xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ปกครองเด็กดาวน์ฯจับมือคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ จัดอบรมเตรียมลูกเข้าสู่ “วัยเจริญพันธุ์” อย่างเหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญากรุงเทพ(บึงกุ่ม) ร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วางแผนจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเตรียมลูกที่มีความบกพร่องสติปัญญา และพัฒนาการล่าช้าอย่างไรเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หวังให้พ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจในการสอนเรื่องเพศศึกษา แนะต้องให้เรียนรู้ตั้งแต่เด็ก เผยเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงตกเป็นเป้าหมายการล่วงละเมิดทางเพศ
น.ส. เพ็ญนภา นันทดิลก ประธานชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญากรุงเทพ (บึงกุ่ม) เปิดเผยว่า ในฐานะที่ตนเองมีลูกสาวเป็นเด็กดาวน์ซินโดรมและอยู่ในช่วงวัยรุ่น ทราบดีว่าการเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กดาวน์ฯนั้นมีความยากลำบากแค่ไหน ซึ่งวัยนี้เป็นวัยที่เปราะบางต่อเรื่องเพศเป็นอย่างมาก แต่โชคดีที่ตนได้เลี้ยงดูน.ส.ปัณฑิตา ผันกระโทก หรือน้องพราว วัย 18 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้น ปวช. ปี 3 อย่างใกล้ชิดและสอนให้ระมัดระวังตัวเอง เมื่ออยู่กับผู้ชายที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาเรื่องเหล่านี้ ในขณะที่บางครอบครัว เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวยากที่จะจัดสรรเวลาให้กับลูกๆ เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพและครอบครัว บางครอบครัวเด็กดาวน์ฯบางคนก็เจอปัญหาถูกล่วงละเมิดทางเพศจากผู้ชายรอบข้างที่ครอบครัวไว้ใจจนตั้งครรภ์ นำไปสู่ปัญหาต่างๆมากมาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาว่าพ่อแม่ไม่รู้จะสอนเรื่องเพศศึกษากับลูกหลานที่เป็นเด็กดาวน์ฯอย่างไรดีในช่วงแต่ละวัย

น.ส.เพ็ญนภา กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้เองทางชมรมฯจึงได้ร่วมกับคณาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเตรียมลูกที่มีความบกพร่องสติปัญญา และพัฒนาการล่าช้าอย่างไรเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้มีความรู้ความเข้าใจในการสอนลูกหลานเรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้องเหมาะสม คาดว่าจะเปิดอบรมได้ในเร็วๆนี้

น.ส.นิลชร เย็นยาซัน อดีตพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ข้อมูลว่า จากประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา อย่างเช่น เด็กออทิสติกและเด็กดาวน์ฯ พบว่าปัญหาทางเพศของเด็กดาวน์ฯส่วนใหญ่มีดังนี้ เรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ, การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์, เด็กไม่รู้จักวิธีการป้องกันตัวเองจากการถูกล่วงละเมิด, การแสดงออกที่เหมาะสมเมื่อมีอารมณ์หรือมีความต้องการทางเพศ, การจัดการเมื่อมีอารมณ์ทางเพศ, และโรคทางเพศสัมพันธ์ ส่วนที่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องเพศกับเด็กดาวน์ มองว่าการสอนเรื่องเพศศึกษาให้ผู้ปกครองและเด็กดาวน์ฯจะช่วยได้
น.ส.นิลชร กล่าวด้วยว่า ตัวอย่างครอบครัวที่เลี้ยงลูกที่เป็นเด็กดาวน์ฯและรับมือกับเรื่องเพศศึกษาของลูกหลานได้นั้น ส่วนมากมักเป็นพ่อแม่ที่เข้าใจในเรื่องเพศศึกษา แล้วมาสอนและดูแลลูกตั้งแต่ลูกยังมีอายุน้อยๆ สอนต่อมาเรื่อยๆจนถึงวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ทำให้เด็กสามารถป้องกันตัวเองจากถูกล่อลวง รวมทั้งการสอนวิธีการในการจัดการกับอารมณ์เมื่อลูกมีอารมณ์ทางเพศ เช่นเด็กจะเข้าไปทำกิจกรรมทางเพศในห้องส่วนตัวหรือในห้องน้ำ ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะสอนให้รู้จักป้องกันเรื่องของการถูกล่อลวง อาทิไม่รับของจากคนแปลกหน้า หรือถ้ามีคนมาล่อลวงก็ให้พยายามวิ่งหนี ส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ

ด้านอาจารย์ภาวิณี ซ้ายกลาง อาจารย์ประจำสาชาวิชาการพยาบาลเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเตรียมลูกที่มีความบกพร่องสติปัญญา และพัฒนาการล่าช้าอย่างไรเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เป็นความร่วมมือกันระหว่างชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญากรุงเทพ (บึงกุ่ม) และคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมให้ความรู้และไขข้อสงสัยต่างๆ รวมทั้งยังสนับสนุนให้ผู้ปกครองได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันในรูปแบบกิจกรรมกลุ่ม

“สิ่งที่คาดหวังเมื่อผู้ปกครองเข้าร่วมโครงการนี้ คือได้รับความรู้ที่ถูกต้อง เรียนรู้เทคนิคเพื่อนำไปใช้ ตระหนักถึงการมีอยู่ของเครือข่ายกลุ่มผู้ปกครองที่เผชิญปัญหาคล้ายคลึงกัน ซึ่งเครือข่ายผู้ปกครองนี้อาจถือเป็นแหล่งช่วยเหลือสนับสนุนให้แก่ผู้ปกครองที่ยั่งยืนได้ต่อไป” อาจารย์ภาวิณี กล่าวว่า การส่งเสริมความรู้เรื่องเพศศึกษาโดยภาพรวมของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ทางสถาบันราชานุกูล ได้จัดทำคู่มือ“เรื่องเพศกับเด็กพิเศษ”สำหรับครู ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมทางเพศในเด็กที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา
อาจารย์ภาวิณี กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพฤติกรรมทางเพศของเด็กกลุ่มดาวน์ฯพบได้ตั้งแต่วัยก่อนเรียนรวมถึงแต่ละช่วงวัย อาทิปัญหาของเด็กวัยก่อนเรียน เด็กชายมักจับเล่นอวัยวะเพศตัวเองทั้งที่บ้านและในที่สาธารณะ ทำให้ผู้ปกครองมีความกังวลและไม่แน่ใจว่าจะปรับแก้ไขพฤติกรรมนี้อย่างไร เรื่องพัฒนาการทางเพศของเด็กเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ผู้ปกครองไม่แน่ใจว่าควรพาเด็กไปผ่าตัดมดลูกดีหรือไม่ ถ้าตัดแล้วจะมีผลข้างเคียงไหม รวมถึงเรื่องการแสดงออกต่างๆที่อาจจะสื่อไปทางเพศโดยไม่ตั้งใจ เช่น กอด อ้อน หอมแก้ม จั๊กจี๊ จับผม ลูบสัมผัสต้นขาผู้อื่น และเขินอายเมื่อถูกมองจากเพศตรงข้าม พฤติกรรมเหล่านี้แสดงถึงความพึงพอใจต่อผู้อื่นที่ไม่เหมาะสมและความเสี่ยงในการถูกล่วงละเมิด

อาจารย์ภาวิณี ยังระบุอีกว่า เด็กกลุ่มดาวน์ฯมักมีพัฒนาการที่ไม่สมดุลในด้านต่างๆ อาทิเช่น การเข้าใจเรื่องเพศและการแสดงออกทางเพศ ซึ่งอาจทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม บางคนมีปัญหาด้านการสื่อสาร จึงไม่สามารถแสดงออกหรืออธิบายความรู้สึกและความต้องการทางเพศได้อย่างเหมาะสม และยังเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเป้าหมายของการละเมิดทางเพศ เนื่องจากไม่สามารถป้องกันตนเองหรือรายงานการละเมิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นการสอนเรื่องเพศศึกษากับเด็กกลุ่มดาวน์ฯจำเป็นที่ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมอย่างมาก โดยสอนร่วมกับการฝึกทักษะในชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลความสะอาดร่างกาย แต่งกายให้เหมาะสม กรณีมีปัญหาพฤติกรรมทางเพศ ต้องบอกให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว และชมเชยเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม นอกจากนี้การสอนให้เด็กหลีกเลี่ยงการถูกลวงละเมิด โดยสอนว่าร่างกายตนเองไม่ควรให้ใครมาจับสัมผัส ผู้หญิงไม่ควรใกล้ชิดหรือสัมผัสจับโดนตัวผู้ชาย อย่างไรก็ตามวิธีการสอนต้องคำนึงถึงระดับความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการที่พยายามฝึกสอนหรือปรับพฤติกรรมที่ตัวเด็กเองแล้ว การนำเสนอข้อมูลความรู้ในเรื่องปัญหาพฤติกรรมและผลกระทบที่ผู้ปกครองและเด็กกลุ่มนี้ต้องเผชิญให้กับสังคมได้รับรู้หรือการเพิ่มประเด็นปัญหาพฤติกรรมทางเพศของเด็กที่มีความต้องการพิเศษในหลักสูตรการศึกษาปกติ อาจช่วยเพิ่มความเข้าใจและความเอื้ออาทรจากคนทั่วไปด้วย เพราะความเข้าใจจากสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการสนับสนุนให้เด็กสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างราบรื่น
ก่อนหน้านี้นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต
กล่าวตอนหนึ่ง ในการเปิดกิจกรรม “Down’s Come Back Home” เนื่องในวันดาวน์ซินโดรมโลก 2024 จัดโดยสถาบันราชานุกูลว่า กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) เกิดจากการมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 โครโมโซม เป็นสาเหตุทางพันธุกรรมของภาวะบกพร่องทางสติปัญญาที่พบบ่อยที่สุด ในประเทศไทย มีอุบัติการณ์ประมาณ 1 ต่อ 826 ของเด็กเกิดมีชีพ ซึ่งอัตราการเกิดใหม่ของเด็กกลุ่มอาการดาวน์ลดลง ถ้าเทียบจากในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา
















กำลังโหลดความคิดเห็น