เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ “โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและเสนอกลไกการขับเคลื่อนตาม Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ” ซึ่งมีที่มาจากประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีการรั่วไหลของพลาสติกลงสู่ทะเล ขณะที่ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกที่มีจำนวนมหาศาล จากการนำพลาสติกมาใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single Use Plastic : SUP) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร แต่ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ภาครัฐและเอกชนจึงเริ่มให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหามลพิษ จากขยะพลาสติกมากขึ้น นำไปสู่การจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ใช้เป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ : ในฐานะหน่วยงานที่ร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาโครงการฯ เห็นว่าการที่ทุกภาคส่วนร่วมกันหาทางออก จะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ตามกรอบและทิศทางของ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๖๖ – ๒๕๗๐) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายในการลดขยะพลาสติก และนำผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพิ่มขึ้น รวมทั้งการลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล
ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวถึง หน่วย บพข. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มีภารกิจในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้งานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สำหรับการศึกษานี้ที่หน่วย บพข.ให้การสนับสนุน เพราะเห็นว่าจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานในระดับนโยบาย โดยการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์และความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธาน PPP Plastics กล่าวว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหากับวิกฤติขยะพลาสติกที่มีจำนวนมหาศาล องค์กรสหประชาชาติก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งการศึกษานี้ได้หยิบยกมาศึกษาเพื่อหาทางเลือก ได้แก่ ถุงหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบาง หลอดพลาสติก แล้วทิ้งรวมและถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ โดยทั่วไปแล้วขยะพลาสติกมีความคงทนและสามารถทนต่อแรงอัดได้สูงจึงใช้พื้นที่ในการฝังกลบมากกว่าขยะประเภทอื่น อีกทั้งยังใช้เวลาในการย่อยสลายนับร้อยปี พลาสติกที่ถูกทิ้งปะปนลงสู่ทะเลก็สร้างปัญหาใหญ่ ก็คือ ไมโครพลาสติก ทำให้ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณการจัดการและสูญเสียพื้นที่ฝังกลบขยะจากประเด็นปัญหาดังกล่าว
การนำเสนอผลการศึกษาและข้อเสนอการใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกเป้าหมาย โดยนางสาววิศรา หุ่นธานี ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ย้ำถึงการลดและหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นลำดับแรก ใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ซ้ำได้ ส่วนผลิตภัณฑ์ทางเลือกต่าง ๆ ควรใช้เท่าที่จำเป็น แม้ส่วนใหญ่จะย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แต่การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม ได้มีการจำกัดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในบางสถานที่ ซึ่งควรขยายผลให้กว้างขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนออื่น ๆ ที่ครอบคลุมทั้งในขั้นตอนการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การลดขยะพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค และการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนไปสู่ในการกำหนดแนวทางการจัดการพลาสติก และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม และนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน