สำนักงานประกันสังคม คำนึงถึงสิทธิประโยชน์การคุ้มครองชีวิตของผู้ประกันตนทุกคน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บและตาย โดยหากผู้ประกันตนประสบเหตุไม่คาดคิดจนทำให้ถึงแก่ความตาย สำนักงานประกันสังคมจะยังคงดูแลและช่วยเหลือครอบครัวผู้ประกันตนจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำหรับกรณีตาย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคมจะให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 รวมไปถึงผู้ประกันตนที่จงใจทำให้ตนเองบาดเจ็บ ทุพพลภาพและตาย หรือยินยอมให้ผู้อื่นก่อให้เกิดขึ้น ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้ ผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย ได้แก่ ค่าทำศพ 50,000 บาท โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ ซึ่งเป็นบุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน หรือเป็นสามีภรรยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน หรือเป็นบุคคลอื่นที่มีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพผู้ประกันตน
นอกจากนี้ยังได้รับเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ แต่ถ้าผู้ประกันตนมิได้มีหนังสือระบุไว้ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่ สามีหรือภรรยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน ดังนี้ ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน แต่ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน โดยทายาทผู้มีสิทธิยังสามารถขอรับคืนเงินกรณีชราภาพของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตคืนได้ภายใน 2 ปีอีกด้วย
สำหรับ กรณีขอรับค่าทำศพ จะต้องมีหลักฐานประกอบการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย ได้แก่ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จัดการศพพร้อมตัวจริง หลักฐานจากฌาปนสถานหรือมัสยิดที่แสดงว่าเป็นผู้จัดการศพ สำเนาใบมรณบัตรพร้อมตัวจริง และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี (กรณีขอรับเงินทางธนาคาร) ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้จัดการศพ ในช่องทางพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือธนาคารทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ส่วนกรณีขอรับเงินสงเคราะห์ จะต้องแนบเอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ได้แก่ แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีตาย (สปส. 2-01) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ประกันตนและของบิดามารดาของผู้ประกันตน (ถ้ามี) สำเนาสูติบัตรของบุตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุตรกรณีไม่มีสูติบัตร หนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย (ถ้ามี) หรือจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมารับแทน โดยแนบเอกสารมอบอำนาจตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด
ทั้งนี้ การขอรับประโยชน์ทดแทน ผู้จัดการศพหรือผู้มีสิทธิต้องกรอกแบบ สปส. 2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์ หรือยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (www.sso.go.th)
หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 บริการตลอด 24 ชั่วโมง Line@ssothai หรือทาง www.sso.go.th