ปัจจุบันหลายองค์กรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสุขภาวะของคนทำงานมากขึ้นในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ นั่นคือ สุขภาพทางปัญญา สุขภาพทางสังคม สุขภาพกาย และสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ “สุขภาพจิต”
เห็นได้จากข้อมูลผลสำรวจสุขภาพจิตพนักงานไทย โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า คนวัยทำงานในไทยกว่า 40% มีระดับความเครียดสูง สาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน เช่น การทำงานจากที่บ้าน และความไม่แน่นอนทางธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลการประเมินสุขภาพจิตตนเอง 850,000 คน โดยกรมสุขภาพจิต ระหว่างเดือน ต.ค. 2566 - เม.ย. 2567 พบว่า มีผู้เข้ารับการประเมินเสี่ยงป่วยซึมเศร้า 17.2% เครียดสูง 15.4% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.6%
“สุขภาพคนทำงาน” ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญขององค์กร เพราะความสามารถในการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพของคนทำงานขึ้นอยู่กับสุขภาพกายและจิตใจ หากคนในองค์กรมีสุขภาพที่ดี มีสติ สมาธิ ก็จะตามมาด้วยความสุข และแรงจูงใจในการทำงาน
ในทางกลับกันหากคนทำงานมีปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเกิดจากความเครียด การทำงานหนักเกินไป Work-Life Balance พัง สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การเจ็บป่วย ไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิต องค์กรย่อมต้องเผชิญกับผลกระทบที่ตามมา อาทิ การขาดงาน การทำงานที่ด้อยประสิทธิภาพ และความพึงพอใจในงานที่ลดลง
ปัญหาสุขภาพจิต ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่พบมากขึ้นในช่วงวัยทำงาน และมีแนวโน้มสูงขึ้น จุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพจิตถูกพัฒนามาจาก “ความเครียด” และเมื่อความเครียดสะสมเป็นระยะเวลานาน โดยไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม สามารถพัฒนาไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่ใหญ่มากขึ้น ซึ่งปลายทางอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยหรือสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็น โรคปวดไมเกรน ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) กลุ่มโรควิตกกังวลและแพนิค (Panic Disorder) โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) ภาวะความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low self esteem) โรคไบโพลาร์(bipolar disorder) หรือไปจนถึงโรคซึมเศร้า (Depression)
และแม้ว่า ความเครียดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเป็นเรื่องปกติ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ทุกคนที่รับมือได้
ภาพรวมสุขภาพจิตคนไทยวิกฤต
สสส. เร่งสานพลัง หาทางออก
ล่าสุดบนเวทีงานประชุมวิชาการ Mindfulness in Modern Organization ภายใต้โครงการ จิตวิทยาสติสร้างสุขในองค์กร: สู่ Model การสร้างความยั่งยืน ในสังคมไทย เมื่อ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในไทย ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 อยู่ที่ 4,000 คน/ปี ในขณะที่ช่วงการระบาดตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 คน/ปี โดยกลุ่มที่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงมากอยู่ใน ‘กลุ่มวัยรุ่นและผู้สูงอายุ’ แม้ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดสิ้นสุดลง แต่ตัวเลขกลับไม่ลดลงและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโรคซึมเศร้าที่มีตัวเลขพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะใน ‘กลุ่มเด็ก เยาวชน และกลุ่ม First Jobber ซึ่งกลุ่มนี้รวมกันเกิน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงถือเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
ทั้งการฆ่าตัวตายและโรคซึมเศร้า นายพงษ์ศักดิ์ มองว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลพวงจากโควิด-19 เนื่องจากต้องถูกกักตัวที่บ้านและขาดโอกาสในการออกไปพบปะผู้คน และสถานการณ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่างต่อเนื่อง
“มองลึกถึงนโยบายการดูแลสุขภาพจิต ควรเริ่มจากกลุ่มฐานล่างที่มีอาการทางจิตขั้นรุนแรง ไล่ขึ้นมาเป็นกลุ่มบน ๆ อย่างพวกติดยาเสพติดและติดแอลกอฮอล์ ซึ่งกลุ่มนี้ได้รับการดูแลรักษาจาก สสส. โดยมีการตั้งมินิธัญญารักษ์ขึ้นมา เพื่อดูแลเรื่องสุขภาพกลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะ ในขณะที่อีกกลุ่มที่ยังขาดการดูแลคือ กลุ่มสุขภาพจิต อาทิ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ ซึ่งเราจะต้องหาวิธีเข้าไปดูแลเขาและทำให้เขาดีขึ้น ซึ่งผมคาดว่า MIO จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เข้าไปช่วยดูแลคนกลุ่มนี้”
จาก “MIO” สู่ “miniMIO”
เครื่องมือที่ว่าด้วยการ ‘ใช้สติในทางจิตวิทยาและศาสตร์สมอง’
MIO (Mindfulness in Organization) หรือ โปรแกรมสร้างสุขด้วยสติในองค์กร หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “วิถีสติในองค์กร” พัฒนาภายใต้โครงการจิตวิทยาสติสร้างสุขในองค์กร: สู่ Model การสร้างความยั่งยืน ในสังคมไทย ส่งเสริมให้ผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้คนทำงานทุกคน โดยมีแนวคิดจากองค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) และกรอบแนวคิดความสุข 8 ประการ (Happy 8) โดย สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เข้าไปสนับสนุนร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ (สวร.) ตั้งแต่ปี 2557
โดยเป็นเครื่องมือที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่ดีของคนทำงาน ผ่านการฝึกอบรมในระดับผู้นำองค์กร และขยายผลสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การกำหนดนโยบายด้านสุขภาพจิตในองค์กร มุ่งเน้นขับเคลื่อนในเป้าหมายหลัก อย่าง สถานประกอบกิจการ โรงพยาบาล และสถานศึกษา
และขณะนี้กำลังดำเนินการผลักดันสู่ “miniMIO”
“จากการดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ค้นพบว่า การที่จะทำทั่วทั้งองค์กรค่อนข้างยาก ถึงจะ Training ให้ง่ายแถมมีเครื่องมือที่ทำให้เป็นวิถีองค์กร แต่ด้วยภารกิจขององค์กรที่มีเยอะมาก และการเรียนรู้เรื่องจิตขั้นสูงกว่าความยากควรเริ่มต้นจากเล็กไปใหญ่ สสส. เลยเสนอการทำ miniMIO แทนที่จะทำทั้งองค์กรก็เริ่มต้นจากหน่วยนำร่องในองค์กรนั้น ๆ ก่อน”
“เราเริ่มโครงการ miniMIO มาได้ประมาณ 3 ปี ซึ่งองค์กรที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น พอทำ miniMIO ได้ เขาก็ Step Up ขึ้นไปเป็น MIO เพราะมีประสบการณ์อยู่แล้ว มีทรัพยากรบุคคลที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งทรัพยากรบุคคลก็เอามาพัฒนาเป็น Trainer แล้วนำประสบการณ์ไปขับเคลื่อนเป็นวิถีองค์กรต่อไป”
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และที่ปรึกษาโครงการจิตวิทยาสติสร้างสุขในองค์กรฯ ขยายความต่อว่า miniMIO ยังคงมีรูปแบบเช่นเดียวกับ MIO โดยแบ่งออกเป็นการเรียนรู้ 3 เรื่องหลัก ได้แก่
-หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 สติกับการเรียนรู้พัฒนาตน ประกอบด้วย กรอบแนวคิดและบุคคลในดวงใจ การฝึกสมาธิ และการฝึกสติ
-หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 สติในทีม ทำงานร่วมกันด้วยมิตรไมตรี โดยอาศัยหลักสำคัญคือการพูดและฟังอย่างมีสติและสติในการคิดบวก
-หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 สติกับการพัฒนาองค์กร ประกอบด้วยเรื่องการประชุมด้วยสติสนทนาแบบกัลยาณมิตร และการประชุมด้วยสติสนทนาแบบอภิปรายอย่างสร้างสรรค์
โดยเครื่องมือ 3 ชนิดที่ว่าจะเข้าสู่องค์กรด้วย 2 กลไกคือการฝึกอบรมอย่างมีคุณภาพ และวิถีองค์กร
“สภาวะสุขภาพจิตที่มากขึ้น ในแง่หนึ่งก็น่าเป็นห่วง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่จะทำให้คนเรียนรู้ เป็นโอกาสให้คนเริ่มแสวงหาวิธีการการจัดการกับภาวะสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้น ซึ่งการเรียนรู้เรื่องของสุขภาพจิตมีหลายแบบ บางคนศรัทธาในศาสนาและปฏิบัติในสิ่งที่ดีทางศาสนา ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ว่าคนที่ไม่มีหลักยึดก็จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่ง MIO ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้คนสนใจเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการมีทางเลือกแนวจิตวิทยาและศาสตร์สมองก็จะทำให้คนเข้าถึงจิตใจของตนได้เช่นกัน และเป็นเกราะป้องกันที่ดีมาก”
