xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ครั้งแรกของประเทศไทย เริ่มเรียนปีการศึกษา 2568 นำร่อง 3 สถาบัน “จุฬาฯ - มจพ. - สจล.” ตั้งเป้าผลิตวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้อย่างน้อย 1,500 คนต่อปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ครั้งแรกของประเทศไทย เริ่มเรียนปีการศึกษา 2568 นำร่อง 3 สถาบัน “จุฬาฯ - มจพ. - สจล.” ตั้งเป้าผลิตวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้อย่างน้อย 1,500 คนต่อปี สจล.เปิดโอกาสให้นักศึกษาปริญญาตรี ปี 2 เปลี่ยนสาขาเข้ามาเรียนได้ ส่วนจุฬาฯ เป็นนานาชาติ มุ่งเน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ AI ชิบสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์โฟโตนิก ด้าน มจพ.ร่วมมือกับ Kyushu (คิวชู) Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น ส่งเด็กฝึกงานยาว 1 ปีจบแล้วมีงาน 100%

เมื่อวันที่ 3 ต.ค.67 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการแถลงข่าว “อว. For Semiconductor” การเปิดหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ครั้งแรกของประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) รศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรเซมิคอนดักเตอร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เข้าร่วม ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษากว่า 15 แห่งได้ร่วมมือกันดำเนินการภายใต้นโยบาย “อว. for Semiconductor” พัฒนาหลักสูตร “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” จนเป็นผลสำเร็จ โดยมีหลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรกลางในรูปแบบแซนด์บอกซ์ หลักสูตรแรกของประเทศไทย รวมถึงหลักสูตรในรูปแบบอื่นๆ เพื่อผลิตกำลังคนทักษะสูงตอบสนองอุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนทั่วโลก ขณะนี้มี 3 สถาบันอุดมศึกษาที่จะนำร่องจัดการเรียนการสอนด้านเซมิคอนดักเตอร์ ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

รมว.อว. กล่าวต่อว่า โดย สจล.จะเริ่มนำร่องเปิดหลักสูตรแซนด์บอกซ์ “วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์” เป็นแห่งแรกในปีการศึกษา 2568 นี้ จากนั้นในปีการศึกษาถัดไปคาดว่าจะมีมหาวิทยาลัยใช้หลักสูตรแซนด์บอกซ์เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 มหาวิทยาลัย โดยตั้งเป้าผลิตวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้อย่างน้อย 1,500 คนต่อปี ซึ่ง สจล.มีความพร้อมอย่างมาก มีห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริง ด้วยความร่วมมือจากบริษัทเอกชนชั้นนำ และเนื่องจากเป็นหลักสูตรแซนด์บอกซ์ จึงสามารถเปิดโอกาสให้นักศึกษาปริญญาตรี ปีที่ 2 เปลี่ยนสาขาเข้ามาศึกษาได้ เพื่อเร่งรัดการผลิตกำลังคนที่ขาดแคลนให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้เรียนในชั้นปีที่ 4 จะสามารถเลือกฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ หรือเลือกเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็ได้ ซึ่งปัจจุบันหลักสูตรกลางมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศกว่า 12 แห่งแล้ว ขณะที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกำหนดเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หลักสูตรนานาชาติ ในปีการศึกษา 2568 นี้เช่นกัน ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่ที่มีความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในต่างประเทศ มุ่งเน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI ชิบสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV chips) และอุปกรณ์โฟโตนิก (Photonic Devices) รับทั้งนิสิตไทยและนิสิตต่างชาติ โดยมีแผนจะพัฒนาเป็นหลักสูตรสองปริญญา (Double Degree) ร่วมกับ Lunghwa (หลงหัว) University ของไต้หวัน และมีการฝึกงานในสถานประกอบการชั้นนำของประเทศ

น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งหลักสูตรคือหลักสูตรวิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของ มจพ. ที่มีการปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้สามารถผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ได้อย่างเป็นปัจจุบัน เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง โดยมีความร่วมมือกับบริษัทเอกชนชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนมาก ซึ่งภาคเอกชนเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการตั้งแต่ต้นทาง โดยหลักสูตรนี้จะมีการรับนักศึกษาเข้าไปฝึกปฏิบัติจริงยาวนานถึง 1 ปี ทำให้บัณฑิตมีความพร้อมทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา มีการทำวิจัยโดยใช้โจทย์จริงจากภาคอุตสาหกรรมทำให้งานวิจัยสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงและอาจารย์ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ up to date ในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ หลักสูตรยังมีความร่วมมือกับ Kyushu (คิวชู) Institute of Technology ของประเทศญี่ปุ่น และมีความร่วมมือกับบริษัทในประเทศสิงคโปร์ นักศึกษาสามารถเลือกไปฝึกงานในบริษัทที่ประเทศสิงคโปร์ได้ ซึ่งบัณฑิตที่จบจากหลักสูตรจะมีความเชี่ยวชาญในด้านการประกอบและทดสอบ IC ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ที่สำคัญ ได้งานทำ 100%

“การพัฒนาหลักสูตรแซนด์บอกซ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor & Advanced Electronics) เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานที่สำคัญทั้งในระยะกลางและระยะยาว ที่จะเห็นผลภายใน 2-4 ปี เพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบการผลิตกำลังคนเฉพาะทางทักษะสูงและเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลังจากนี้ สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ จะทยอยเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อให้สามารถผลิตบัณฑิตเฉพาะทางสมรรถนะสูงให้มีปริมาณมากเพียงพอ รองรับความต้องการภายในประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ” น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า

นี่คือสิ่งที่กระทรวง อว. และสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงภาคเอกชนของไทยได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะหลักสูตรการเรียนการสอนในวันนี้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ ที่สำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ มีกำลังคนทักษะสูงอย่างเพียงพอ และสามารถสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติมาลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือ High Technology ในประเทศได้










กำลังโหลดความคิดเห็น