เมื่อวันที่ 8 พ.ย.นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีปิดโครงการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปีที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) และ กรุงเทพมหานคร ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
“เรื่องขยะเป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจและร่วมกันหาวิธีแก้ไข ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ ระดับสากล เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี เราอยากจะส่งเสริมให้ทั้งคุณครู นักเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองของนักเรียน มีความรู้เรื่องนี้เพื่อที่จะจัดการขยะของกรุงเทพฯ ได้อย่างดี เนื่องจากขยะเป็นปัญหาใหญ่ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องใช้งบประมาณอย่างมากในการบริหารจัดการ ถ้าเราสามารถแยกขยะ จัดการขยะได้อย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน ครัวเรือน หรือตามชุมชนต่าง ๆ ก็จะสามารถช่วยลดปัญหาได้ กรุงเทพมหานครต้องขอบคุณทางภาคเอกชน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญในการจัดการขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และขอขอบคุณศึกษานิเทศก์ คณะครู และคณะทำงาน ที่ร่วมกันจัดการโครงการที่มีคุณค่าอย่างนี้ ขอให้ทุกท่านได้นำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ขยายในโรงเรียนเพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไป” นายพรพรหม กล่าว
โครงการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปีที่ 2 ได้รับความร่วมมือสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจาก บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และมีเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะพลาสติกในโรงเรียน อีกทั้งส่งเสริมการคัดแยกขขยะและการรึไซเคิลอย่างเป็นระบบ
สำหรับกิจกรรมในพิธีปิดโครงการฯ วันนี้ แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ การจัดนิทรรศการแสดงผลการพัฒนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และ การมอบป้าย โล่ เกียรติบัตร สำหรับโรงเรียนที่มีผลงาน ดังนี้ 1. รางวัลโรงเรียนต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปี 2 จำนวน 108 โรงเรียน ประกอบด้วย ระดับดีเยี่ยม จำนวน 29 โรงเรียน ระดับดี จำนวน 31 โรงเรียน และระดับผ่าน จำนวน 48 โรงเรียน 2. รางวัลครูต้นแบบ (PET Coach Award) จำนวน 20 คน จาก 10 โรงเรียน และ 3. รางวัลเยาวชนต้นแบบ (PET Youth Award) จำนวน 20 คน จาก 12 โรงเรียน
โดยรางวัลดังกล่าวมาจากการพิจารณาการมีส่วนร่วม ที่แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่มีนัยยะสำคัญด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการพลาสติก PET อย่างยั่งยืน ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 โรดโชว์ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะและการรีไซเคิล PET แก่โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 100 แห่ง ซึ่งมีครูและนักเรียนที่ได้รับการอบรมจำนวน 9,898 คน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและความสำคัญของการจัดการขยะประเภทต่าง ๆ อย่างถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง และสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้จริง
กิจกรรมที่ 2 พัฒนาคู่มือการจัดการเรียนรู้สำหรับครู จัดทำร่วมกับครูระดับชำนาญการพร้อมทั้งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อประยุกต์ใช้ในการสร้างการเรียนรู้เรื่องการจัดการพลาสติก เพิ่มประสิทธิภาพในการสอน และยกระดับการจัดการขยะของโรงเรียน ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียน โดยจัดทำคู่มือ 9 เล่ม สำหรับชั้นเรียน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนต้น ป.1 - ป.3 ระดับประถมศึกษาตอนปลาย ป.4 - ป.6 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1 - ม.3
กิจกรรมที่ 3 ค่ายเยาวชนต้นแบบบริหารจัดการพลาสติก (PET Youth Camp) แบบเข้มข้นสำหรับนักเรียนเป็นเวลา 2 วัน โดยมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม 40 คน จาก 20 โรงเรียน เป็นกิจกรรมที่ผสมผสานความรู้และกิจกรรมที่สนุกสนาน การสอนทักษะความเป็นผู้นำและการสื่อสารผ่านการได้ไปเรียนรู้และปฏิบัติที่สถานที่จริงซึ่งช่วยให้นักเรียนได้รับประสบการณ์จริงทำให้เข้าใจมากขึ้น
กิจกรรมที่ 4 จัดอบรมครูต้นแบบ (PET Train the Trainer) โดยมีครูจากโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเข้าร่วมกิจกรรม 40 คน จาก 20 โรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้ครูมีทักษะความรู้และมีสื่อการสอนพร้อมใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอน และยกระดับการจัดการขยะของโรงเรียน
กิจกรรมที่ 5 จัดประกวดโรงเรียนต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ปีที่ 2 มีโรงเรียนสนใจเข้าร่วมประกวด 108 โรงเรียน โรงเรียนระดับดีเยี่ยม 29 โรงเรียน โรงเรียนระดับดี 31 โรงเรียน โรงเรียนระดับผ่าน 48 โรงเรียน ทำให้นักเรียนสามารถจัดการขยะและคัดแยก PET ได้อย่างถูกต้อง
กิจกรรมที่ 6 จัดตั้งจุด Drop Point ส่งเสริมการคัดแยกขยะ เพื่อกระตุ้นและสร้างการมีส่วนร่วมทั้งในโรงเรียนและคนในชุมชน ส่งเสริมให้นำ PET กลับสู่กระบวนการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมอบอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งจุด Drop Point และประสานงานในการรับซื้อขยะ ให้แก่ 5 โรงเรียนนำร่อง ได้แก่ 1. โรงเรียนวัดขุมทอง เขตลาดกระบัง 2. โรงเรียนวัดลาดกระบัง เขตลาดกระบัง 3. โรงเรียนสุเหร่าทับช้าง เขตประเวศ 4. โรงเรียนหัวหมาก เขตสวนหลวง และ 5. โรงเรียนวัดพระยาปลา เขตหนองจอก
ในการนี้ นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา นายทรงศร กัลยา ณ สุนทร รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา นางอาราธนา โลเฮีย ชาร์มา ผู้บริหาร บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ศึกษานิเทศก์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา ครูและนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารบริษัท ฯ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี
See