xs
xsm
sm
md
lg

การดูแลสุขภาพเท้า ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์ ดร. กภ.ภาวิณี หฤทัยชื่น
อาจารย์คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล


“เท้า” เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญของร่างกายมนุษย์ ทำให้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นอวัยวะที่พาเราเดินทางไปได้ยังทุกแห่งหน หากเราดูแลเท้าได้ไม่ดีพอ ขาดความระมัดระวัง หรือเกิดอุบัติเหตุ ทำให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้

อาจารย์ ดร. กภ.ภาวิณี หฤทัยชื่น อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เท้าเป็นโครงสร้างเล็ก ๆ ที่รับน้ำหนักของร่างกายได้ เพราะเท้าเป็นโครงสร้างที่มีกระดูก 26 ชิ้น เรียงตัวต่อกันฟอร์มเป็นอุ้งเท้า ยังมีตัวเอ็นยึดระหว่างกระดูก กล้ามเนื้อทั้งบริเวณขาและใต้ฝ่าเท้า พังผืดขนาดใหญ่บริเวณฝ่าเท้าที่ช่วยให้เกิดการคงรูปอุ้งเท้า ซึ่งอุ้งเท้ามีบทบาทมากในการรับและกระจายน้ำหนักตัวจากร่างกายของเราขณะทำกิจกรรมไม่ว่าเดิน หรือวิ่ง อุ้งเท้าจะหดตัวและยืดยาวออกได้เหมือนสปริง มีการยืดยาวออกเพื่อกระจายน้ำหนัก หดตัวเมื่อต้องรับน้ำหนัก เมื่อมีการรับน้ำหนักต้องมีการกระจายน้ำหนักบริเวณเท้าเพื่อไม่ให้กดตัวบริเวณใดบริเวณหนึ่งมากจนเกินไป สปริงที่มีความยืดหยุ่นไม่ดี จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณเท้าได้ง่าย ความยืดหยุ่นหรือสปริงนี้ก็จะลดลงตามอายุที่มากขึ้น การดูแลเท้าที่ดีที่สุด คือ การทำให้เท้ารับแรงกระแทกน้อยลง ซึ่งจะช่วยลดการบาดเจ็บของเท้าและอุ้งเท้า

โครงสร้างเท้าของคนเรามี 3 รูปแบบ คือ “เท้าปกติ” “เท้าสูง” และ “เท้าแบน” การสังเกตลักษณะเท้าของตัวเองอย่างง่าย จากการเข้าห้องน้ำ “คนเท้าปกติ” จะเปียกเป็นรอยเท้าด้านหน้าเท้า ส้นเท้าและกลางเท้า “คนเท้าสูง” พื้นที่กลางเท้าจะแทบไม่เห็นเลย ส่วนคน “เท้าแบน” รอยเปียกนี้จะเต็มทั้งฝ่าเท้า

