xs
xsm
sm
md
lg

อย. ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในโอกาสร่วมงานสรุปผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดแนวทางเพื่อขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพนานาชาติ นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้แก่ประชาชนและประเทศ

ดังนั้น อย. จึงได้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์สุขภาพกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้รับอนุญาตตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีคุณภาพ ปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนภายใต้กรอบ BCG ให้ได้รับอนุญาต

​นอกจากนี้ อย. ยังได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเป็น Co – creator ในบทบาทผู้ประสานร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อย่างถูกต้องจนได้รับการขึ้นทะเบียน รวมทั้งการเป็นหุ้นส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรในทุกระดับที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ เกิดความมั่นคงด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศ

​ที่ผ่านมา อย.ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนสามารถยื่นคำขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนได้อย่างถูกต้อง โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นคำขออนุญาตทั้งสถานประกอบการ ผลิตภัณฑ์ฉลาก และโฆษณา ผ่านระบบ e – learning และสื่อประชาสัมพันธ์ e -book “แผนที่นำทาง การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนจากฐานรากสู่สากล”

ในปี 2567 มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการรับรองเลข อย. รวมทั้งประเทศ จำนวน 1,796รายการ โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ กรณีผลิตภัณฑ์ฯ ได้รับอนุญาต และผลิตวางจำหน่าย 1 ปี อยู่ที่ ประมาณ 2,700 ล้านบาท 

จากความสำเร็จดังกล่าว อย. ได้รวบรวมและจัดทำ e – book “100 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชุมชน 77 จังหวัดทั่วไทย” ซึ่งเป็นความสำเร็จในการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องราวที่น่าสนใจของแต่ละผลิตภัณฑ์ เป็นการช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่อไป


นอกจากนี้ อย. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรในทุกระดับให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน โดย อย.กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสถานที่ผลิตตามหลักการบริหารจัดการความเสี่ยง 3 ระดับ ได้แก่
1. มาตรฐาน PIC/S GMP สำหรับผู้ผลิตที่มีความประสงค์จะส่งออกผลิตภัณฑ์ได้ในระดับสากล โดยปัจจุบันมีสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีความสมัครใจที่จะยกระดับฯ จำนวน 57 แห่ง 2. มาตรฐาน ASEAN GMP สำหรับผู้ผลิตที่มีความประสงค์จะส่งออกผลิตภัณฑ์ในระดับภูมิภาคอาเซียน 3. มาตรฐานการประเมินสถานที่ผลิตที่มีความเสี่ยงต่ำขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้ผลิตที่ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรรายย่อยอื่นๆ ที่ประสงค์จะขายภายในประเทศและชุมชนเท่านั้น โดยใช้เกณฑ์การประเมินที่ไม่เข้มงวด แต่ยังสามารถสร้างความมั่นใจในมาตรฐานของกระบวนการผลิตแก่ผู้บริโภคได้
ด้านการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์จำเป็นของประชาชนนั้น ปัจจุบันมีรายการยาเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร 122 รายการ 15 กลุ่มอาการ เช่น ยาหอมเทพจิตร ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม ยาฟ้าทะลายโจร และยังมีรายการยาจากสมุนไพรอีก 11 รายการที่รอประกาศเพิ่มเติม เช่น ยาทาพระเส้น ยาพริกความแรง 0.075% บรรเทาอาการปวดเหตุจากพยาธิสภาพประสาทส่วนปลาย ยาเจลว่านหางจระเข้สำหรับช่วยลดความรุนแรงของผิวหนังอักเสบที่เกิดจากรังสีรักษา
อย่างไรก็ตาม อย.ยังได้ส่งเสริมและพัฒนากลไกให้ยาจากสมุนไพรมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรเพิ่มมากขึ้น ทั้งการสั่งใช้ยาจากสมุนไพรผ่านระบบบริการสาธารณสุข และการซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพรด้วยตนเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น