xs
xsm
sm
md
lg

ความเหงา-โดดเดี่ยว: ภัยเงียบที่ทำลายสุขภาพราวสูบบุหรี่ 15 มวนหรือดื่มเหล้า 6 แก้วต่อวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อึ้ง ! ความเหงา-โดดเดี่ยว ภัยเงียบที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน หรือดื่มเหล้าวันละ 6 แก้ว ล่าสุด ปี 67 พบคนไทยเสี่ยงซึมเศร้า 17.20% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% สสส. สานพลัง ธ.จิตอาสา-ภาคี เปิดตัวแคมเปญ “เดือนการฟังแห่งชาติ” ครั้งแรกของไทย ติดอาวุธทักษะการรับฟัง-สร้างความสัมพันธ์ที่ดี ผ่าน 75 กิจกรรม ทั้งออนไซต์-ออนไลน์ ตลอดเดือน พ.ย. 67 มุ่งสร้างสังคมสุขภาวะทางปัญญาที่ยั่งยืน

เวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ภาคีภาครัฐ และภาคเอกชน จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “เดือนการฟังแห่งชาติ” หรือ “National Month of Listening” เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลความสัมพันธ์ด้วย “การฟัง” หวังเยียวยาปัญหาจิตใจที่เกิดจากภัยความเหงา และรู้สึกโดดเดี่ยว
 
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกโซเชียลและข่าวสารที่หมุนไว คนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับสื่อออนไลน์มากขึ้นทำให้คุยกับครอบครัวและคนรอบข้างน้อยลง เกิดปัญหาทางจิตใจทั้งความเหงา ความโดดเดี่ยว คนรู้สึกไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างกัน เป็นผลเสียต่อสุขภาพโดยตรง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ สังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวะที่คนรู้สึกโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากงานวิจัยความสัมพันธ์ทางสังคมกับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตโดยการวิเคราะห์อภิมาน โดย J. Holt-Lunstad และคณะ ในวารสารวิชาการ PLOS Medicine ระบุว่า อันตรายของความเหงาเทียบเท่ากับสูบบุหรี่ถึงวันละ 15 มวน หรือดื่มเหล้าวันละ 6 แก้ว นอกจากนี้ ความเหงาและความโดดเดี่ยว ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน อาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การเสพติดสุรา บุหรี่ เสี่ยงป่วยโรควิตกกังวล ซึมเศร้า และสมองเสื่อม เรียกได้ว่าเป็นภาวะขาดการสัมพันธ์เชื่อมโยง (lack of social connection)
 
“การกำหนดให้เดือน พ.ย. เป็นเดือนการฟังแห่งชาติ หรือ National Month of Listening ครั้งนี้ เป็นการจัดงานครั้งแรกของไทย และของโลก สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาวะทางปัญญา จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมได้เห็นถึงความสำคัญของการรับฟัง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับตนเองและผู้อื่น ส่งเสริมให้มีศักยภาพและความสามารถในการบริหารจัดการความรู้สึกเหงาและความโดดเดี่ยวได้ รวมถึงการสนับสนุนให้มีพื้นที่การรับฟังที่หลากหลาย เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เกิดสังคมสุขภาวะที่เกื้อกูลกัน สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าร่วมได้ฟรีมากกว่า 75 กิจกรรมทั่วประเทศ ในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดตลอดเดือน พ.ย. 67 สามารถติดตามรายละเอียดและเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ความสุขประเทศไทย” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า จากรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2567 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2566 - 22 เม.ย. 2567 พบมีผู้เสี่ยงป่วยซึมเศร้า 17.20% มีความเครียดสูง 15.48% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% หากพิจารณาตามช่วงวัย พบว่า ผู้สูงวัยต้องอยู่กับความเหงาและโดดเดี่ยว ส่วนวัยทำงานต้องเผชิญกับภาระงานที่หนักเกินไป ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม ล่าสุด เกิดกรณีเภสัชกรตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เนื่องจากมีความกดดันในเรื่องการทำงาน สาเหตุจากหัวหน้างานไม่เคยเปิดใจรับฟัง ในขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนไทย โดยองค์กรนิวกราวด์ เคยระบุว่าของขวัญที่เด็กอยากได้จากผู้ใหญ่ คือการรับฟังและความเข้าใจ 25% มากกว่าการได้รับเงิน 11% ถึงสองเท่า

“ธนาคารจิตอาสา ร่วมกับ สสส. และเพื่อนภาคี จัดทำแคมเปญเดือนการฟังแห่งชาติ เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงศักยภาพที่ตัวเองมี คือ การฟังที่ส่งเสริมความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งการฟังที่มีคุณภาพจะส่งผลให้เรารู้จักเข้าใจตัวเองและชีวิต เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับผู้อื่น กับโลก และธรรมชาติ พร้อมร่วมกันสร้างสังคมที่เกื้อกูล ภายใต้แคมเปญฯ ตลอดเดือน พ.ย. 67 จะมีกิจกรรมที่ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.Listenian Space หรือ กิจกรรมรับฟังโดยอาสา (Listenian) ผ่านหัวข้อเสวนาต่างๆ เช่น “Friday Night” พื้นที่สำหรับชาวออฟฟิศ ที่อยากปลดปล่อยความรู้สึกให้ใครสักคนฟังหลังเลิกงาน “Lady Listening” พื้นที่รับฟังโดยเหล่าผู้รับฟังผู้หญิง เพื่อเพื่อนหญิงด้วยกัน 2.Listenian Class หรือ เวิร์กชอปการฟังด้วยหัวใจ ในหัวข้อประเด็นต่างๆ เช่น การฟัง 101, DIY Happiness, Student Well-being ชวนมาเรียนรู้ทักษะการฟังเพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มทักษะการมีความสัมพันธ์ที่ดี” ดร.สรยุทธ กล่าว
























กำลังโหลดความคิดเห็น