xs
xsm
sm
md
lg

“เสียงสะท้อน จากภาคปฏิบัติในระดับพื้นที่ท้องถิ่น” ชูนโยบาย 4 มิติ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายของการเข้าสู่สังคมสูงวัย อย่างสมบูรณ์ในประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มส.ผส. เผยข้อมูล ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ภายใต้สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจัดเวทีระดมสมองเพื่อพัฒนาและออกแบบบข้อเสนอเชิงนโยบาย “การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ภายใต้สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) กล่าวว่า ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การพัฒนานโยบายและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเป็นเรื่องเร่งด่วน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลและให้บริการแก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับประชาชนและเข้าใจบริบทของชุมชนได้อย่างลึกซึ้ง การระดมสมองในครั้งนี้จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับองค์กรเหล่านี้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลสถานการณ์จริง เพื่อพัฒนานโยบายที่เหมาะสมกับชุมชนและพื้นที่

“เวทีนี้มุ่งหวังให้เกิดการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง และในครั้งนี้มี อปท. ที่สนใจและเข้าร่วมกระบวนการระดมสมองกว่า 38 แห่ง ซึ่งกระจายมาจากทุกภูมิภาคของประเทศ ข้อมูลที่ได้จากการระดมสมองครั้งนี้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการพัฒนานโยบายในอนาคต การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยในการออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง”

นอกจากนี้ ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย ยังชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ของสังคมสูงวัยกับความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ว่า “ต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่ออนาคต” โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างชัดเจน โดยเฉพาะประชากรรุ่น “เกิดล้าน” ที่จะเข้าสู่วัยเกษียณในอีกไม่กี่ปี ส่งผลให้สัดส่วนประชากรในวัยทำงานลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวและการที่ผู้สูงอายุต้องอยู่อาศัยเพียงลำพังเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องรับมือด้านรายได้ ผู้สูงอายุยังคงพึ่งพารายได้จากลูกหลานและเบี้ยยังชีพ แต่รายได้จากลูกหลานมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ข้อมูลงานวิจัยหลายแห่งยังชี้ว่าผู้สูงอายุจำนวนมากขาดเงินออมและเผชิญกับปัญหาหนี้สิน การดูแลสุขภาพจิตและโรคอัลไซเมอร์เป็นอีกหนึ่งประเด็นท้าทาย โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้การวางแผนและการสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง


ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้นำเสนอประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานด้านสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการและสวัสดิการสังคม ให้ครอบคลุมทั้งมิติสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ การจัดสวัสดิการสังคมเป็นกลไกสำคัญในการตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการจัดการบริการสาธารณะ เช่น ระบบการดูแลสุขภาพในชุมชน การส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมทั้งการพัฒนาโครงการผู้สูงอายุในระยะยาว รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม อย่างไรก็ตาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังคงเผชิญกับปัญหาหลายประการ ตั้งแต่ทัศนคติที่มองผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ต้องการการสงเคราะห์ ไปจนถึงความไม่ชัดเจนในกฎระเบียบ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการให้บริการ การพัฒนาสวัสดิการที่ยั่งยืนต้องอาศัยการปรับทัศนคติและแนวทางการทำงาน โดยควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุ และการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับการดูแล


นางพิชชานันท์ ดำรงทิพย์รัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขปฎิบัติการ เทศบาลตำบลทับมา จังหวัดระยอง ตัวแทนผู้เข้าร่วมกระบวนการเวทีระดมสมองในครั้งนี้ กล่าวว่า “เวทีนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาที่ผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่นกำลังเผชิญ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย และการมีส่วนร่วมทางสังคม ผู้เข้าร่วมจาก อปท.ต่างๆ ได้สะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความท้าทายที่หลากหลายในการจัดการปัญหาเหล่านี้”

จากการระดมสมองร่วมกับตัวแทน อปท. ต่างๆ ทุกแห่งค่อนข้างเห็นสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวผู้สูงในพื้นที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเริ่มจาก ปัญหาด้านสุขภาพ ของผู้สูงอายุมาจากทั้งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและการขาดแคลนการดูแลที่มีคุณภาพ โดยผู้สูงอายุมักเผชิญกับโรคเรื้อรังและต้องการการรักษาในระยะยาว ระบบการดูแลสุขภาพในพื้นที่ยังมีข้อจำกัดในการรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ พบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ประสบกับการขาดรายได้ที่เพียงพอ เบี้ยยังชีพไม่ครอบคลุมความต้องการพื้นฐาน การจ้างงานต่ำ และการเตรียมตัวด้านการเงินก่อนเกษียณยังไม่เพียงพอ ส่งผลให้หลายคนต้องพึ่งพาผู้อื่นหรือตกอยู่ในภาวะหนี้สิน ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ ผู้สูงอายุมักอาศัยในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมหรือเข้าถึงบริการสาธารณะได้ยาก การขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะยังทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถูกจำกัดการมีส่วนร่วมในสังคม และประเด็นสุดท้าย การมีส่วนร่วมทางสังคม เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ ผู้สูงอายุหลายคนรู้สึกโดดเดี่ยวเนื่องจากขาดการสนับสนุนทางสังคม ขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี และไม่กล้าเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้สูงอายุขาดความรู้สึกมีคุณค่าและความสุขในชีวิต

ส่วนปัญหาในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ที่เป็นกระบวนการทำงานของ อปท. พบว่าการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่มีอุปสรรคหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านบุคลากร พบว่ามีจำนวนไม่เพียงพอและขาดความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน ด้านข้อมูล พบว่าฐานข้อมูลยังไม่เป็นระบบและไม่อัปเดตอย่างต่อเนื่อง ทำให้การวางแผนและดำเนินงานมีข้อจำกัด ด้านกลไกการทำงานระหว่างหน่วยงานและข้อกฎหมาย พบปัญหาการขาดการบูรณาการที่ชัดเจน ส่งผลให้กระบวนการช่วยเหลือซับซ้อนและขาดความต่อเนื่อง นอกจากนี้ นโยบายในท้องถิ่นยังขาดความชัดเจน รวมถึงปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เพียงพอในการพัฒนาการดูแลผู้สูงอายุ ส่งผลให้บุคลากรขาดแรงจูงใจและการจัดสวัสดิการไม่ทั่วถึง ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับปรุงเพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ทั้งนี้ จากการระดมสมองตลอดระยะเวลา 2 วัน ได้ข้อเสนอเชิงนโยบายจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในทุกมิติ ดังนี้


ด้านสุขภาพ การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุถูกเน้นเป็นลำดับแรก โดยมีข้อเสนอให้พัฒนาระบบการประเมินสุขภาพทั้งกายและใจในชุมชน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ อุปกรณ์ทันสมัย และจัดสรรงบสนับสนุนผู้ดูแลในครอบครัว อีกทั้งยังแนะนำให้พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ (Big Data) และจัดตั้งระบบกลางในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง
ด้านเศรษฐกิจ ข้อเสนอด้านเศรษฐกิจมุ่งเน้นการขยายอายุเกษียณราชการ เพิ่มโอกาสจ้างงานผู้สูงอายุในท้องถิ่น และจัดตั้งสภาผู้สูงอายุระดับท้องถิ่นเพื่อร่วมพัฒนานโยบายและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่ตรงกับความสามารถของผู้สูงอายุ
ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม แนะนำให้มีการแจกพิมพ์เขียวบ้านสำหรับผู้สูงอายุฟรี พัฒนาฝีมือช่างชุมชนให้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ และสนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมบ้าน พร้อมปรับปรุงกฎหมายให้การดำเนินงานด้านที่อยู่อาศัยคล่องตัวมากขึ้น
ด้านการมีส่วนร่วมทางสังคม เสนอการเตรียมความพร้อมก่อนเกษียณ ยกระดับศูนย์ฟื้นฟูผู้สูงอายุให้ดูแล 24 ชั่วโมง และพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถช่วยผู้สูงอายุในการดำเนินชีวิต










กำลังโหลดความคิดเห็น