xs
xsm
sm
md
lg

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ECAM LaSalle ร่วมฉลองครบหนึ่งทศวรรษแห่งความร่วมมือด้านการศึกษา “วิศวกรรม” สู่การสร้าง “Global Engineer”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา นางลิซ ตัลโบต์-บาร์เร่ ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรมและความร่วมมือ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีฉลองครบหนึ่งทศวรรษแห่งความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ECAM LaSalle โรงเรียนวิศวกรรมฯ ชั้นแนวหน้าของประเทศฝรั่งเศส โดยมี รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายดิดิเย่ เดส์ปล็องช์ อธิการบดี ECAM LaSalle และนายปาทริซ พิชเชดด้า ประธานหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย เข้าร่วมด้วย ซึ่งจัดขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองสถาบันได้ร่วมมือกันหลายโครงการ แต่ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากคือ “โครงการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาและการฝีกงาน” โดยมีนักศึกษาจาก ECAM LaSalle France มากกว่า 50 คนได้มาเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และนิสิตคณะวิศวฯ จุฬาฯ เกือบ 20 คนได้ไปเรียนที่ ECAM LaSalle เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานว่า “โลกการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป จุฬาฯ มีนโยบายร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ทั่วโลก แบบ partnership ซึ่งคณะวิศวฯ จุฬาฯ เป็นคณะอันดับต้นๆ ของมหาวิทยาลัย การที่มีความร่วมมือแบบนี้กับ ECAM LaSalle ซึ่งเป็นโรงเรียนวิศวกรรมฯ ชั้นแนวหน้าของประเทศฝรั่งเศส ทำให้จุฬาฯกลายเป็น Global University ที่มอบประสบการณ์การเรียนรู้แบบ International ให้กับนิสิต ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทของจุฬาฯ ที่วางตัวเอง เป็น Talent Incubator หรือสถานที่บ่มเพาะพรสวรรค์ เพราะประสบการณ์ที่ล้ำค่าทำให้ค้นพบพรสวรรค์ได้”

นอกจากนั้น ศ.ดร.วิเลิศ ยังกล่าวว่า ความร่วมมือของสองสถาบันตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดประโยชน์ 3 ด้าน คือ นิสิต ได้รับประสบการณ์ที่เป็นความทรงจำดีๆ ได้เห็นโลกภายนอก ได้เตรียมความพร้อมและมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล มีวิสัยทัศน์ที่ดี ด้านที่สองคือ คณาจารย์ได้รู้จักกัน ได้แลกเปลี่ยนวิธีการสอน ได้ทำงานวิจัยร่วมกัน ด้านที่สาม ไม่ใช่แค่ความร่วมมือของสองมหาวิทยาลัย แต่เป็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศ connect the world connect the dot together ดังนั้นจะเห็นว่าความยิ่งใหญ่ของความร่วมมือจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ”
 
ด้าน รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “สิ่งที่ได้มากกว่าการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา ก็คือ นิสิตได้แลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม ได้สร้าง Global Community เป้าหมายของจุฬาฯ คือการเป็น Global University เราจึงต้องสร้าง Global Student ด้วย การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของนิสิตทำให้นิสิตมองโลกกว้างขึ้น ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดคอมมูนิตี้ที่ดี บางคนทำ Business ร่วมกัน หรือทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร อีก 10 ปีข้างหน้า ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราต้องสร้าง Global Student / Global Education ให้ทันเศรษฐกิจยุคใหม่ทั้งของไทยและของโลก จำเป็นต้องสร้าง Global Engineer ซึ่งไม่สามารถทำได้เลย ถ้าไม่มีพาร์ทเนอร์ที่ดี มีมุมมองจากหลายๆ วัฒนธรรมมารวมกัน”

นายดิดิเย่ เดส์ปล็องช์ อธิการบดี ECAM LaSalle กล่าวว่า “ECAM LaSalle เน้นการเรียนร่วมกับการทำงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการทำงานจริง นอกจากนี้เรายังมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ร่วมสร้างสตาร์ทอัพ พัฒนาโครงการนวัตกรรมร่วม การให้คำปรึกษาและการแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรม 10 ปีที่ผ่านมาเป็นความร่วมมือที่มีประโยชน์มากๆ แต่อีก 10 ปีข้างหน้า ทุกอย่างจะเปลี่ยนเร็วมาก ตัวผู้สอนและหลักสูตรต้องปรับตาม ให้เท่าทันสิ่งที่เปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนานิสิตนักศึกษาของเราให้สามารถไปอยู่ในโลกแห่งความจริงได้”

ขณะที่ นายปาทริซ พิชเชดด้า ประธานหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย กล่าวว่า “คุณสมบัติของวิศวกรที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม คือ มี Multi-Disciplinary หรือมีความรอบรู้ในหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่เรื่องวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว และเป็น Global Citizen คือรู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร” สอดคล้องกับมุมมองของคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่กล่าวไว้ว่า เทรนด์วิศวกรในอนาคต นิสิตต้องมีความรู้ในหลายๆ ศาสตร์ เพื่อไปดูแลเศรษฐกิจยุคใหม่ได้จริงๆ

สุดท้าย อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “วิศวกรที่ดีไม่ใช่แค่คนสร้างบ้าน สร้างตึก แต่เป็นวิศวกรที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยและคุณภาพชีวิตของชาวโลก เรากำลังร่วมกับ ECAM LaSalle เพื่อสร้างผู้นำแห่งโลกอนาคต หรือ Global Future Leader เราไม่ได้ให้แค่ความรู้ แต่เราให้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ภูมิปัญญาหรือแนวคิดที่หลากหลาย เพื่อให้นิสิตนักศึกษาของทั้งสองสถาบัน มีความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ กลายเป็น Global Engineer ที่มีคุณภาพ และยังหวังด้วยว่า ทั้งสองสถาบันจะร่วมมือกัน นำความรู้ไปช่วยเหลือสังคม เช่น คิดนวัตกรรมใหม่ๆ ไปแก้ปัญหาน้ำท่วม ช่วยคนพิการ และตั้งเป้าให้คณะวิศวฯ จุฬาฯ เป็นเซ็นเตอร์ให้ French business และ Thai business เพื่อให้นิสิตของเราได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากบริษัทใหญ่ๆ”












กำลังโหลดความคิดเห็น