ต้องยอมรับว่า “โรงซ่อมสุขภาพ” ของประเทศไทย หรือก็คือระบบสาธารณสุข ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลสูงเป็นลำดับที่ 5 ของโลก แต่ในขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจมองข้ามได้คือ เรายังขาด “โรงเสริมสุขภาพ” ที่เข้มแข็ง ในขณะที่ประชาชนยังคงเผชิญปัญหาสุขภาพที่ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
ดังนั้น “การตรวจเอนไซม์ตับ” จึงถือเป็นการ “จุดชนวน” ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ตั้งเป้าให้เป็นแนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ เพราะการดื่มมากเกินไปเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดทั้งโรคตับแข็ง มะเร็งตับ เส้นเลือดสมองแตก โรคทางจิตเวชอื่น ๆ และอุบัติเหตุที่อาจส่งผลต่อการเสียชีวิต
สอดคล้องกับข้อมูลสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบ คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 5.73 ล้านคน เคยดื่มหนักใน 12 เดือนที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 10.05% เป็นเพศชาย 5.05 ล้านคน และเพศหญิง 0.68 ล้านคน นักดื่มหนักส่วนใหญ่ 4.36 ล้านคน หรือ 7.65% ดื่มหนักเป็นครั้งคราวเท่านั้น (ดื่มน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์)
ภาคเหนือมีนักดื่มหนักสูงสุด 13.01% แบ่งเป็นนักดื่มหนักประจำ 2.51% และนักดื่มหนักเป็นครั้งคราว 10.50% ขณะที่ภาคใต้มีนักดื่มหนักต่ำที่สุดคือ 4.62% อย่างไรก็ตาม ทุกภาคมีแนวโน้มมีนักดื่มหน้าใหม่ที่เริ่มดื่มอายุน้อยลงใกล้เคียงกันเฉลี่ยอายุ 20.32 ปี
เดินหน้าผ่าน “โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน” ซึ่งเป็นการรวมพลังระหว่าง สสส. ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และมหาวิทยาลัยทักษิณ มาตั้งแต่ปี 2566 และปัจจุบันมีต่อยอดสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ
เนื่องในวันออกพรรษาที่ผ่านมา สสส. ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยนำเครือข่ายหมออนามัยวิชาการลงพื้นที่ ชุมชนบ้านสี่แยกสวนป่า จ.นครศรีธรรมราช อีกหนึ่งพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของชุมชนชวนคน ลด ละ เลิกเหล้า ภายใต้โครงการดังกล่าวฯ โดยมีการเจาะเลือดตรวจหาค่าเอนไซม์ตับ พร้อมทั้งส่งต่อความรู้แก่ผู้ดื่มให้ลด ละ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“สสส. ได้บูรณาการองค์ความรู้ด้านปัจจัยเสี่ยงหลักและระบบบริการสุขภาพ โดยขยายความร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ ส่งเสริมการทำงานร่วมกับอสม. ในการเชิญชวนประชาชนเข้ารับการคัดกรองความเสี่ยงต่อการดื่มแอลกอฮอล์ หากผู้เข้ารับการคัดกรองมีคะแนนความเสี่ยงสูง จะถูกชักชวนให้มาตรวจค่าเอนไซม์ตับเพื่อประเมินความผิดปกติทางสุขภาพต่อไป การตรวจเอนไซม์ตับถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ใช้เข้าหานักดื่ม คนกินเหล้าเขาไม่เลิกหรอก แต่อยากตรวจ อยากรู้ว่า ตนเองเป็นอย่างไร แต่พอเขารู้ มันจะเป็นเหมือนสื่อกลางที่ชักชวนให้เขา ลองลด ลองละ ลองเลิก จากที่เอนไซม์ตับเป็นร้อย ๆ พอเลิกปุ๊บเอนไซม์ตับดีขึ้น จากที่เดินแล้วเหนื่อย ก็ดีขึ้น เลิกเหล้าก็แข็งแรงขึ้น นั่นคือรางวัลที่หนึ่ง ส่วนรางวัลที่สอง คือการได้กลับมาดูแลสุขภาพหลังจากนั้น”
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวต่อว่า ตับถือเป็นอวัยวะสำคัญอันดับต้น ๆ รองจากสมองและหัวใจ เพราะเมื่อกินอาหารเสร็จ ทุกอย่างจะถูกย่อยแล้วผ่านตับ ตับจะมีหน้าที่สำคัญในการแยกของดีและของเสีย ถ้าของเสียตับจะเอาไปทำลาย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเราดื่มแอลกอฮอล์เกิน ตับทำลายไม่ทัน โดยผู้จัดการกองทุน สสส. ย้ำถึงปริมาณที่ตับทำลายไหวนั่นคือ “1-2 ดื่มมาตรฐาน เหล้าแดง 2 ฝา เหล้าขาว 2 เป็ก เบียร์ 1 กระป๋อง” แต่ทั้งนี้การไม่ดื่มจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
“ร่างกายเราก็เหมือนรถ เราหยดเหล้า บุหรี่ลงไปทำลายสุขภาพทุกวัน ๆ ขับไปขับมา เครื่องดับระหว่างทาง เราโทษโชคร้าย โชคชะตา ดวงไม่ดีบ้าง บางทีเมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุตาย หรือทำให้คนอื่นตาย สุดท้ายเราก็โทษดวง สงสัยชาติที่แล้วทำกรรมไว้เยอะ แต่จริง ๆ ต้องกลับมาดูว่า เราจะดูแลรถหรือสุขภาพเราดีแล้วหรือยัง ซึ่งก่อนที่จะสร้างเสริมสุขภาพ อยากให้หยุดทำลายสุขภาพก่อน รวมไปถึงสารที่ทำลายสุขภาพด้วย”
นพ.พงศ์เทพ ทิ้งท้ายว่า นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มีการดื่มน้อยที่สุดในภาคใต้เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ แสดงให้เห็น ถึงวัฒนธรรมการดื่มที่ไม่สูงนัก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ดีในการที่จะผลักดันให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ดี ทุกภาคมีความหลากหลายของวัฒนธรรมและความเชื่อประเพณีที่แตกต่างกัน ส่วนสำคัญที่ชัดเจนคือระบบบริการปฐมภูมิ ผอ.รพ.สต. เจ้าหน้าที่มีความตั้งใจในการส่งต่อความรอบรู้เรื่องสุขภาพ คำนึงถึงชีวิตของผู้คน และคำนึงถึงความเจ็บป่วยที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงการลดการตายและการพิการก่อนวัยอันควรได้ ซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักของ สสส. เช่นกัน ที่อยากให้เกิดความพิการและการตายที่ลดลง นำไปสู่อายุค่าเฉลี่ยของคนไทยที่ยืนยาวขึ้น
หลังมีการดำเนินงานอย่างเข้มข้น ปัจจุบันมีการต่อยอดไปกว่า 80 พื้นที่ รพ.สต. ทั่วประเทศ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการดำเนินงานมากที่สุด เนื่องจากความชุกของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูง ในขณะที่ภาคใต้มีการดำเนินการใน 5 จังหวัด
ดร.บุญเรือง ขาวนวล รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและภารกิจพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ และนายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยฯ ให้ข้อมูลว่า โครงการมีการประเมินและคัดกรองพฤติกรรมผู้ดื่มด้วยแบบประเมินปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (AUDIT Score) ทุกพื้นที่ รวม 14,161 คน พบเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการดื่มอยู่ในกลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยง (Hazardous Drinker) 4,515 คน คิดเป็น 31.88% ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบ และได้เชิญชวนกลุ่มเสี่ยงให้ตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ
โดยมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 3,875 คน คิดเป็น 85.83% จากการตรวจเลือด ครั้งที่ 1 มีค่าเอนไซม์ตับผิดปกติ คือมีค่าเอนไซม์ตับเกิน 35 ยูนิต/ลิตร จำนวน 867 คน คิดเป็น 22.37% การตรวจเลือดครั้งที่ 2 ในช่วงก่อนเข้าพรรษาซึ่งห่างจากครั้งแรก 3 เดือน มีผลผิดปกติลดลงเหลือ 628 คน คิดเป็น 17.34% ผลจากตรวจค่าเอนไซม์ตับและกระบวนการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ จากการประเมิน AUDIT Score พบว่า ส่วนใหญ่ลด ละ การดื่ม โดยผู้ดื่มแบบติด (Alcohol depend) ลดลงจาก 16.31% เหลือ 13.83% และสามารถเลิกดื่มได้มากถึง 10%
“จากการขับเคลื่อนเห็นได้ว่า ตัวเลขลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ ต้องขอบคุณ สสส. และความเข้มแข็งของอสม.กับเครือข่ายหมออนามัย รวมทั้งส่วนหนึ่งของความสำเร็จ เหมือนเป็นยาวิเศษของโครงการครั้งนี้ คือค่าเอนไซม์ตับ ที่ทำให้คนตัดสินใจในการลด ละ เลิก เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นมาก เดิมทีแค่ชวน ลด ละ ก็ยากแล้ว ส่วนเลิกอาจต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ แต่ตอนนี้ใช้เวลาเพียง 3 เดือนเห็นผลชัดมาก”
แม้ รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า จะเป็นพื้นที่ที่เล็กที่สุดของหน่วยบริการสาธารณสุขจากทั่วประเทศ แต่การขับเคลื่อนโครงการฯ ของที่นี่กลับเต็มไปด้วยความเข้มแข็ง ซึ่งนับเป็นหัวใจหลักของการทำงาน และอีกหนึ่งจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้ คือการนำสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยเข้ามาบำบัดและฟื้นฟูกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการเลิกแอลกอฮอล์
โดย ผอ.ธีรวัฒน์ แดงกะเปา หรือ หมอวัฒน์ ผอ.รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า เล่าให้ฟังง่าย ๆ ว่า รพ.สต. บ้านสี่แยกสวนป่ามีการแพทย์แบบผสมผสาน ซึ่งรวมทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ศาสตร์แพทย์แผนไทยถูกนำเข้ามาบำบัด ด้วยวิธีการนวด อบ ประคบ หัตถการอื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการรักษา อีกส่วนหนึ่งใช้สมุนไพรเข้ามาบำรุงและฟื้นฟูสุขภาพ อาทิ รางจืด เตยหอม ชาชงเพื่อสุขภาพ เนื่องจากร่างกายได้รับผลกระทบจากการดื่มมาต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์แพทย์แผนไทยยังสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยอื่นได้ ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เท่านั้น
“อีกผลพลอยได้คือศาสตร์แพทย์แผนไทยจะมีเวลาอยู่กับคนไข้เยอะพอสมควร บางหัตถการที่ทำต้องอยู่กับคนไข้เป็นเวลานาน ระหว่างนั้นก็สามารถที่จะแนะนำ แลกเปลี่ยนพูดคุยได้ เพื่อที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เหมือนเป็นโค้ชไปในตัวได้เลย ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันอาจมีข้อจำกัดบางเรื่อง ทั้งเรื่องจำนวนคนไข้ที่เข้ารับบริการ หรือไม่มีเวลามากพอ ที่นี่ก็มีแพทย์แผนไทยคอยดูแลอีกทาง”
ทั้งนี้ แนวทางการเดินหน้าก้าวต่อไปของโครงการฯ หมอวัฒน์ มองไปถึงการ ‘เปลี่ยน’ ผู้ถูกบำบัดไปสู่การเป็น ‘กระบอกเสียง’ ในชุมชน โดยปัจจุบันมีผู้เข้ารับการบำบัดอยู่ในความดูแลของ รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่าประมาณ 50 คนจากทั้งหมด 4,095 คน
“50 คนที่มีอยู่ เราได้ค่าตับของเขาหมดแล้วว่า คนไหนเป็นอะไรอย่างไร ต้องเข้าโปรแกรมการบำบัดแบบไหน แต่ในระยะถัดไปคิดว่า กลุ่มคนเหล่านี้หรืออย่างน้อยส่วนหนึ่ง เราจะสามารถใช้เป็นกระบอกเสียงหรือตัวเชื่อมระหว่างเรากับกลุ่มนักดื่มในชุมชนได้ ต้องบอกตามตรงว่า บุคคลาการทางด้านสาธารณสุขไม่สามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มนักดื่มได้เท่าที่ควร เพราะเราก็ไม่ดื่ม อยู่ ๆ ไปชวนเขาให้เลิกดื่ม มันก็ยาก แต่ถ้ามีกระบอกเสียงเหล่านี้ เขาก็มีความรู้ความเข้าใจว่า การลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ค่าตับดีขึ้นหรือสุขภาพของเขาดีขึ้นอย่างไร สามารถถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องและวิธีเหล่านี้ออกไปได้ และหวังว่า เขาจะกลายเป็นโค้ชที่จะมาจัดการเรื่องสุขภาพของคนในชุมชนต่อไป ในระยะยาวกว่านั้น เราหวังให้เกิดการขับเคลื่อนในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่า เราจะมีโอกาสได้กลุ่มเป้าหมายในการดูแลและบำบัดเพิ่มมากขึ้น”
ทั้งนี้ นอกจากโครงการดังกล่าว ก็ยังมีการขับเคลื่อนโครงการป้องกันนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมกับขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพภายใต้แนวคิดสุขภาพต้นทุนต่ำ
เมื่อถามถึงภาพรวมความสำเร็จ ในฐานะคนที่ขับเคลื่อนโครงการมา หมอวัฒน์ มองว่า ค่าใช้จ่ายในการทำเรื่องเอนไซม์ตับที่จริงถูกมากเมื่อเทียบกับการที่ทำให้คนหนึ่งคนเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งถ้าถามว่า งานชิ้นนี้คุ้มทุนไหม มันคุ้มทุนแน่นอน เพราะทำให้คนกลับมาเลิกเหล้าได้ ค่าตับดีขึ้น ได้เห็นคนที่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวลงได้ ผมว่า มันคุ้มค่ามาก
ด้านอดีตนักดื่มที่เข้าร่วมโครงการ นางสาวปัทมา หมื่นศรี อายุ 28 ปี ชุมชนบ้านสี่แยกสวนป่า ต.วันหิน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า เริ่มดื่มแอลกอฮอล์มาตั้งแต่อายุ 17 ปี เนื่องจากที่บ้านมีธุรกิจส่วนตัว หลังเลิกงานก็มีการรวมกลุ่มพูดคุยเรื่องงาน และสังสรรค์เป็นประจำทุกวัน จนเรียกว่า ติดเหล้าเลยก็ว่าได้ เสียค่าใช้จ่ายกับค่าเหล้าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,000-5,000 บาท โดยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเมื่อได้รับการชักชวนจากอสม.ในชุมชน ครั้งแรกตรวจพบว่า ค่าเอนไซม์ตับ 40 ยูนิต/ลิตร ยอมรับว่า ตกใจเพราะเป็นผู้หญิงคนเดียวที่มีค่าเอนไซม์ตับค่อนข้างสูง จากนั้นตนเลยตัดสินใจเลิกดื่มทันที
ปัจจุบันตนเลิกดื่มมาประมาณ 3 เดือน ช่วงแรก ๆ ของการเลิกจะมีอาการกระวนกระวาย แต่ก็พยายามห้ามใจไว้ ใช้เทคนิคการกินลูกอมเพื่อช่วยลดความอยาก พร้อมกับใช้สมุนไพรจากรพ.สต. ช่วยบำบัด ซึ่งผลที่ได้คือรู้สึกแข็งแรงขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย และน้ำหนักลดไปเกือบ 13 กก. อีกทั้งยังมีเงินเก็บมากขึ้น นอกจากนี้ สามีก็ตัดสินใจเลิกดื่มไปด้วย และได้ชักชวนเพื่อน ๆ ในชุมชนให้เลิกดื่มเช่นกัน