กระทรวง อว. ร่วม มรภ.ลำปาง รฟท.ผนึกพันธมิตรเปิดขบวนรถไฟท่องเที่ยวสายเหนือ Oneday Trip เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง ผลงานวิจัย บพข. กองทุน ววน. ในโครงการวิจัยการนำผลงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้จัดขบวนรถ Royal Blossom ชุดที่ 2 ซึ่งเป็นรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวชุดใหม่มาใช้ในภาคเหนือเป็นครั้งแรกนอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ให้ความสำคัญและร่วมจัดกิจกรรม ณ จุดท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวง อว. ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ให้เป็นประธานในพิธีเปิดขบวนรถไฟท่องเที่ยวสายเหนือ ตามโครงการวิจัยการนำผลงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือมาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผลงานวิจัย บพข. กองทุน ววน. พร้อมด้วยผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และในฐานะผู้แทน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
โดยมี นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ ผู้ว่าราชการ จ.อุตรดิตถ์ นายกฤษณะ พินิจ รองผู้ว่าราชการ จ.ลำปาง นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการ จ.พิษณุโลก น.ส.สรินรัตน์ เกิดสกุลรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการ จ.สุโขทัย นายชาตรี ธินนท์ รองผู้ว่าราชการ จ.ลำพูน และรศ.ดร.กิตติศักดิ์ สมุทธารักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมให้การต้อนรับ ณ สถานีรถไฟนครลำปาง อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง
นางสาววราภรณ์ กล่าวว่า การเปิดขบวนรถไฟท่องเที่ยวสายเหนือ ตามโครงการวิจัยการนำผลงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือมาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เป็นการผนึกกำลังของเครือข่าย 7 จังหวัดภาคเหนือ การรถไฟแห่งประเทศไทย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ ชุมชน ในการนำเอาผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยมาสู่การใช้ประโยชน์เพื่อเร่งสร้างฐานที่มั่นคงในระบบเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นพันธกิจของกระทรวง อว. รวมถึงเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้ยั่งยืน และนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายที่มหาวิทยาลัยได้ตั้งไว้ โครงการวิจัยนี้ได้มีการบูรณาการทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านการท่องเที่ยว การบริหารธุรกิจ ระบบการขนส่ง ดนตรี การออกแบบ ศิลปะ วัฒนธรรม และยังได้มีการบูรณาการทรัพยากรที่โดดเด่นของแต่ละจังหวัด เพื่อให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดและผลักดันให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบที่ดี การขับเคลื่อนงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมจึงจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชน ท้องถิ่น สังคมและประเทศชาติ อีกทั้งโครงการนี้ยังเป็นต้นแบบของโครงการการท่องเที่ยวด้วยรถไฟ และการจัดตั้งหน่วยธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในสถาบันอุดมศึกษาที่จะขยายไปยังภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2568 ที่จะถึงนี้อีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการรวมกลุ่มกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืน และส่งผลดีกับการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
รศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวรายงานว่า โครงการวิจัยนี้ได้รับงบประมาณจาก บพข. กองทุน ววน. เพื่อดำเนินการวิจัยต่อเนื่องมาแล้วเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในปี 2564 คือ แผนงานวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟบนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนา ได้ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ทำให้ต่อมาในปี 2565 ได้รับงบประมาณดำเนินการวิจัยตามแผนงานการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางรถไฟสายเหนือส่วนขยาย (เชียงใหม่ - ลำปาง ไปยังพิษณุโลก) เพื่อขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก และแผนงานวิจัยนี้ทำให้เกิดหน่วยธุรกิจในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ภายใต้ชื่อโครงการการท่องเที่ยวรถไฟเชิงพาณิชย์ ที่ได้ดำเนินการจัดเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในรูปแบบแพ็คเกจทัวร์จากกรุงเทพมาสู่จังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินงานมาแล้ว 11 ครั้ง ก่อให้เกิดรายได้กับผู้ประกอบการและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในภาคเหนือจำนวนมาก
ผศ.สุภาวดี กล่าวว่า การนําเอาผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้พัฒนารูปแบบทางธุรกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการให้บริการการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือในระยะยาว ซึ่งเป็นโมเดลทางธุรกิจที่พร้อมใช้
โดยแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ได้สนับสนุนการดำเนินงานวิจัยอย่างต่อเนื่องมาแล้วเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในปี 2564 คือ แผนงานวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟบนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนา ได้ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก ต่อมามีการการจัดพิธีลงนาม MOU ร่วมกัน ระหว่าง มรภ.ลำปาง – บพข. – รฟท. - จังหวัด 3 จังหวัด ประกอบด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้ต่อมาในปี 2565 สนับสนุนการดำเนินการวิจัยตามแผนงานการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางรถไฟสายเหนือส่วนขยาย (เชียงใหม่ - ลำปาง ไปยังพิษณุโลก) เพื่อขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก และแผนงานวิจัยนี้ทำให้เกิดหน่วยธุรกิจในมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ภายใต้ชื่อโครงการการท่องเที่ยวรถไฟเชิงพาณิชย์ ที่ได้ดำเนินการจัดเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในรูปแบบแพ็คเกจทัวร์จากกรุงเทพมาสู่จังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ซึ่งได้ร่วมกันดำเนินงานมาแล้ว 11 ครั้ง ก่อให้เกิดรายได้กับผู้ประกอบการและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในภาคเหนือจำนวนมาก
สำหรับปี 2567 ได้สนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อดำเนินโครงการวิจัยการนำผลงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือมาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบทางธุรกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้บริการการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือส่วนขยายสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวใหม่เพื่อตอบรับตามความต้องการ และเป็นการจัดทำแผนการขยายผลการให้บริการท่องเที่ยวโดยรถไฟ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป โดยในปีนี้ได้ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวรถไฟสายเหนือโดยในระหว่างวันที่ 11 – 12 พฤศจิกายน 2567 เป็นการท่องเที่ยวแบบ Oneday Trip จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤศจิกายน 2567 เป็นการท่องเที่ยวแบบพักค้างคืน จากจังหวัดลำปาง ไปสู่จังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และสุโขทัย เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเทศกาลลอยกระทงของภาคเหนือร่วมด้วย
ด้าน นายกฤษณะ รองผู้ว่าฯ จ.ลำปาง กล่าวต้อนรับว่า จ.ลำปาง ได้มีแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดลำปาง และยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองหลัก - เมืองรองหรือเมืองน่าเที่ยวในเขตภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า “เมืองล้านนาน่าเที่ยว” มุ่งนำศักยภาพที่โดดเด่นของพื้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ในพื้นที่ให้นานและมากขึ้น สถานีรถไฟนครลำปางเป็นสถานีรถไฟระดับหนึ่ง บนเส้นทางรถไฟสายเหนือ ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2458 และเปิดเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 มีรถด่วนจากกรุงเทพขึ้นมาทำขบวนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2465 ซึ่งในเวลานั้นทำให้จังหวัดลำปางเป็นชุมทางขนส่งมวลชนที่ทันสมัยที่สุด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ แล้วยังเป็นจุดกระจายสินค้าและผู้คนจากภาคกลาง ที่จะเดินทางไปที่อื่นๆในภาคเหนือ และยังเป็นสถานีรถไฟยุคแรกๆที่ยังคงเหลืออาคารอยู่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการทำลาย เนื่องจากเป็นเส้นทางลำเลียงยุทโธปกรณ์ของญี่ปุ่น แต่ก็ได้รับความเสียหายเล็กน้อย โดยหลักฐานที่เหลืออยู่ถึงปัจจุบัน คือ รอยกระสุนปืนที่คานหลังคา ชานชาลาสถานีรถไฟ สถานีรถไฟนครลำปาง ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมแห่งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ ประจำปี พ.ศ.2536 ปัจจุบันสถานีรถไฟประจำจังหวัดลำปาง มีพื้นที่ 161 ไร่ ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพประมาณ 643 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เป็นสถานีเปิดขบวนรถไฟรอบปฐมฤกษ์ด้วยขบวน SRT Royal Blossom เป็นครั้งแรกของภาคเหนือในวันนี้