ลงทุนกับคนทำงาน
คือความคุ้มค่าที่ไม่มีวันหมดอายุ
นพ.ยงยุทธ กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์ไว้ว่า วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อเป็นระยะเวลานานได้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อองค์กรหลายแห่ง ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานการณ์มีความท้าทายมากขึ้นคือความยาวนานและต่อเนื่องของวิกฤต ซึ่งส่งผลให้บางองค์กรต้องปิดกิจการ เนื่องจากไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ รวมถึงไม่สามารถจัดสรรสวัสดิการที่เพียงพอให้แก่บุคลากรได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบในด้านอื่นที่เชื่อมโยงกัน ดังนั้น การพัฒนาองค์กรให้ก้าวข้ามวิกฤตที่ยาวนาน จำเป็นต้องใช้เครื่องมือหลายประเภท และไม่ใช่ทุกองค์กรที่สามารถใช้เครื่องมือเดียวกันได้
และย้ำอีกครั้งว่า องค์กรที่อยากประสบความสำเร็จจะต้องมีวิสัยทัศน์เรื่องสุขภาวะของคนให้มาก เพราะองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับบุคลากรจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านความยั่งยืนในระยะยาว
ขณะนี้มีองค์กรของประเทศไทยที่ทำ MIO อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่า 100 องค์กร
สำหรับเป้าหมายหลัก นพ.ยงยุทธ เอ่ยว่า สวร. พร้อมส่งเสริมการสร้างองค์กรที่มีศักยภาพให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายมอบทุนสนับสนุนให้องค์กรอย่างน้อย 50 แห่ง เพื่อพัฒนาองค์กรให้สามารถนำแนวคิดสติในองค์กรไปปรับใช้ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากตระหนักดีว่า หลายองค์กรกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและมีข้อจำกัดในการลงทุนพัฒนาบุคลากรด้วยตนเอง
ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนองค์กรเหล่านี้ให้ก้าวผ่านอุปสรรคทางเศรษฐกิจและนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันแม้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ มีผู้ฝึกสอนช่วยแนะนำ องค์กรต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาแหล่งข้อมูลที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ในอนาคตอาจมีการขยายขอบเขตเพิ่มเติมด้วยการจัดตั้งองค์กรต้นแบบ พัฒนาพอดแคสต์ เว็บไซต์ และแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ (e-learning) เพื่อให้คนเข้าถึงแหล่งความรู้สะดวกยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สวร. ได้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ศูนย์กลางในการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์กร ปัจจุบันมีการดำเนินการครบ 1 ปีแล้ว
MIO โตไปพร้อมกับการรับใช้สังคม
“โปรแกรม miniMIO ถูกนำร่องใช้งานในองค์กรภาครัฐและเอกชนจำนวน 15 แห่ง ซึ่งพัฒนาให้เกิดเป็นต้นแบบองค์กรชั้นนำด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตของประเทศ ทั้งนี้ มีแผนขยายผลเพื่อให้มีองค์กรที่ขับเคลื่อนการดูแลสุขภาพจิตคนทำงานอย่างเป็นระบบเพิ่มขึ้นเป็น 45 แห่ง ภายในปี 2570 และเตรียมพร้อมเป็นเครือข่ายองค์กรสุขภาวะเพื่อขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพครอบคลุมทุกมิติ” นายพงษ์ศักดิ์ เสริมข้อมูล
ส่วนของประเด็นการสร้าง MIO ให้โตไปพร้อมรับใช้สังคมได้อย่างไรนั้น นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. ได้พูดในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า หนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อน MIO ในประเทศไทย เพื่อทำให้คนเข้าร่วมและนำไปใช้มากที่สุด ต้องอาศัย กลยุทธ์การตลาดโดยการเจาะตลาด (Market Penetration Strategy) ว่าด้วยกลยุทธ์ที่นำเสนอวิธีการขยายธุรกิจ โดยนำสินค้าหรือบริการที่มีอยู่แล้วมุ่งเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด
เริ่มที่ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการขององค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะการพัฒนา miniMIO ซึ่งเป็นการปรับขนาดโปรแกรมให้เหมาะสม นอกจากนี้ Podcast Series การขยายฐานผู้ใช้งานผ่านสื่อด้วยการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง อาทิ นิ้วกลม ที่จะช่วยให้แนวคิดของ MIO เข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้กว้างขึ้น
Facilitator Model จะช่วยขยายการดำเนินงานอย่างรวดเร็วและคงมาตรฐานไว้ จากเดิมที่ต้องใช้ผู้บรรยายหรือพิธีกรเฉพาะในการฝึกอบรม ต่อไปอาจมีการใช้สื่อที่มีทีมงานร่วมพูดคุยแทน โดยมี Facilitator ที่ได้รับการอบรมทำหน้าที่ช่วยสอน ทำให้การถ่ายทอดความรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถรองรับคนได้มากขึ้น
รวมทั้งต้องมีการเข้าร่วมโครงการเพื่อสังคม SET Social Impact ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มุ่งเน้นในการสนับสนุนและพัฒนาทักษะทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเพื่อสังคม โดยนำธุรกิจเพื่อสังคมมาพัฒนาให้มีลักษณะการดำเนินงานที่คล้ายสตาร์ทอัพ แต่มีเป้าหมายหลักในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ซึ่งโครงการนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจเพื่อสังคมเติบโตอย่างยั่งยืน
ที่น่าสนใจในประเด็นเดียวกัน นายพงษ์ศักดิ์ ยังนำเสนอไอเดียอื่น ๆ ที่กำลังพิจารณา โดยมองไปถึง มุม 4P (Product Price Place Promotion) Marketing Mix
เริ่มจาก “Product” ต้อง ประเมินระยะสั้นและระยะยาว การนำโปรแกรม MIO ไปใช้ หลายองค์กรมีความคาดหวังให้มีการประเมินผลที่ชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม Positioning เน้นสร้างเสริมและป้องกัน Certified Trainer หา Certification Body ที่มีบทบาทในการคัดเลือกบุคคล Segmentation by Audien /Age Group /Topics แบ่งกลุ่มเป้าหมายตามช่วงอายุและประเภท จะช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย
“Price” เริ่มที่ One-time Vs Membership พิจารณาการทำระบบ Membership ให้คนสามารถเข้ามาหยิบเครื่องมือไปใช้ในระยะยาว เพราะแค่อบรมคงไม่พอ แต่อยากให้เกิดการฝึกหัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง Membership อาจตอบโจทย์ตรงนี้ได้ ‘Multiple package formats นำเสนอผลิตภัณฑ์ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านผู้เชี่ยวชาญ (Guru) การอบรมโดยวิทยากร (Facilitator) การผสมผสานการฝึกอบรมทั้งในรูปแบบปกติและออนไลน์ (Hybrid) และการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) รวมทั้งสร้างพื้นที่ออนไลน์ Free Open Chat community ให้ทุกคนมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับทุกคน
“Place” เครือข่าย สสส. สำนัก 8 (Early Adopters) สสส. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน โดยเฉพาะสำนัก 8 ที่มีเครือข่ายหลากหลาย กลุ่มเป้าหมายหลักที่ควรได้รับการส่งเสริมคือ Early Adopters หรือผู้ที่เป็นผู้นำกระแส ทั้งนี้ การทำงานควรครอบคลุมไปยังกลุ่มทหาร ตำรวจ กรมราชทันณ์ ซึ่งเป็นงานประเภทที่ต้องใช้สติในการทำงาน รวมทั้งกระจายสู่ ศูนย์ภาคกรมสุขภาพจิต PMAT ให้มี Certified MIO Trainner (Early Majority) ควรสนับสนุนการตรวจสุขภาพจิตฟรี Encourage FREE Mental Health Check-in) ซึ่งเป็นบริการที่ สสส. ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ต้องมีการขยายการเข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากขึ้น
“Promotion” มุ่งเน้นไปที่ To Early Adopter groups หรือกลุ่มผู้นำกระแส ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำเทรนด์และนวัตกรรมใหม่ ๆ นอกจากนี้ยังเน้นกลุ่ม Severe / Risky Group เช่น เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงการจัด Seasonal Promotion เนื่องจากการวิจัยพบว่า ช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่และสงกรานต์ มีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมในการนำ MIO มาช่วยจัดการ
“คนไทยทำงานประมาณ 40 ล้านคน มีโรงพยาบาลและหน่วยบริการสาธารณสุขราว ๆ 14,000 แห่งต่อแสนคน มีแพทย์ 1,500 ต่อแสนคน ในขณะที่จิตแพทย์ 1.2 ต่อแสนคนเอง ดังนั้น ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้สถานประกอบกิจการเป็นเหมือนตาข่ายที่ช่วยกรองและแก้ปัญหาสุขภาวะเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เจ็บป่วยหรือไปหาหมอให้น้อยที่สุด ซึ่งก็อยากจะเชิญชวนทุกองค์กรใช้สถานประกอบการกิจการดูแลพนักงานของท่านให้ดีที่สุด ซึ่งที่สำคัญก็คือเป็นการเซฟคุณหมอด้วย”
“ผมมองว่า งานนี้ไม่ใช่งานง่าย ๆ ท้าทายมากในการที่จะเชิญชวนให้คนมาปรับพฤติกรรม ซึ่งผมเชื่อว่า ถ้าทำจริง เราก็สามารถทำได้ แล้วก็เชื่อว่า ความมั่งคั่งของธุรกิจมันขึ้นอยู่กับสุขภาพของคนวัยทำงานจริง ๆ” นายพงษ์ศักดิ์ ทิ้งท้าย
ผู้บริหารหนุนนำ ทีมทำเข้าใจ
เมื่อมีการนำไปใช้แล้วก็ต้องมีตัวอย่างความสำเร็จ นายกฤตยา รามโกมุท COO&CEO บริษัท โกลบอลเทคโนโลยี อินทิเกรเทด จำกัด เล่าให้ฟังว่า EPG บริษัทพัฒนานวัตกรรมด้านโพลิเมอร์และพลาสติก ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนานถึง 46 ปีและจำหน่ายสินค้าสู่ 100 ประเทศทั่วโลก ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในฐานะองค์กรที่เติบโตจากรากฐานคนไทย ผู้บริหารขององค์กรมีความมุ่งเน้นการปฏิบัติธรรมและส่งเสริมให้พนักงานเข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรมตามโอกาสต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทั้งในด้านชีวิตและการทำงาน
ก่อนที่ปี 2563 โควิด-19 ทำให้เล็งเห็นถึงปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นกับพนักงานและผู้บริหารในองค์กร เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ MIO เพื่อนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน และกำลังขยายโครงการนี้ไปยังบริษัทในเครือ ในช่วงเวลากว่า 4 ปีที่ดำเนินโครงการจนถึงปัจจุบัน มีพนักงานกว่า 1,000 คนจากพนักงานทั้งหมดประมาณ 2,800 คนที่ผ่านการอบรมหลักสูตร MIO เริ่มต้นจากผู้บริหารระดับสูงสุดที่เข้าอบรมเป็นกลุ่มแรก นอกจากนี้ยังมีวิทยากร MIO ภายในองค์กรกว่า 22 คน
และภายใต้โครงการดังกล่าว EPG มีการพัฒนาหลักสูตรใหม่ที่ชื่อว่า "From Value to Living" หรือ "จากคุณค่าสู่การลงมือทำ" เพื่อให้พนักงานได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ตามค่านิยมขององค์กร ทั้งนี้ ยังมีการพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า "MIO Card" หรือ "EPG MIO Card" ที่ถอดมาจาก 10 คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่องค์กรต้องการให้เกิดขึ้นในบริษัท
“ตอนนี้มีประมาณเกือบ 200 คนที่เข้าหลักสูตรดังกล่าว เราเชิญพนักงานเข้ามารวมกลุ่มและให้เขาเอาปัญหาหน้างานมาเป็นตัวตั้ง อย่างเวลาเจอปัญหา เราเข้าถึงเข้าใจที่มาของปัญหาหรือยัง เราได้ทดลองหรือออกแบบกระบวนการแก้ไขแล้วหรือยัง แผนต่อไปที่จะทำจริงคืออะไร พยายามถอดกระบวนการออกมาเป็นขั้น ๆ ก่อน ใช้วิถีสติในองค์กรตัวนี้เข้าไปแทรกซึมเพื่อให้เห็นว่า การมีสติในองค์กรนั้นสำคัญมาก ๆ สำหรับการพูดคุย สื่อสารและแก้ไขปัญหาร่วมกัน”
กฤตยา กล่าวต่อว่า การขยายผลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในบริษัทหลักและบริษัทในเครือ พร้อมยกระดับวางเป็นเป้าหมายทางธุรกิจ โดยนำโครงการ MIO สร้างเป็นนโยบายกลางในบริษัท เปิดพื้นที่ให้คณะทำงานแต่ละหน่วยงานให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการและขยายผลให้ทั่วทั้งองค์กร พร้อมทั้งวางแผนพัฒนา MIO Master Plan และ MIO Blueprint เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินงานและหลักสูตรที่เหมาะสม สำหรับพนักงานในแต่ละระดับ
สุดท้ายนี้ ใครที่กำลังมองหาโครงการดี ๆ อยู่ วันนี้โครงการจิตวิทยาสติสร้างสุขในองค์กรฯ มีนวัตกรรมแอปพลิเคชัน "ระฆังสติ" ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยพนักงานฝึกสมาธิและเสริมสร้างความสงบ เมื่อเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย และสำหรับองค์กรที่สนใจใช้งานโปรแกรม miniMIO สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.thaimio.com