สถาบันสหวิทยาการดิจิทัลและหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) จัดอบรมพัฒนาศักยภาพหลักสูตร “การพัฒนาสมรรถนะการบูรณาการระบบอัตโนมัติกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพื่อสร้างแบบแผนการผลิตที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่หลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) ประปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับภาคอุตสาหกรรม (New Growth Engine) โดยมี ผศ.ดร.ปริญญ์ บุญกนิษฐ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ราชมงคลพระนคร เป็นประธานในการเปิดงาน ณ บริษัท อาซาฮี-ไทย อัลลอย จำกัด จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567
ผศ.ดร.ปริญญ์ บุญกนิษฐ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ Artificial Intelligence (AI) และระบบอัตโนมัติ (Automation) เข้ามามีบทบาทการทำงานร่วมกับมนุษย์มากขึ้น ซึ่งการเรียนรู้และปรับตัวด้วยการพัฒนาทักษะ เพิ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงเป็นสิ่งสำคัญของภาคแรงงานที่ต้องพยายามพัฒนาทักษะพิเศษของตนเองในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ที่สามารถพัฒนาความรู้ ทักษะ สมรรถนะ การซ่อมบำรุงระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ได้แก่ การใช้งานอุปกรณ์ควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม การเขียนโปรแกรมควบคมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม การใช้งานเครื่องมือกลของหุ่นยนต์ การตรวจสอบและติดตั้งเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าในหุ่นยนต์ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูงสำหรับภาคอุตสาหกรรม (New Growth Engine) สำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงสนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่หลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ให้กับราชมงคลพระนคร เพื่อจัดทำหลักสูตรการพัฒนาสมรรถนะการบูรณาการระบบอัตโนมัติกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเพื่อสร้างแบบแผนการผลิตที่ยั่งยืน ให้กับบุคลากรของบริษัทอาซาฮี-ไทย อัลลอย จำกัด จำนวน 20 คน โดยแบ่งการทำกิจกรรมเป็น 2 ช่วง ซึ่งจัดให้มีการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Onsite & Online) ระยะเวลา 4 เดือน เมื่อผู้เรียนเรียนจบตามหลักสูตรสามารถสะสมเป็นหน่วยกิตและฝากไว้กับธนาคารหน่วยกิตของมหาวิทยาลัย โดยในอนาคตหากเรียนครบตามหลักสูตรหรือมีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถขอสำเร็จการศึกษาและได้รับคุณวุฒิในระดับปริญญาตรีของแต่ละหลักสูตรได้ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสที่สำคัญให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม
ด้านดร.อรรณพ ปิยะสินธ์ชาติ ผู้อำนวยการระบบบริหารคุณภาพ บริษัทอาซาฮี-ไทย อัลลอย จำกัด กล่าวว่า การศึกษาและการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ทุกคนยังจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งไม่ใช่แค่จำกัดเฉพาะในห้องเรียนอีกต่อไป จึงนำมาสู่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาความรู้และฝึกทักษะการซ่อมบำรุงระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมตามมาตรฐานผู้ผลิต ซึ่งเกิดประโยชน์อย่างมากต่อกลุ่มบุคลากรที่ต้องการเรียนเพิ่มทักษะ การเรียนครั้งนี้จะส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้อย่างชัดเจน โดยจะมีการเรียนในภาคทฤษฎี จำนวน 60 ชั่วโมง และการเรียนภาคปฏิบัติ 165 ชั่วโมง รวม 225 ชั่วโมง โดยจัดให้พนักงานได้มีเวลาเรียน 3 วันต่อสัปดาห์ และจัดให้มีการทำงานรูปแบบโปรเจกต์ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ได้ดี