“ศุภมาส” ให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จัดตั้ง "ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" จังหวัดหนองคาย ระดมถุงยังชีพกว่า 2,000 ชุดมอบผู้ประสบภัย ยันไม่ทอดทิ้ง ฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน ขณะที่อธิการบดี มข.ทำแผนฟื้นฟู วางแผนป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
เมื่อวันที่ 21 ก.ย. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.หนองคาย ซึ่งทำให้หลายพื้นที่ ได้แก่ อ.เมือง อ.สังคม อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.โพนพิสัย และ อ.รัตนวาปี ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 20,000 ครัวเรือน ตนจึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) ซึ่งมีวิทยาเขตใน จ.หนองคาย จัดตั้ง "ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" ขึ้น โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธาน พร้อมด้วยทีมผู้บริหารและบุคลากรจากทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นสรรพกำลังสำคัญของศูนย์ฯ แห่งนี้
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์ฯ ได้เริ่มปฏิบัติการช่วยเหลือทันที โดยได้ส่งความช่วยเหลือชุดแรกออกไป และล่าสุดในวันที่ 20 ก.ย. ได้จัดกิจกรรม "ระดมพลครั้งใหญ่" มีนักศึกษาและบุคลากรกว่า 300 คน ร่วมแรงร่วมใจจัดเตรียมถุงยังชีพกว่า 2,000 ชุด เพื่อนำไปมอบให้ผู้ประสบภัยในวันที่ 22 ก.ย. นี้ โดยถุงยังชีพแต่ละชุดประกอบด้วยสิ่งของจำเป็นพื้นฐาน อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยาสามัญประจำบ้าน และของใช้จำเป็นอื่นๆ
“ดิฉันขอชื่นชมการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของสถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคอีสาน แต่ยังเป็นตัวอย่างของการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ในการรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนในระยะยาวต่อไป” น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า “ขอยืนยันว่า กระทรวง อว. โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เราจะไม่ทอดทิ้งพี่น้องชาวหนองคายและพร้อมให้ความช่วยเหลือตลอดระยะเวลาที่วิกฤตนี้ยังคงอยู่“
ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวว่า นอกจากความช่วยเหลือเร่งด่วนแล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังมีแผนระยะยาวในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย โดยจะส่งทีมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำและภัยพิบัติเข้าไปศึกษาและวางแผนป้องกันน้ำท่วมในอนาคต รวมถึงการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น