รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างอาคาร 5 ชั้นริมถนนทรงวาด กางหลักเกณฑ์จัดระเบียบผู้ค้าถนนเยาวราชเข้าพื้นที่มีอัตลักษณ์ ชมคัดแยกขยะโรงพยาบาลสมิติเวช พัฒนาสวนหย่อมซอยโปลิศสภาริมคลองผดุงกรุงเกษม
วันนี้ (29 ต.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคาร ค.ส.ล. ถนนทรงวาด บริเวณหน้าศาลเจ้าเผยอิง ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคาร ค.ส.ล. ความสูง 5 ชั้น (อยู่อาศัยรวม) จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายเขตฯ ให้กำชับผู้รับจ้างติดตั้งผ้าใบคลุมกันฝุ่นโดยรอบอาคารให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นจากการก่อสร้างฟุ้งกระจายไปยังพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทกิจการหลอมโลหะ 5 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 4 แห่ง รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนเยาวราช ฝั่งซ้าย ตั้งแต่ถนนผดุงด้าวถึงตลาดเก่าเยาวราช ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 พิจารณาตามประกาศพื้นที่ทำการค้าฉบับใหม่ ในการจัดทำเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ผู้ค้าและนักท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 443 ราย ได้แก่ 1.ถนนเยาวราช ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่แยกเฉลิมบุรีถึงแยกราชวงศ์ ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-18.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 25 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 74 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-24.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 76 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 96 ราย 2.ถนนราชวงศ์ ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่แยกราชวงศ์ถึงท่าเรือราชวงศ์ ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 46 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 98 ราย 3.ถนนข้าวหลาม ทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. ฝั่งขวาผู้ค้า 17 ราย ฝั่งซ้ายผู้ค้า 11 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 82 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,961 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนพาดสาย ผู้ค้า 1 ราย 2.ถนนทรงสวัสดิ์ บริเวณวัดสัมพันธวงศ์ ผู้ค้า 2 ราย 3.ถนนทรงวาด ผู้ค้า 1 ราย ควบรวมพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 20 จุด ให้คงเหลือ 8 จุด ได้แก่ 1.ถนนมังกรฝั่งซ้าย ผู้ค้า 32 ราย ควบรวมกับถนนมังกรฝั่งโลตัส (ซ้าย) ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงถนนเยาวราช ผู้ค้า 27 ราย เปลี่ยนชื่อเป็นถนนมังกรฝั่งซ้าย ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงถนนทรงวาด รวมผู้ค้า 59 ราย 2.ถนนมังกรฝั่งขวา ผู้ค้า 37 ราย ควบรวมกับถนนมังกรฝั่งโลตัส (ขวา) ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงถนนเยาวราช ผู้ค้า 19 รายเปลี่ยนชื่อเป็นถนนมังกรฝั่งขวา ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงถนนทรงวาด รวมผู้ค้า 56 ราย 3.ถนนเยาวราช ตั้งแต่หน้าโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิถึงซอยเยาวราช ผู้ค้า 8 ราย ควบรวมกับซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ ผู้ค้า 8 ราย เปลี่ยนชื่อเป็นถนนเยาวราชฝั่งซ้าย ตั้งแต่ซอยเยาวราช 1 ถึงซอยเยาวราช 7 รวมผู้ค้า 16 ราย 4.ถนนข้าวหลาม ผู้ค้า 4 ราย ควบรวมกับซอยสุกร 1 ตั้งแต่ถนนมิตรภาพไทย-จีน ถึงถนนข้าวหลาม ผู้ค้า 21 ราย เปลี่ยนชื่อเป็นซอยสุกร 1 ตั้งแต่ถนนมิตรภาพไทย-จีน ถึงถนนข้าวหลาม รวมผู้ค้า 25 ราย 5.ถนนเจริญกรุง ตั้งแต่แยกหมอมีถึงแยกลำพูนไชย ผู้ค้า 12 ราย ควบรวมกับถนนเจริญกรุง แยกหมอมี ผู้ค้า 2 ราย และถนนเจริญกรุงฝั่งขวา ตั้งแต่สะพานดำรงสถิตย์ถึงแยกเสือป่า ผู้ค้า 16 ราย เปลี่ยนชื่อเป็นถนนเจริญกรุงฝั่งขวา ตั้งแต่สะพานดำรงสถิตย์ถึงแยกลำพูนไชย รวมผู้ค้า 30 ราย 6.ถนนเจริญกรุง ตั้งแต่ถนนลำพูนไชยถึงถนนมิตรภาพไทย-จีน ผู้ค้า 4 ราย ควบรวมกับถนนเจริญกรุง หน้าวัดไตรมิตรวิทยาราม ผู้ค้า 17 ราย เปลี่ยนชื่อเป็นถนนเจริญกรุงฝั่งซ้าย ตั้งแต่แยกลำพูนไชยถึงถนนมิตรภาพไทย-จีน รวมผู้ค้า 21 ราย 7.ควบรวมถนนบริพัตร (กลางคืน) ผู้ค้า 1 ราย ถนนเจริญกรุง ซอยเจริญกรุง 16 (กลางคืน) ผู้ค้า 1 ราย ถนนเจริญกรุง ซอยเจริญกรุง 27 (กลางคืน) ผู้ค้า 1 ราย ถนนเจริญกรุง ซอยเจริญกรุง 33 (กลางคืน) ผู้ค้า 3 ราย และซอยสุกร 2 (กลางคืน) ผู้ทำการค้า 1 ราย เปลี่ยนชื่อเป็นถนนเจริญกรุงและซอยสุกร 2 (กลางคืน) รวมผู้ค้า 7 ราย 8.ถนนเยาวราช (กลางคืน) ตั้งแต่แยกราชวงศ์ถึงแยกวัดตึก ผู้ค้า 12 ราย ควบรวมกับแยกวัดตึกถึงคลองโอ่งอ่าง (กลางคืน) ผู้ค้า 4 ราย เปลี่ยนชื่อเป็นถนนเยาวราช (กลางคืน) ตั้งแต่แยกราชวงศ์ถึงสะพานภาณุพันธุ์ รวมผู้ค้า 16 ราย โดยในปี 2567 เขตฯ จะมีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันคงเหลือ 67 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,957 ราย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงพยาบาลสมิติเวช ถนนเยาวราช เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร เขตฯ จัดเก็บทุกวัน ในเวลา 22.00 น. 2.ขยะรีไซเคิล เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปประชาสัมพันธ์ให้กับโรงพยาบาล ในการคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยมีจุดรวบรวมขยะรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำ กระป๋องอลูมิเนียม กระดาษ เพื่อนำไปจำหน่าย 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปรวบรวมไว้ในห้องพักขยะด้านหลัง โดยก่อนนำออกมาวางให้เขตฯ จัดเก็บ จะนำถาดมาลองไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำขยะไหลลงพื้นทางเท้าและถนน 4.ขยะอันตราย มีจุดรวบรวมขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บ 1 ครั้ง/เดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 700 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 8 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.20 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.20 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 2.20 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2.20 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงพยาบาลในการคัดแยกประเภทต่างๆ โดยเฉพาะขยะทั่วไป เพื่อให้การคัดแยกขยะและการจัดเก็บเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย
พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อมซอยโปลิศสภา ริมคลองผดุงกรุงเกษม ถนนมหาพฤฒาราม ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ ตั้งวางไม้กระถางเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมพระมหาธีรญาณมุนี พื้นที่ 940 ตารางเมตร 2.สวนศิลป์ป๋วย อึ๋งภากรณ์ พื้นที่ 840 ตารางเมตร สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมชุมชนโชฎึก พื้นที่ 600 ตารางเมตร 2.สวนหย่อมชุมชนโปลิศสภา พื้นที่ 500 ตารางเมตร 3.สวนหย่อมหน้าศาลเจ้าไทฮั้ว พื้นที่ 600 ตารางเมตร 4.สวนหย่อมวัดสัมพันธวงศ์ พื้นที่ 600 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 5.สวนหย่อมซอยโปลิศสภา พื้นที่ 500 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ปรับปรุงพื้นที่ริมคลองผดุงกรุงเกษมให้สะอาดเรียบร้อย สำรวจพื้นที่ว่างเพิ่มเติมที่มีความเหมาะสมเพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อให้สวนดังกล่าวเกิดประโยชน์จากการใช้งานอย่างแท้จริง
ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายชัยวัฒน์ รังษีภโนดร ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสัมพันธวงศ์ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล