xs
xsm
sm
md
lg

ม.รามคำแหง-บพข. ผนึกกำลังอุทยานฯ หมู่เกาะช้าง ขับเคลื่อนมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนเป็นศูนย์ ตอกย้ำเกาะช้างสู่สถานที่พักผ่อนเขตร้อนชื้นระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บพข.-ม.รามคำแหง ร่วมกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จัดอบรมมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนสถานที่พักผ่อนเขตร้อนชื้นที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลก

โครงการยกระดับบริหารจัดการการท่องเที่ยวดำน้ำคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ตราด ที่ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นโครงการในแผนงานการวิจัยการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้กลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด จัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยเพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ในวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการชุดแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. ร่วมกับคณาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ดำเนินการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งได้ริเริ่มแนวคิดการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนระดับโลกบนฐานมรดกทางธรรมชาติ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งพร้อมก้าวสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Pathway) ในภาคการท่องเที่ยวโดยดำเนินงานร่วมกับภาคีองค์กรเครือข่ายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยว และส่งเสริมการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงบวก (Nature Positive Tourism) ซึ่งมุ่งเน้นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แนวปะการัง ป่าชายเลน ฯลฯ รวมถึงการสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาด้วยธรรมชาติ (Nature-based Solutions) ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดตราด โดยเฉพาะการตระหนักถึงการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การลดและการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเล

การจัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเลเป็นจำนวนมาก โดยมาตรฐานดังกล่าวได้พัฒนามาจากมาตรฐานการท่องเที่ยวระดับสากลของหลายองค์กร ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล 4 ประเภท ได้แก่ ดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก แคนู/คายัค และเจ็ตสกี โดยมี 6 องค์ประกอบสำคัญดังนี้: 1) การบริหารจัดการที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ 2) การใช้ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน 3) การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืนสำหรับชุมชนและนักท่องเที่ยว 4) การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน 5) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และภูมิทัศน์ และ 6) การบริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยงทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ การอบรมฯ ครั้งนี้ได้แนะนำ TOOLKIT มาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งออกแบบมาให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถเรีนยรู้ผ่านการอบรมออนไลน์และการเรียนรู้ด้วยตนเอง TOOLKIT นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าใจและนำมาตรฐานดังกล่าวไปปรับใช้ในธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะผู้จัดอบรมฯ ได้ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยคาร์บอนผ่านแอปพลิเคชัน “ZERO CARBON”

นายเนรมิต สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เปิดเผยว่า เกาะช้าง จังหวัดตราด ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถานที่พักผ่อนเขตร้อนชื้นที่ดีที่สุดอันดับ 2 ของโลก โดยนิตยสาร Travel + Leisure ซึ่งเป็นสื่อชั้นนำด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ เกาะช้างเป็น "อัญมณีแห่งอ่าวไทย" ได้รับการยกย่องให้อยู่ในอันดับสูงสุดเคียงคู่กับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ พาลาวัน (ฟิลิปปินส์) และบาหลี (อินโดนีเซีย) ซึ่งสะท้อนถึงความงดงามทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่นของหมู่เกาะช้าง ที่มีระบบนิเวศหลากหลาย ทั้งป่าดิบชื้น น้ำตก ชายหาด และแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับธรรมชาติที่งดงามผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเดินป่า ดำน้ำดูปะการัง และการล่องเรือชมวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งช่วยสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่แตกต่างให้กับผู้มาเยือน ผลการจัดอันดับครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของเกาะช้างและประเทศไทยโดยรวม โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงจากทั่วโลกให้มาสัมผัสหมู่เกาะช้าง ดังนั้นการอบรมมาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยจึงนับเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรฐานการท่องเที่ยวฯ รวมถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสรรค์ประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

คุณอรุณวรรณ ใจประสาน และคุณจเร กังวาลไกล ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเลในพื้นที่หมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด กล่าวว่ามาตรฐานการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยจะช่วยยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวมีความตระหนักและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงการลดการปล่อยคาร์บอน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและช่วยกันรักษาความงดงามของระบบนิเวศในพื้นที่เกาะช้าง นอกจากนี้ มาตรฐานการท่องเที่ยวฯ ดังกล่าวยังเน้นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลที่หลากหลาย เช่น แนวปะการัง หญ้าทะเล และระบบนิเวศในเขตชายฝั่ง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการท่องเที่ยวในระยะยาวและช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้การใช้มาตรฐานการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนากิจกรรมและธุรกิจท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน












กำลังโหลดความคิดเห็น