ผู้ที่มีโครงสร้างที่มีลักษณะ “เท้าสูง” และ “เท้าแบน” จะต้องทำความเข้าใจในลักษณะของรูปเท้าของตน เพื่อให้เกิดการดูแลที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อสุขภาพเท้าที่ดี ลักษณะของ “เท้าสูง” หรือ “เท้าบิดออกด้านนอก” สังเกตได้จากเวลาที่เรายืน การลงน้ำหนัก น้ำหนักจะลงด้านข้างเท้าฝั่งนิ้วก้อยและส้นเท้า ทำให้การกระจายน้ำหนักได้ไม่ดี อาจเกิดอาการบาดเจ็บรอบข้อเท้า หรือภายในเท้าได้ สำหรับคนที่มีอุ้ง “เท้าสูง” มากเกินไปอาจมีการบิดของข้อเท้า ขึ้นไปถึงหัวเข่าได้ ส่วนลักษณะ “เท้าแบน” หรือ “เท้าบิดเข้าด้านใน” น้ำหนักจะลงอุ้งเท้าด้านในมากเกินไป การกระจายน้ำหนักภายในเท้าจะดีกว่า “เท้าสูง” เนื่องจากพื้นที่ในการรับน้ำหนักมีมากกว่า การบาดเจ็บรอบข้อเท้า หรือภายในเท้าจึงเกิดได้น้อยกว่า “เท้าสูง” แต่อาจพบการบาดเจ็บขึ้นไปถึงเข่า สะโพก หรือหลังได้ ในบางครั้ง คนไข้ที่บอกว่า มีอาการปวดหลังหรือปวดเข่า อาจตรวจพบได้ว่าคนไข้มีภาวะเท้าแบนร่วมด้วย ทั้งนี้ ลักษณะอุ้งเท้ายังเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ ถ้าเจอว่าเด็กเท้าแบน จากกรรมพันธุ์ ค่อนข้างจะรักษายาก เราสามารถสังเกตได้เนิ่น ๆ อุ้งเท้าคนเราจะเริ่มฟอร์มตอน 3-4 ขวบ และ 7-9 ขวบพัฒนาได้ชัดขึ้น ถ้าหากคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ใหญ่สามารถสังเกตได้เร็ว ก็จะช่วยหาวิธีป้องกันอาการบาดเจ็บหรือเมื่อยเท้าได้ด้วยการปรับรองเท้าได้เหมาะสม

อาจารย์ ดร. กภ.ภาวิณี กล่าวต่อว่า การเลือกรองเท้าที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยในการดูแลสุขภาพเท้า โดยมีปัจจัยอยู่หลายข้อ ได้แก่ “อายุ” สำหรับคนที่อายุน้อยๆ เลือกใช้รองเท้าแฟชั่นได้ แต่ถ้ามีปัญหาเท้า ไม่ว่าจะเป็นเท้าสูงหรือเท้าแบน อาจจะต้องพิจารณารองเท้าที่มีพื้นหนาหน่อย และยืดหยุ่นดี สำหรับคนที่อายุเริ่มเยอะขึ้น อุ้งเท้าที่เหมือนสปริง ยืดหยุ่นน้อยลงเพราะโครงสร้างความแข็งแรงลดลงตามอายุ พื้นรองเท้าที่เหมาะสม ต้องเป็นพื้นที่มีความหนา ยืดหยุ่น มั่นคงมากขึ้น ต้องคำนึงถึงการรับแรงกระแทกที่น้อยลง เช่น รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าที่มีการหุ้มบริเวณรอบข้อเท้า เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ “การเลือกพื้นรองเท้า” ถ้ารองเท้าพื้นแบนหรือบาง จะรับแรงกระแทกเยอะกว่าพื้นหนา พื้นรองเท้าไม่ต้องหนามากก็ได้ แต่ต้องมีความยืดหยุ่นที่ดี การตรวจสอบเบื้องต้นว่า พื้นรองเท้ามีความยืดหยุ่นดีหรือไม่ อาจทำได้โดยการจับปลายรองเท้าทั้งสองข้างให้งอเข้าหากัน หากมีการหักงอตรงกลางมาก แสดงว่าความยืดหยุ่นไม่ดี พื้นรองเท้าที่ดี ไม่ควรมีการหักงอตรงกลางมากเกินไป “ลักษณะของรองเท้าที่สวมใส่” การเลือกรองเท้าต้องพิจารณาลักษณะเท้าของตัวเอง รองเท้าหน้าแคบ เมื่อใส่นานๆ เกิดการบีบรัดเส้นประสาทที่อยู่ระหว่างนิ้วเท้า ทำให้เกิดการบาดเจ็บหน้าเท้า หรือชาได้ รองเท้าส้นสูงเกิน 2 เซนติเมตร อาจทำให้เกิดการล้ม หรือเกิดข้อเท้าพลิกได้ง่าย การเลือกรองเท้าให้เหมาะกับ “กิจกรรม” เช่น ยืน เดิน วิ่ง ถ้าคนยืนนาน ควรเลือกรองเท้าที่มีพื้นรองเท้าที่หนาและยืดหยุ่นดี แต่ถ้าเดินเยอะ เดินตลอดเวลา เลือกรองเท้าที่มีปลายหน้าเท้าเชิดขึ้นเล็กน้อย จะช่วยให้เมื่อยน่องน้อยลง เพราะช่วยลดแรงในการถีบตัวขณะเดิน เมื่อใช้เท้าเยอะ กล้ามเนื้อน่องจะถูกใช้งานด้วย ถ้าเป็นการวิ่ง จะมีการเลือกรองเท้าที่เหมาะกับกิจกรรม แต่ถ้าวิ่งเพื่อออกกำลังกาย ควรเลือกผ้าใบที่เพิ่มความมั่นคงกับข้อต่อบริเวณเท้า เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บขณะออกกำลังกาย เช่น การใช้ Stability running shoes สำหรับคนทั่วไป หรือ Motion control running shoes สำหรับคนเท้าแบน เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องคอยสังเกตตัวรองเท้า ด้านพื้นรองเท้า ที่สัมผัสกับพื้นผิวเหล่านี้ หากพบมีการสึกที่มาก ควรเปลี่ยนรองเท้าเพื่อไม่ให้เกิดการลื่นล้มระหว่างการทำกิจกรรม

การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันมีความเสี่ยงต่อโอกาสที่ทำให้เท้าของเราเมื่อย หรือบาดเจ็บได้ การดูแลเท้าเมื่อมีอาการเจ็บ หรือปวดเมื่อย มี 3 หลักการ ได้แก่ “พักเท้าให้บ่อยที่สุด” ปรับกิจกรรมที่ทำให้ได้พักเท้า เพราะเราหยุดใช้งานไม่ได้แน่นอน เช่น บางคนต้องยืนหรือเดินอย่างต่อเนื่องเพื่อทำงาน พอเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะแบ่งเวลาในการพักเท้าบ้าง ประมาณ 1-2 นาทีก่อนกลับไปยืนหรือเดินต่อ และพักให้บ่อยที่สุด เพื่อช่วยบรรเทาไม่ให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง การพักเท้าสามารถทำได้โดยการนั่ง หรือการใช้หลังพิงกำแพง เพื่อลดการลงน้ำหนักที่เท้า หากยังต้องใช้ชีวิตประจำวัน ยืน หรือเดิน ให้ “ลดแรงกระแทกต่อเท้า” ด้วยการเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับกิจกรรม และให้เหมาะสมกับลักษณะเท้าดังที่กล่าวข้างต้น หรือการใช้ตัวพยุงข้อเท้า (Ankle support) ขณะทำกิจกรรม เพื่อไม่ให้ลงน้ำหนักที่เท้ามากขึ้น อีกทั้งยังมีการใช้แผ่นเสริมในรองเท้า ซึ่งมีทั้งแบบสำเร็จรูป และแบบทำขึ้นเฉพาะกับโครงสร้างเท้าแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ในทุกการยืนและเดิน ย่อมทำให้มีการอักเสบเกิดขึ้น จึงควรใช้ “การปฐมพยาบาลเบื้องต้น” โดยการประคบเย็นตรงบริเวณที่ปวด หรือแช่เท้าในน้ำผสมน้ำแข็งทุกวัน ประมาณ 15 นาที วันละ 1-2 ครั้ง เช้า – เย็น หรือหลังเลิกงาน แต่หากทำทุกวิธีดังกล่าวแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ขอให้มาพบนักกายภาพบำบัดเพื่อปรึกษาและรับคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป

ดังนั้น “เท้า” จึงเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างยิ่ง เพราะเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้มนุษย์สามารถเคลื่อนตัวไปยังที่ต่าง ๆ ได้ด้วยการเดิน วิ่ง หรือกระโดด แต่คนส่วนมากมักละเลยที่จะดูแลสุขภาพเท้าของตัวเอง ฉะนั้นเราควรที่จะใส่ใจดูแลเพื่อให้สุขภาพเท้าของเราที่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น