บางคอแหลมจับตาฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างโครงการสเคปเจริญกรุง-พระราม 3 คุมเข้มแนวแผงค้าหน้าศูนย์บริการสาธารณสุข 18 ยกต้นแบบคัดแยกขยะโรงเรียนวัดลาดบัวขาว พัฒนาสวนหย่อมใต้สะพานพระราม 3
วันนี้ (8 ต.ค.) เวลา 12.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางคอแหลม ประกอบด้วย
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริเวณสถานที่ก่อสร้างบริษัท สเคป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซอยเจริญกรุง 107 (ซอยประดู่ 1-ตรอกวัดจันทร์ใน) ซึ่งดำเนินโครงการสเคป เจริญกรุง-พระราม 3 เป็นการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ความสูง 8 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน ประเภทสถานที่ก่อสร้าง ประเภทตรวจวัดควันดำอู่รถสาธารณะ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าศูนย์บริการสาธารณสุข 18 ซอยจันทน์ 43 แยก 33 ถนนจันทร์ มีผู้ค้า 28 ราย ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่ตั้งวางแผงค้าบนทางเท้า มีบางส่วนตั้งวางแผงค้าหน้าอาคาร ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 114 ราย ได้แก่ 1.ถนนเจริญกรุง 89-91 ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 89/1 ถึงปากซอยเจริญกรุง 91 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 2.ตลาดบางคอแหลม ตั้งแต่ปากซอยเจริญกรุง 107 ถึงหน้ามัสยิดอัสสละฟรียะห์ ผู้ค้า 41 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. 3.ฝั่งบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ถนนเจริญราษฎร์ ตั้งแต่เชิงสะพานข้ามคลองบางโคล่ ถึงประตูทางเข้าบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. และฝั่งตรงข้ามบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ถนนเจริญราษฎร์ ตั้งแต่เชิงสะพานข้ามคลองบางโคล่ ถึงอาคารเลขที่ 4236/197 ผู้ค้า 55 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. สำหรับพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 42 ราย ได้แก่ 1.ซอยเจริญกรุง 99 ตั้งแต่ปากซอยเจริญกรุง 99 ถึงบริเวณข้างสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 2.หน้าศูนย์บริการสาธารณสุข 18 ตั้งแต่ซอยจันทน์ 43 แยก 33 ถึงหน้าบ้านเลขที่ 877 ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าอยู่ระหว่างรอประกาศ จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยเจริญกรุง 81-85 ตั้งแต่ปากซอยเจริญกรุง 81 ถึงปากซอยเจริญกรุง 85 ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-23.00 น. และ 14.00-22.00 น. 2.ตลาดคลองสวนหลวง ตั้งแต่ปากซอยเจริญกรุง 101 ถึงปากซอยเจริญกรุง 103 ผู้ค้า 69 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-23.00 น.
ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 8 ราย และด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 16 ราย โดยย้ายผู้ค้าบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ (ผู้ค้า 8 ราย เลิกทำการค้า 1 ราย) เข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center บริเวณพื้นที่ว่างหน้าโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ดำเนินการขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตและจัดทำแผงค้าให้มีรูปแบบเดียวกัน เพื่อความสวยงามและเป็นระเบียบในพื้นที่ ส่วนผู้ค้าด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 16 ราย ย้ายเข้า Hawker Center จำนวน 6 ราย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 อีก 10 ราย ย้ายเข้าจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ รวมผู้ค้าที่อยู่ใน Hawker Center ทั้งหมด 13 ราย จากนั้นเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ติดตั้งเสาจราจรสีส้ม ทาสีพื้นทางเดิน เพื่ออำนวยความสะดวกสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ในการเดินไปยังพื้นที่ลานจอดรถบริเวณด้านหลังโรงพยาบาล ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดลาดบัวขาว ซอยเจริญกรุง 80 พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน มีครูบุคลากรและนักเรียน 156 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหาร บริเวณจุดทิ้งขยะในโรงอาหารของโรงเรียน ตั้งถังรองรับเศษอาหาร เพื่อนำไปเข้าเครื่องทำปุ๋ยอินทรีย์ของโรงเรียน สำหรับใส่ต้นไม้ในโรงเรียน 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อให้นักเรียนเข้าใจคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ ว่าวัสดุบางประเภท สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายครั้ง หรือสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ เช่น การประดิษฐ์พวงมาลัยจากหลอดพลาสติก การทำชุดแฟชั่นจากขยะรีไซเคิล การทำหมวกจากกล่องนม ส่วนที่เหลือนำมาจำหน่าย เพื่อเป็นสวัสดิการภายในโรงเรียน 3.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองรับขยะทั่วไป กำหนดจุดทิ้งขยะทั่วไป โดยครูบุคลากรและนักเรียนทุกคน จะนำขยะมาทิ้งบริเวณที่กำหนด เขตฯ จัดเก็บเป็นประจำทุกวัน 4.ขยะอันตราย ตั้งถังรองรับขยะอันตราย กำหนดพื้นที่โดยเฉพาะ ประสานเขตฯ จัดเก็บเมื่อมีจำนวนมาก สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 30 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 4 กิโลกรัม/วัน
พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อมใต้สะพานพระราม 3 (สวนใต้สะพานกรุงเทพ) ซึ่งเป็นสวนเดิมตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนมไหสวรรย์ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท โดยมอบให้เขตฯ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและบำรุงรักษา ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นและสวยงาม ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ร่วมกันปลูกต้นประดู่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างความร่มรื่นภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมใต้สะพานพระราม 3 พื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา 2.สวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์ ถนนพระรามที่ 3 พื้นที่ 2 งาน 50 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมซอยมาตานุสรณ์ ถนนมไหสวรรย์ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา อยู่ระหว่างเตรียมการปรับปรุง 2.สวนหย่อมริมถนนเจริญราษฎร์ 7 พื้นที่ 1 งาน 38 ตารางวา อยู่ระหว่างออกแบบ 3.สวนหย่อมริมถนนเจริญราษฎร์ 10 พื้นที่ 1 งาน 13 ตารางวาอยู่ระหว่างออกแบบ 4.สวนตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 พื้นที่ 118.31 ตารางเมตร เปิดใช้งานแล้ว 5.สวนสุสานโปรเตสแตนต์ พื้นที่ 73 ตารางเมตร เปิดใช้งานแล้ว 6.สวนหย่อมทวีสุข เชิงสะพานพระราม 3 พื้นที่ 750 ตารางเมตร อยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์ 7.สวนหย่อมวัดไทร พื้นที่ 2 งาน 20 ตารางวา อยู่ระหว่างเตรียมการปรับปรุง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที ให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงอนุรักษ์ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ในพื้นที่ไว้ตามเดิม การออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการภายในสวนอย่างแท้จริง
ในการนี้มี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาวอรชา มุ้ยเสมา ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางคอแหลม สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล