xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณเตือนภัย! ภาวะสมองเสื่อมพุ่งสูงเกินคาด เสี่ยงเป็นวิกฤตชาติ ภายในปี 2580 มส.ผส. ชู “ชราบานโมเดล” สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะ สมองเสื่อมแบบครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สัญญาณเตือนภัย! ภาวะสมองเสื่อมพุ่งสูงเกินคาด เสี่ยงเป็นวิกฤตชาติ ภายในปี 2580 มส.ผส. ชู “ชราบานโมเดล” สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะ สมองเสื่อมแบบครบวงจร

ปัจจุบันภาวะสมองเสื่อมได้กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ภาวะสมองเสื่อมไม่เพียงแค่เป็นปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ แต่ยังเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องการความร่วมมือและการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกพบว่าปัจจุบันมีผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมมากกว่า 55 ล้านคนทั่วโลก และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 78 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2030 โดยเฉพาะในประเทศไทยที่คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเป็น 1,350,000 คนภายในปี พ.ศ. 2580 ซึ่งจะกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ชี้ให้เห็นบริบทและสถานการณ์ภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงอายุไทย

จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเทศไทยมีความชุกของภาวะสมองเสื่อมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 12.4 โดยเพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าเพศชายอย่างชัดเจน การศึกษาของกรมการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 229,000 คนในปี พ.ศ. 2549 เป็น 617,000 คน ในปี พ.ศ. 2559 ปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลแค่ต่อเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชนโดยรวม การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมในประเทศไทยส่วนใหญ่ตกเป็นภาระของญาติหรือเพื่อน ซึ่งต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงความกดดันทางจิตใจจากการดูแลที่ต้องใช้เวลายาวนานและซับซ้อน

เพื่อตอบสนองต่อปัญหาดังกล่าว มส.ผส. ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ดำเนิน “โครงการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจร” นำร่องการทำงานร่วมกับจังหวัดปัตตานี ผ่านการบริหารจัดการและสนับสนุนงานวิชาการโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม รวมถึงการชะลอการเกิดภาวะนี้ โดยมุ่งเน้นดำเนินงานในหลายด้านที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรในพื้นที่เพื่อให้สามารถจัดบริการที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม การสร้างเครือข่ายระหว่างกระทรวง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาล รวมทั้งการสร้างความรู้และความเข้าใจของสังคมและชุมชนต่อผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาฐานข้อมูลและแพลตฟอร์มกลางเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันในการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะสมองเสื่อมในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

แนวทางการทำงานโครงการฯ ได้ใช้กรอบการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจร ที่พัฒนาโดยสถาบัน เวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ ร่วมกับ สมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย เป็นแนวทางหลัก จากนั้นปรับปรุงแนวทางการทำงานหลักให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่จังหวัดปัตตานี โดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วย สมองเสื่อม ให้การสนับสนุนทางวิชาการ ซึ่งกระบวนการทำงานครอบคลุม 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) การคัดกรองและเชื่อมโยงเครือข่ายบริการระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป (2) การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในโรงพยาบาลชุมชน (3) การพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข (4) การส่งเสริมการดูแลทางสังคมร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และ (5) การสนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมและผู้สูงอายุในชุมชน 


นพ.อนุรักษ์ สารภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ผู้รับผิดชอบโครงการฯ ในพื้นที่ปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีเริ่มให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในปีงบประมาณ 2565-2566 ซึ่งพบปัญหาในการดำเนินการตามกรอบ และจากการคัดกรองผู้สูงอายุในจังหวัดปัตตานี พบว่ามีผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นที่ต้องขยายโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ จึงได้ถอดบทเรียนและศึกษาการทำงานสำหรับบริการด้านต่าง ๆ เพื่อวางแผนการจัดบริการการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การจัดกระบวนการดังกล่าว ทำให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการทบทวนและทำความเข้าใจปัญหาในพื้นที่ที่เกิดขึ้น สรุปข้อมูลปัญหาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ร่วมกันสะท้อนคิดในประเด็นการ “ระบบคลินิกผู้สูงอายุในการจัดการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งระบบ” โดยในโครงการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจร ทางจังหวัดวางแผนการทำงานด้านผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ตามโมเดล “ชราบาน” ภายใต้แนวคิด สูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ จากไปอย่างมีความสุข และใช้ดอกชบาเป็นสัญลักษณ์การทำงาน โดยพัฒนาระบบการดูแลทั้งทางการแพทย์และทางสังคม ระบบบริการ คลินิกผู้สูงอายุ ตลอดจนศูนย์ชีวาภิบาลที่เชื่อมต่อระบบการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร เชื่อมโยง บ้าน ระบบบริการและชุมชน ให้ผสานความร่วมมือในการดูแลผู้สูงอายุเพื่อเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งมุ่งให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม และชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อม จากการเข้าถึงบริการคัดกรองได้อย่างรวดเร็ว ได้รับการดูแลทางการแพทย์และทางสังคมที่มีคุณภาพ ตามจำเป็นเหมาะสมกับสภาวะความเสื่อมของสมองอย่างต่อเนื่อง จากบุคลากรและชุมชนที่มีความรู้ และความเข้าใจผู้มีภาวะสมองเสื่อม

“จากการดำเนินงานในระยะที่ผ่านมาของจังหวัด แม้จะมีความพยายามในการดำเนินโครงการเพื่อดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม แต่ยังคงมีปัญหาหลายประการ เช่น การขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ความซับซ้อนในการวินิจฉัย การเชื่อมโยงระบบบริการทาง การแพทย์ และความเข้าใจของชุมชนในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน” 








โครงการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมแบบครบวงจร ถือเป็นความพยายามสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ แต่ยังคงต้องการการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม หากสามารถแก้ไขปัญหาและข้อท้าทายที่เกิดขึ้นได้ จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทยได้รับการดูแลที่มีคุณภาพมากขึ้น และลดภาระทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น