอแจ้งให้ทราบว่าการลอยกระทงแบบดั้งเดิมในกรุงเทพฯ ยังมีกว่า 140 จุด มีการลอยกระทงดิจิทัลจุดใหญ่ ๆ เพียง 3 จุดเท่านั้น คือที่สวนสันติภาพแห่งนี้ ลานคนเมือง และสกายวอล์ก ระหว่าง MBK กับ Siam Discovery เขตปทุมวัน ซึ่งการลอยแบบดิจิทัลนั้นไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสวนสันติภาพแห่งนี้เมื่อปีที่แล้วมีการลอยกระทงด้วยขนมปัง แล้วทำให้ปลาและสัตว์น้ำตาย ต้องใช้ระยะเวลาการฟื้นฟูกว่า 4 เดือนหลังวันลอยกระทง จึงจะกลับสู่ภาวะปกติได้" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ เพื่อสืบสานประเพณีลอยกระทงของไทยโดยเน้นย้ำความยั่งยืน จึงรณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนลดการสร้างขยะ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการลดการใช้กระทงที่ทำจากขนมปัง อาหารปลา และโฟม ภายในงานได้จัดให้ประชาชนสามารถร่วมลอยกระทงแบบดิจิทัลที่ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เพียงสแกน QR Code เพื่อเก็บกระทงดิจิทัลผ่าน Webapp สามารถเลือกแบบกระทงและแลกรับกระทงกระดาษเพื่อระบายสีตามความชอบ ก่อนนำกระทงไปที่จุดสแกนเพื่อปล่อยกระทง พร้อมรอชมกระทงของตัวเองบนผิวน้ำในสวนสันติภาพ ซึ่งจะได้เห็นมุมสวย ๆ ของสวนสันติภาพผ่านมุมมองที่แปลกตา โดยผู้ร่วมลอยกระทงดิจิทัลจะได้ลุ้นรับคูปองส่วนลดสุดพิเศษ จาก คิง เพาเวอร์ ด้วย

สืบเนื่องจากเทศกาลลอยกระทงเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา มีการลอยกระทงที่ทำมาจากขนมปังในบึงน้ำในสวนสาธารณะ เช่น สวนสันติภาพ ในปริมาณที่มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศของบึงน้ำในสวนต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูบึงน้ำนานเกือบ 4 เดือน ปีนี้กรุงเทพมหานครจึงขอความร่วมมือประชาชนลอยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ งดการนำกระทงโฟมและกระทงขนมปังทุกรูปแบบมาลอยในบึงน้ำสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสัตว์น้ำและบึงน้ำซึ่งเป็นระบบปิด เพราะกระทงขนมปังเป็นปัญหาต่อการจัดเก็บมากที่สุด เปื่อยยุ่ยง่าย บางชนิดใช้สีที่เป็นอันตรายต่อปลา และเมื่อขนมปังจมลงสู่ก้นสระ จะทำให้ระดับออกซิเจนต่ำลง เป็นอันตรายกับสัตว์น้ำทุกชนิดและสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้มีการรณรงค์เชิญชวนลอยกระทงแบบรักษ์โลก โดยมาด้วยกัน ลอยด้วยกัน 1 กลุ่ม 1 ครอบครัว 1 กระทง เพื่อร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและช่วยลดปริมาณขยะจากกระทง

สำหรับการจัดเก็บกระทง สำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต จะระดมเจ้าหน้าที่จัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลอง และบึงภายในสวนสาธารณะต่าง ๆ ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมจำแนกประเภทกระทงให้เสร็จในเวลา 06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (16 พ.ย. 67) โดยปริมาณขยะจากกระทง เมื่อปี 2566 กรุงเทพมหานครจัดเก็บได้จำนวนทั้งสิ้น 639,828 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ซึ่งจัดเก็บได้ 572,602 ใบ หรือเพิ่มขึ้น 67,226 ใบ คิดป็นร้อยละ 11.74 เป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติได้ 618,951 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.74 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่จัดเก็บได้จำนวน 548,086 ใบ ส่วนกระทงโฟม จัดเก็บได้ 20,877 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.26 ลดลงจากปี 2565 ซึ่งจัดเก็บได้ 24,516 ใบ








กำลังโหลดความคิดเห็น