ปลัด อว.เดินหน้ายกระดับห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยให้เป็น Training Center เพื่อผลิตกำลังคนทักษะสูงพร้อมพัฒนาทักษะทางสังคมให้ นศ.ฝึกประสบการณ์ระหว่างเรียนในสถานประกอบการหรือชุมชนอย่างน้อย 4 เดือน ขณะเดียวกันให้ปรับหลักสูตรภาษาอังกฤษให้เหมาะสมกับแต่ละสาขาวิชาชีพ
เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยถึงนโยบายเร่งด่วนที่จะขับเคลื่อนด้านอุดมศึกษา หลังจากเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดกระทรวง อว. ว่า ตนมีนโยบายที่มุ่งเน้นในการผลิตกำลังคนทักษะสูงให้มากขึ้น ตอบรับการสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรืออุตสาหกรรมขั้นสูงเข้ามาลงทุนในไทย เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง EV และ AI ซึ่งการจะผลิตกำลังคนในรูปแบบนี้จะต้องให้มหาวิทยาลัยเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน และต้องดำเนินการร่วมกันในหลายๆ มหาวิทยาลัย ครอบคลุมไปถึงภาคเอกชน โดยเรื่องแรกที่ตนตั้งใจจะทำ คือ การยกระดับห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็น Training Center หรือศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรม ทั้งความรู้และทักษะ (Skill) เพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมใหม่
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า ขณะที่ เรื่องที่ 2 จะมุ่งเน้นในการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skill หรือทักษะทางสังคมที่ใช้เพื่อให้สามารถทำงานและสื่อสารกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดีให้กับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็น การคิดวิเคราะห์ ภาวะผู้นำ ความฉลาดทางอารมณ์ การสื่อสาร การเจรจาต่อรอง การทำงานเป็นทีม การมีความคิดเชิงบวก และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ เป็นต้น ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีประสบการณ์จากการทำงานจริง โดยการจัดให้มีหลักสูตรที่มีการฝึกประสบการณ์ในระหว่างเรียน ทั้งการฝึกในสถานประกอบการ หรือฝึกทำงานกับชุมชน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 เดือน ซึ่งปัจจุบันกระทรวง อว. มีหลักสูตรที่เข้าข่ายเป็น Experiential Learning หรือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ ประมาณ 25% ตนจึงตั้งเป้าไว้ว่าจะผลักดันให้เกิดหลักสูตรลักษณะนี้ให้ได้อย่างน้อย 50% ของจำนวนหลักสูตรทั้งหมดภายใน 2 ปี
“อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การยกระดับภาษาอังกฤษของนักศึกษา ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสมกับแต่ละสาขาวิชาชีพ เช่น ในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ก็จะต้องไปดูว่าอาชีพวิศวกรควรมีทักษะภาษาอังกฤษในเรื่องอะไรบ้าง แล้วจึงนำมาออกแบบหลักสูตร ดังนั้น ในแต่ละสาขาวิชาชีพก็จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับอาชีพนั้นๆ ไม่ใช่เรียนเหมือนกันหมดทุกหลักสูตร” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว