“ชื่อของคุณถูกนำไปเปิดบัญชีม้าค่ะ”
“มีพัสดุตกค้างจากต่างประเทศครับ”
“พี่คะ หนูโอนแล้วไม่ได้ของค่ะ”
“ช่วยด้วย ป้าถูกหลอกให้แจ้งความออนไลน์”
และกลลวงอีกหลายรูปแบบที่ “มิจฉาชีพ” หรือ “มิจจี้” นำมาใช้ จนเกิดความเสียหายระดับหมื่นล้าน!
ใช่แล้ว คุณฟังไม่ผิด ตัวเลขจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไตรมาสที่ 1 เดือน ปี 2567 พบว่า ประชาชนแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ จำนวนไม่น้อยกว่า 400,000 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าหรือบริการ 41.94% หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 12.85% หลอกให้กู้เงิน 10.95% ตามมาด้วย หลอกให้ลงทุนผ่านคอมพิวเตอร์ และข่มขู่ทางโทรศัพท์ (แก๊ง Call Center)
โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่เหล่ามิจฉาชีพนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย นั่นคือ “ดีฟเฟค” (Deepfake) โดยอาศัยการใช้เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) สร้างวิดีโอหรือปลอมเสียงของบุคคลใกล้ชิด คนดัง หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างแนบเนียน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ กระตุ้นให้เหยื่อทำตามหรือโอนเงิน
สสส. ส่งเสริมการรู้เท่าทัน
สร้างเกราะป้องกันมิจฉาชีพ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) “.เปิดประเด็นด้วยข้อมูลจาก We Are Social ดิจิทัลเอเจนซีระดับโลกที่ระบุว่า คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 63 ล้านคน คิดเป็น 88% เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในรอบ 10 ปี และมีผู้ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียมากกว่า 49 ล้านคน หรือราว 68.3% เมื่อมีมือถืออยู่กับตัว ทำให้เป็นโอกาสทองของมิจฉาชีพ ที่สามารถเข้าถึงตัวได้ทุกที่ทุกเวลา สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้โครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ ปี 2567
โดย สสส. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยกว่า 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงออนไลน์และตกเป็นผู้เสียหาย 18.37 ล้านคน โดยผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อเพิ่มสูงขึ้น 22% สาเหตุมาจากผู้สูงอายุไม่เข้าใจกลโกงเหล่านี้ จึงสูญเสียทรัพย์สินเงินทองให้กับมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้เสียหายยังได้รับผลกระทบด้านอื่น ๆ เช่น ปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปัญหาขาดความเชื่อมั่นต่อการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ และปัญหาสุขภาพจิต
“ยิ่งคิดไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ถามว่า มีข้อดีไหม ก็มี แต่ข้อเสียก็เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวัง ใครเคยเห็นรูปหรือข้อมูลจาก AI จะบอกว่า มันแนบเนียนมากจริง ๆ บางทีเรายังเชื่อเลย ซึ่งมันยิ่งทำให้คนถูกหลอกได้ง่ายมากขึ้น บางครั้งแทบไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีคือโอนเงินไปแล้วด้วยความยินยอมพร้อมใจ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องมาร่วมกันขับเคลื่อนงานนี้”
เวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ถูกจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 28 ภายใต้หัวข้อ “Next levels to counter fraud & deepfake: What’s else should we act ? ยกระดับรับมือมิจจี้ภัยการเงิน จากพลเมืองเท่าทันสู่นโยบายสาธารณะในยุคดีพเฟค” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่ายกว่า 11 องค์กร
“เวที Digital Thinkers Forum แต่ละครั้งจะมีจุดเด่นที่หารือแตกต่างกันไป สำหรับครั้งนี้เป็นเรื่องมิจฉาชีพที่มากับภัยการเงินในยุคดิจิทัล โดยเป้าหมายหลักคือเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้แก่สังคม ป้องกันพิษภัยจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีทั้งข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเชื่อและความรู้ผิด ๆ รวมทั้งพัฒนาระบบนิเวศสื่อ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำให้ระบบสื่อดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลวิชาการ ระบบดิจิทัลแพตฟอร์ม และการสื่อสาร ซึ่งไม่ว่าต่อไปมิจฉาชีพจะมารูปแบบไหน เราก็ยังจะสู้ต่อ เราต้องเก่งกว่า เร็วกว่า เพื่อช่วยให้คนไทยและคนที่อยู่ในความเสี่ยงสามารถรู้เท่าทันและรับมือได้”
กลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างความรู้เท่าทันมิจฉาชีพในอันดับแรกคือการพัฒนาข้อมูลวิชาการ นั่นคือสิ่งที่ ดร.นพ.ไพโรจน์ ให้ความเห็น “ที่ผ่านมา สสส. มีการทำวิจัยข้อมูลเชิงลึกร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง อาทิ ข้อมูลชุดสุขภาพร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข การเงินร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย เราเข้าร่วมทำงานและนำข้อมูลมาย่อย เพื่อส่งต่อให้ถึงประชาชนรับรู้โดยง่าย สร้างกระแส มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ๆ ตลอด และยังต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อบล็อกตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งแน่นอนว่า สสส. ไม่สามารถทำได้แค่องค์กรเดียว แต่ต้องทำกับองคาพยพอีกหลายภาคส่วน ขับเคลื่อนผ่านภาคประชาสังคม นักวิชาการอิสระ และหน่วยงานภาครัฐถึงจะประสบความสำเร็จ”
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รายงานสถานการณ์การหลอกลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทยประจำปี 2567 โดยบริษัท โกโกลุก (Gogolook) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Whoscall ร่วมกับองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก (GASA) และ ScamAdviser พบว่า คนไทย 1 ใน 3 หรือราว 39% สูญเสียเงินให้มิจฉาชีพภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ และมีเพียง 2% ที่ได้ทรัพย์สินคืนทั้งหมดหลังจากถูกหลอก ถือว่าเป็นการถูกหลอกลวงบ่อยขึ้น มิจฉาชีพหลอกลวงสำเร็จในเวลาสั้น และโอกาสได้เงินคืนน้อยลง ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา พบรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อคนไทย หลายภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด เพื่อลดความเสียหาย โดยบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง และสิ่งสำคัญคือ การกระตุ้นให้ประชาชนมีความพร้อมในการรับมือภัยมิจฉาชีพในยุคดีพเฟค
“รายงานความเสี่ยงโลก 2024 (Global Risk Report 2024) ระบุว่า ผลกระทบจากการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จและข่าวลวงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเป็นความเสี่ยงสำคัญอันดับหนึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้า และไปถึงอีก 10 ปี (ปี 2577) โดยทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเนื้อหาหรือตัดต่อภาพที่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน และนำไปสู่รอยร้าวทางสังคมหรือความเสียหายทางเศรษฐกิจ”
พร้อมแนะนำให้ตรวจสอบข่าวก่อนแชร์ ป้องกันการถูกหลอกลวง สามารถเข้าใช้งานได้ ที่เว็บไซต์ cofact.org และทาง Line แชตบอทโคแฟค @cofact ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กฎหมายเข้ม หน่วยงานแกร่ง
แต่ “มิจจี้” ยังล้ำหน้า
สำหรับประเด็น Deepfake ที่หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วมันสามารถมาโอนเงินแทนเราได้หรือไม่ นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอบข้อกังวลดังกล่าวไว้ว่า Deepfake เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการหลายคนอาจกังวลว่า อาจถูกนำไปใช้เพื่อแอบอ้างในการทำธุรกรรม เช่น การโอนเงินผ่านระบบ Mobile Banking ซึ่งปัจจุบันใช้ระบบสแกนใบหน้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยืนยันตัวตนในบางกรณีที่มียอดเงินสูง เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว อาจเริ่มที่การป้องกันตนเอง และให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
โทรศัพท์ การทำธุรกรรมออนไลน์ผ่าน Mobile Banking ควรใช้โทรศัพท์เครื่องเดียวที่เป็นของผู้ใช้งานเท่านั้น ไม่ควรให้ผู้อื่นใช้โทรศัพท์ของเราในการทำธุรกรรมใด ๆ การตั้งรหัส PIN 6 หลัก ควรเก็บ PIN เป็นความลับและหลีกเลี่ยงการใช้รหัสที่ซ้ำกับรหัสอื่น ป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลอื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต การสแกนใบหน้า เป็นมาตรการยืนยันตัวตนอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งควรระมัดระวังและอย่าสแกนหน้าโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ ควรระมัดระวังการดาวน์โหลดแอปฯ จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ที่น่าสงสัย และไม่เชื่อถือข้อความที่แอบอ้างเป็นบุคคลอื่น เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทุกรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะ Deepfake
ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์ นายภิญโญมองว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรการการป้องกันมิจฉาชีพที่เข้มแข็งระดับต้น ๆ ของโลก เริ่มจาก มิติของกฎหมาย ย้อนกลับไปไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน สำหรับการป้องกันอาชญากรรมทางออนไลน์ และการจัดการกับ “บัญชีม้า” แต่ในปัจจุบัน จุดอ่อนดังกล่าวได้รับการแก้ไข โดยมีการออก พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยมีประเด็นสำคัญคือการเอาผิดกับเจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้าโดยตรง ซึ่งมีโทษอาญาหนักจำคุก 3 ปี หรือปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มิติของความร่วมมือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ AOC ซึ่งเป็น One-Stop Service เพื่อให้บริการแบบครบวงจร มิติของเทคโนโลยี พัฒนาระบบ Central Fraud Registry (CFR) เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางการเงินต้องสงสัยข้ามธนาคารผ่านระบบดังกล่าว ยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน อาทิ การระงับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกบัญชี จนกว่าผู้ที่ถูกระงับจะเข้ามาพิสูจน์ข้อเท็จจริง รวมไปถึงพิจารณาไม่อนุญาตให้เปิดบัญชีใหม่
“3 จุดแข็งที่มีวันนี้ แต่ในอนาคตอาจไม่เพียงพอแล้ว ตอนนี้กฎหมายยังไม่ได้ครอบคลุมถึงการเยียวยา นำเงินกลับมาคืนให้ผู้เสียหาย หรือเรื่อง Cryptocurrency (สกุลเงินดิจิตอล) ส่วนเรื่องความร่วมมือ เรามองว่า มันอาจจะไม่มากพอ ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลก็ยังช้าไป ควรพัฒนาระบบให้เป็นออนไลน์และอัตโนมัติ โดยเฉพาะเรื่อง Mobile Banking เพื่อให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”
“อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดอ่อนที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ได้แก่ จุดอ่อนของตนเอง หากเป็นผู้สูงอายุ อาจมีความใจอ่อนต่อเพื่อน ญาติ หรือคนที่ไม่รู้จัก อาจนำไปสู่การโอนเงินในที่สุด หรือในกรณีคนที่อยู่คนเดียว มีความเหงา อาจถูกหลอกเป็นรักออนไลน์ หรือ Romance Scam หรือแม้แต่คนรายได้เยอะ อยากหารายได้เพิ่ม ก็อาจเจอกับคนโทรมาหลอกให้ลงทุน”
ไหนว่าจะไม่หลอกกัน
“Romance Scam” กับดักคนเหงายุค 5G
ขณะที่มุมมองของ พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) มองว่า มิจฉาชีพที่จัดการยาก คือ “Romance Scam หรือ หลอกให้รักออนไลน์” โดยหลอกลวงเหยื่อผ่านการสร้างความสัมพันธ์ โดยมิจฉาชีพจะสร้างโปรไฟล์ออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งส่วนมากมักเจอผ่านโซเชียลมีเดียหรือแอปฯ หาคู่ เป้าหมายหลักคือหลอกให้เหยื่อโอนเงินหรือทรัพย์สินต่าง ๆ หรือไปจนถึงการทำสิ่งผิดกฎหมาย แม้สถิติ Romance Scam มีจำนวนเคสลดลง ซึ่งการพิจารณาตัวเลขเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องพิจารณาไปถึงมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยกว่ารูปแบบอื่น
“Romance Scam มีมาคุยกับ สกมช. ประมาณ 4-5 เคส ติดแล้วไม่หาย เพราะเขาหลงแล้วหลงเลย บางคนโดนเป็นแสน บางคนหมดไปเป็น 10 ล้านก็มี ซึ่งมีเหยื่อหลายวัย ปัจจุบันมีเคสที่เราพยายามช่วยแต่ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไรดี อายุ 70 ปี โอนไป 34 ล้าน ตอนนี้ขายบ้านแล้วก็เตรียมโอนให้เขาอีก 5 ล้าน แก้ยากมาก ซึ่งเคสแบบนี้ ผมบอกเลยนะว่า ถ้าวันไหนได้สติปุ๊บ เขาก็จะถามเรากลับว่า ทำไมไม่มีใครช่วยเขา ทำไมเอาเงินฉันคืนมาไม่ได้”
ในทำนองเดียวกัน เลขาฯ สกมช. เน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวังการตลาดแบบ MLM (Multilevel Marketing) ที่ใช้การโปรโมทโดยคนดังหรือ Influencer ซึ่งกำลังเป็นกระแสในขณะนี้ เพื่อดึงดูดคนให้เข้าร่วมธุรกิจ โดยการนำยอดขายและกำไรมาเป็นแรงจูงใจ ซึ่งทำให้คนหลงเชื่อได้ง่าย
“MLM เป็นรูปแบบที่มีมานานแล้วและจะมีต่อไป ถึงยังไม่มี Deepfake แต่การใช้คนดังที่เราแค่เห็นหน้าเขา เราก็พร้อมเชื่อใจ มันเป็นสิ่งที่จะทำให้คนถูกหลอกต่อไป ในขณะประเด็นสำคัญคือธุรกิจนี้คือธุรกิจของคนไทย ที่หลอกคนไทยด้วยกันเอง ไม่ได้เกี่ยวกับสถานะทางสังคมด้วยว่า เหยื่อต้องจนหรือรวย บางคนรวยอยู่แล้วคิดจะหาประโยชน์เพิ่มก็มาหลอกเราอีก เพราะฉะนั้นการคิดเชิงวิเคราะห์ในส่วนที่ว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ มันเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเตรียมตัวไว้”
ทั้งนี้ เลขาฯ สกมช. ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการป้องกันตัวจากกลโกงออนไลน์ คือ หลีกเลี่ยงการรับสายจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก อย่ากดลิงก์ที่ส่งผ่าน SMS และ อย่าคุยกับคนแปลกหน้าบนโซเชียล ผู้ชายบางคนอาจโดนแบล็คเมล์ ผู้หญิงบางคนถูกหลอกให้ลงทุน หรือเปิดทางสู่กลโกง Romance Scam
พร้อมเสริมว่า มิจฉาชีพมักใช้เทคนิคการทำให้เหยื่อรู้สึกกลัวจากการบีบบังคับ รู้สึกโลภ หรือหลงรักอย่างสุดหัวใจ จนนำไปสู่การโอนเงิน ประชาชนจึงควรมีสติและระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อกลโกงเหล่านี้
“ในปีต่อไป สกมช. ตั้งเป้าเพิ่มการเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในวงกว้าง ในขณะเดียวกันจะทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น และอยากให้มองปัญหาเรื่องนี้เหมือนโควิด-19 ซึ่งที่รอดมาได้เป็นเพราะประชาชนร่วมมือกันสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ลดการสัมผัสเชื้อ เช่นเดียวกับการป้องกันกลโกงออนไลน์ ซึ่งถ้าเงินไม่เข้าไปหามัน มันก็อยู่ยากขึ้น เดี๋ยวมันก็ไปทำอาชีพอื่น เพราะฉะนั้น เราช่วยกันให้มันหมดทางทำมาหากิน ลดการไปเป็นเหยื่อ เชื่อได้ว่า เดี๋ยวจะผ่านพ้นไปได้”
อย่างไรก็ดี เมื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ พลอากาศตรีอมร แนะนำว่า ต้องรีบโทร สายด่วนตำรวจไซเบอร์ 1441 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ธนาคารพร้อมช่วยเหลือ ทั้งการแจ้งความออนไลน์และอายัดบัญชีคนร้ายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ธนาคารได้มีการเพิ่มคู่สายในแต่ละวัน เพื่อรองรับผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึง หรือ แจ้งความออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ https://thaipoliceonline.go.th/ เท่านั้น
การถูกหลอกไม่ใช่ฟาดเคราะห์
แต่คืออาชญากรรม
ด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) นำเสนอมุมมองว่า สภาวะที่ประชาชนยังคงได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกเป็นวงกว้าง สถานการณ์ตอนนี้อาการมันคล้าย ๆ กับการระบาดของโควิด-19 ที่คนนี้โดน คนนั้นก็โดน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ระบบรัฐยังคงต้องการความแข็งแรงและจำเป็นต้องประกาศเป็นวิกฤตของชาติ และมีมาตรการพิเศษควบคุมอย่างเร่งด่วน ในทำนองเดียวกันกับการรับมือโควิด-19
ขณะที่ทางสภาผู้บริโภคเน้นย้ำมาตลอดว่า นี่ไม่ใช่เพียงวิกฤตของสังคม แต่เป็นวิกฤตการเงินของประเทศชาติ เพราะอยู่ดี ๆ เงินไหลออกจากระบบ โดยไม่เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ ไม่ว่าจะทั้งคนรวยหรือคนจน ซึ่งปัญหานี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป
“เมื่อไม่สามารถจัดการได้ เหยื่อต้องยอมรับสภาพว่า มันเป็นเรื่องของบุญกรรม หรือการฟาดเคราะห์อะไรทำนองนั้น ผมคิดว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ยังไม่นับรวมประเด็นปัญหาที่ยังห่วงอยู่ก็คือการเยียวยาความเสียหายที่ยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง”
แต่อย่างไรท่ามกลางความน่ากังวลก็ยังมีข่าวดีให้ได้เห็น โดยล่าสุด สภาผู้บริโภคสามารถผลักดัน “มาตรการส่งดี ( Dee-Delivery)” จนประสบความสำเร็จ โดยประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา“เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567” ว่าด้วย ผู้บริโภคที่สั่งซื้อของออนไลน์ สามารถเปิดพัสดุ เพื่อตรวจสอบสินค้าได้ก่อนจ่ายเงิน ตลอดจนการบังคับให้ร้านค้าแสดงข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับชื่อร้าน เบอร์โทรศัพท์ และรายละเอียดต่าง ๆ บนใบเสร็จหรือใบส่งสินค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 3 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้าผลักดัน เพื่อขอการพิจารณามาตรการชดเชยให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับการหลอกลวงทางออนไลน์
ในขณะเดียวกัน จะเห็นว่า หลายประเทศเริ่มใช้กฎหมายเข้ามาช่วยในการจัดการและควบคุม Deepfake ใน สหรัฐอเมริกา หลายรัฐเริ่มบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ Deepfake ห้ามการสร้างและเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอม สหภาพยุโรป (EU) มีกฎหมาย AI Act ที่ครอบคลุมไปถึงการใช้ Deepfake ที่ต้องบอกบริบทการใช้งานอย่างชัดเจน ไม่สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภค
ถัดมาที่แถบเอเชีย จีน มีกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) รวมถึง Deepfake ในขณะที่ เกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของ Deepfake มากที่สุดในโลก ซึ่งส่วนมากถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมทางเพศ ซึ่งสำหรับผู้กระทำความผิดดังกล่าว จะต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 50 ล้านวอน (ราว 1.2 ล้านบาท) รวมทั้งเอาผิดกับผู้ครอบครอง บันทึก หรือแม้แต่ผู้ชมด้วย
จะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีการควบคุม Deepfake ส่วนใหญ่มุ่งเน้นป้องกันการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดและการเคารพสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งก็หวังว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีการพัฒนากฎหมายและมาตรการที่ชัดเจน เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนต่อไป