“หมอธีระวัฒน์” เผยผลศึกษาในบราซิลเชื้อโควิดสามารถติดเข้าไปเซลล์ของลูกอัณฑะได้ ส่งผลต่อคุณภาพของเชื้ออสุจิ มีผลต่อการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ผู้ติดเชื้อควรงดมีลูกอย่างน้อย 24 สัปดาห์หลังรับเชื้อ
วันนี้(16 ต.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ในหัวข้อ “โควิดติดในสเปิร์ม และ คุณภาพไม่ดี” มีรายละเอียดระบุว่า
ไวรัสโควิดเมื่อเข้าร่างกายแล้ว กระจัดกระจายทั่วไปในร่างกาย และค้างอยู่ในอวัยวะ ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว และคนที่ตายด้วยสาเหตุอื่น แม้หลังจากอาการหายแล้ว การชันสูตรศพก็พบมีไวรัสอยู่ทั่วทุกอวัยวะ แม้แต่ในสมอง ต่อมน้ำเหลือง ในเซลล์ของอัณฑะ รวมกระทั่งถึงเซลล์ที่ผลิตสเปิร์ม
แต่ที่ต้องสนใจคือ ในคนเป็นๆ ที่ติดโควิดเข้าโรงพยาบาลในระดับปานกลางถึงหนัก และออกจากโรงพยาบาลมาแล้ว 3 เดือน โดยพบว่า 9 ใน 13 ราย ตัวสเปิร์มยังมีไวรัสอยู่ จากการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (transmission electron microscopy) แต่ตรวจด้วยพีซีอาร์ไม่เจอ นอกจากนั้น ยังมีความผิดปกติในตัวสเปิร์มด้วย
ทั้งนี้เซลล์ในลูกอัณฑะ รวมถึง เซลล์ Sertoli Leydig และเซลล์ที่สร้างตัวอสุจิ สามารถจับรับไวรัสได้ เนื่องจากมี furin TMPRSS11B และ TMPRSS 12 ที่สามารถกระตุ้นเอนไซม์ proteases และทำให้ยอมรับไวรัสเข้าเซลล์ โดยที่ผนังปราการกั้นระหว่างหลอดเลือดกับอัณฑะนั้นไม่แข็งแรงด้วย รายงานก่อนหน้านี้ พบว่า ตัวสเปิร์มบาดเจ็บจากการที่มีสารอักเสบทะลักออกมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ Sertoli และยังมีผลกระทบโดยตรงจากการที่ไวรัสไปจับที่ผิวของสเปิร์ม
การที่ไวรัสสามารถเจาะเซลล์ leydig ได้ ทำให้กระทบการสร้างฮอร์โมนเพศชายและสารสเตียรอยด์ตัวอื่นๆ นอกจากนั้น leydig ยังมีบทบาทในการอุ้มชูเซลล์ Sertoli ที่ควบคุมในการสร้างสเปิร์ม
ตัวลูกอัณฑะเองนั้น มีกลไกเหมือนกับอวัยวะอื่น เช่น ในปอด ในการต่อสู้กับอันตราย ทั้งนี้ ในอวัยวะอื่นนั้นใช้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ และปล่อยสารข้นเหนียวขุ่นคลั่ก ที่เรียกว่า ETs หรือ extracellular traps ซึ่งเป็นกลไกต่อต้านเชื้อโรคแต่ทำให้เซลล์เสียหายได้ด้วย และผู้ป่วยทั้งหมดนี้ ที่หายดีแล้วนี้ พบว่ามี DNA based ETs ทั้งหมด โดยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อและการที่พยายามกำจัดไวรัส (ETosis-like response)
จากผลการศึกษานี้ คณะผู้วิจัยได้เสนอว่า ต้องไม่ให้มีการติดลูกอย่างน้อย สองรอบของการสร้างสเปิร์มนั่นก็คือ 24 สัปดาห์ ทั้งนี้รวมถึง ความประสงค์ที่อยากมีลูกโดยเพศสัมพันธ์ตามปกติ และการช่วยให้มีลูก เช่น การผสมเทียมด้วยวิธีต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของลูกที่จะเกิดมา
ในการศึกษานี้ ไม่ได้กล่าวถึงผู้ได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นที่รับทราบกันดีอยู่แล้วว่า วัคซีนสามารถกระจายไปทุกส่วนของร่างกายรวมทั้งลูกอัณฑะ และมีผลต่อเซลล์ที่สร้างสเปิร์ม และมีรายงานก่อนหน้านี้แล้วว่า สตรีที่ท้องและได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม มีความผิดปกติของการแท้ง ตายคลอด มดลูก มีรกผิดตำแหน่ง และยังมีผลต่อทารกที่เกิดมาอีกด้วย และผู้ชายในประเทศตะวันตกพบอสุจิไม่วิ่งอีกด้วย
รายงานนี้อยู่ในวารสาร andrology ทำการศึกษาโดยคณะจากบราซิล รับตีพิมพ์ 23 มกราคม 2024