xs
xsm
sm
md
lg

สสรท.-สรส. ออกแถลงการณ์หนุนขึ้นค่าจ้าง 400 บาท เท่ากันทั้งประเทศ พร้อมประณามการใช้กลเกมประวิงเวลาปรับขึ้นค่าจ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 24 ก.ย. สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท เท่ากันทั้งประเทศ ขอประณามการใช้กลเกมประวิงเวลาปรับขึ้นค่าจ้าง โดยมีเนื้อหาดังนี้

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งทุกภาคส่วนต่างทราบกันดีว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยมีปัญหาต้องพึ่งพาต่างประเทศเป็นด้านหลักทั้งเรื่อง การค้า การส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว เหตุเพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศขาดรายได้ ไร้อาชีพ ขาดหลักประกันในการดำเนินชีวิต ยากจน มีหนี้สินครัวเรือนสูงถึงร้อยละ ๙๓ ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขบวนการแรงงานจึงพยายามเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้างให้ไปไกลกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ คือ ค่าจ้างที่เป็นธรรม และ ค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ แม้ท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยาวนาน เห็นได้ว่าสังคมส่วนใหญ่ทั้งประชาชนทั่วไป พี่น้องสื่อมวลชน แม้กระทั่งพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค ต่างก็เห็นด้วย จึงนำไปกำหนดเป็นนโยบายในการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งงานวิจัยจำนวนมากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศก็สนับสนุนการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างนั้นเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

สำหรับประเทศไทย การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องที่ยากยิ่งของพวกกลุ่มทุนที่เห็นเพียงแค่ประโยชน์เฉพาะตนเฉพาะกลุ่ม มองผู้ใช้แรงงานเป็นเยี่ยงทาส ไม่เว้นแม้กระทั่งคนงานในสังกัดของตนเอง ไม่มีศีลธรรมและจริยธรรม ไม่เคารพในสิทธิแรงงานซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ได้มองภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ แต่สรรหาคำพูด หาเหตุผลอ้างอิง

เพียงเพื่อธุรกิจของตนเอง เช่น “การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะได้เฉพาะแรงงานข้ามชาติ” ทั้งที่แรงงานข้ามชาติมีแค่ประมาณ ๓ ล้านคน แต่แรงงานไทยอีกจำนวนมากทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ คนทำงานบ้าน ลูกจ้างเหมาค่าแรงอีกจำนวนมากหลายล้านคนที่รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ และที่เลวร้ายกว่านั้น ลูกจ้างในหน่วยงานภาครัฐจำนวนมากยังรับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอีกด้วย แต่หากมองในมิติของการกดขี่ขูดรีดแล้ว การสูบกินมูลค่าส่วนเกินของคนงานก็เป็นเรื่องปกติของนายทุนเห็นแก่ตัวเหล่านั้น ซึ่งต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของเขา เพียงแต่ว่ารัฐบาล กลไกรัฐ กลไกของไตรภาคี จะยืนอยู่กับคนส่วนไหน คนส่วนน้อย หรือคนส่วนมาก นายทุนหรือผู้ใช้แรงงาน กลเกมในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของแต่ละคน

แต่ละฝ่ายที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาของประเทศ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าสถานะของคนงานไทย เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจรั้งท้ายทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ภาวะความยากจน ความเหลื่อมล้ำล้วนอยู่ในภาวะวิกฤติ การขัดขวางการปรับขึ้นค้าจ้างด้วยกลเกมต่าง ๆ ถือได้ว่า “เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายเศรษฐกิจไทย”

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการจัดทำข้อมูล จัดทำงานวิจัย จัดเวทีเสวนา ออกแถลงการณ์ ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลหลายครั้ง

ในห้วงเวลาที่ผ่านมา และล่าสุดในวันกรรมกรสากลที่ สสรท. และ สรส. จัดขึ้นหรือแม้กระทั่งเวที
ที่สภาแรงงานทั้งหลายจัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งในเวทีต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัดก็มีข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยให้มีค่าจ้างราคาเดียวเท่ากันทั้งประเทศ เพราะราคาสินค้าราคาไม่ได้แตกต่างกัน ต่างจังหวัดยังมีราคาแพงกว่าด้วยซ้ำ และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า และให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และ เอกชน แรงงานภาคบริการ

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรสมาชิกทั้งที่เป็นแรงงานภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ สหภาพลูกจ้างภาครัฐ “ขอสนับสนุนการปรับขึ้นค่าจ้าง ๔๐๐ บาท ในอัตราเดียวกันทั้งประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงาน” และเสนอให้ค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้เป็นค่าจ้างแรกเข้า รวมถึงให้ทุกสถานประกอบการจัดทำโครงสร้างค่าจ้าง เพื่ออนาคตของคนทำงาน ครอบคลุมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และ เอกชน คนทำงานภาคบริการ เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมควบคู่กับการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างหลักประกันการทำงาน การจ้างงาน เพื่ออนาคต และสังคมที่ดี เพราะเมื่อประชาชนมีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ ก็จะเกิดการผลิตการจำหน่าย ผู้ประกอบการขายสินค้าได้ รัฐก็สามารถเก็บภาษีได้ ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคง ยั่งยืน ต้องเข้าใจว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานในปัจจุบันกว่า 41 ล้านคน คือ คนส่วนใหญ่ของประเทศ หากไม่สามารถแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้ก็อย่าไปคาดหวังว่า

จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้ การปรับขึ้นค่าจ้างก็เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ซึ่งรัฐบาลต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมค่าครองชีพอาทิ ราคาสินค้า ราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเดินทาง การขนส่ง เป็นต้น ให้อยู่ในระดับที่ไม่แพงเกินไป ป้องกันการผูกขาด และปกป้องกิจการของรัฐ คือ รัฐวิสาหกิจไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนที่จ้องเอาเปรียบ ขูดรีดประชาชน และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหากทำได้จริงก็จะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทั่วไป








กำลังโหลดความคิดเห็น