xs
xsm
sm
md
lg

ภาพจำประเมินภายนอก “สมศ.” ครั้งใหม่จาก “จับผิด” สู่ “จับมือพัฒนา” พร้อมฟังเสียงจากผู้ร่วมจับมือ “สพฐ. - อปท.” กับการดึงความมั่นใจ ประเมินรอบใหม่ที่ใครๆ ก็อยากประเมิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนกลับไปในอดีต หากเอ่ยถึงการประเมินคุณภาพภายนอก “ภาพจำ” ที่สถานศึกษาส่วนใหญ่มักนึกถึง คือ กระบวนการที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด สร้างความวิตกกังวล เพราะกลัวว่าจะไม่ผ่านการประเมินในขณะที่ผู้ประเมินภายนอกก็มักจะถูกมองว่าดูไม่ค่อยเป็นมิตร เหมือนมา “จับผิด” มากกว่ามาชวน “จับมือกัน” พัฒนา ไหนจะต้องจัดเตรียมเอกสารให้ตรวจสอบเป็นกองพะเนิน เตรียมพิธีการต้อนรับผู้ประเมิน เพิ่มภาระงานสร้างความกดดันให้กับครูและบุคลากรในสถานศึกษาอยู่ไม่น้อย จนหลายๆ ครั้ง ส่งผลให้สถานศึกษาหลายแห่งไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงกับผู้ประเมิน หรือ กลัวที่จะต้องเข้ารับการประเมิน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเสียงสะท้อนเหล่านี้ และได้นำมาปรับปรุง พัฒนาการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกยุคใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานศึกษาเนื่องจากได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก 1. การมุ่งลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา การกำหนดเกณฑ์การประกันคุณภาพภายนอกที่สอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายใน ลดการใช้เอกสาร งดพิธีการต้อนรับต่างๆ 2. การเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ และ 3. มุ่งเน้นประเมินเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) ไม่มีการตัดสินผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน มีแค่ “เป็นไปตามมาตรฐาน” และ “อยู่ระหว่างการพัฒนา”

แล้วความพยายามของ สมศ. ก็ไม่สูญเปล่า เพราะหลังจากที่ได้มีการปรับเปลี่ยนกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกใหม่ ส่งผลให้สถานศึกษาพอใจ และได้เสียงตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดจากการประเมินคุณภาพภายนอกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีสถานศึกษาแจ้งความประสงค์เพื่อขอเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกสูงถึง 5,134 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นราว 20% จากเป้าเดิมที่ตั้งไว้ที่ 4,220 แห่ง สะท้อนให้เห็นว่าสถานศึกษาเปิดใจและยอมรับแนวทางการประเมินในรูปแบบใหม่นี้


สพฐ. ชี้"ประเมินภายนอก" มิติใหม่แห่งความร่วมมือ และลดภาระสถานศึกษาจริง
ดร.มธุรส ประภาจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงการประเมินคุณภาพภายนอกในครั้งนี้ว่า ถือเป็นมิติใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดต่างๆ และ สมศ. โดยตนเองในฐานะที่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมจัดทำเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกและพัฒนารูปแบบการประเมิน โดยได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ระดับนโยบาย และในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการทำเกณฑ์หรือการประกาศมาตรฐานการประกันคุณภาพภายใน เห็นได้ชัดว่ากรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. นั้นเชื่อมโยงและสอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในที่สถานศึกษาทุกแห่งต้องทำอยู่แล้วจริงๆ สะท้อนให้เห็นความตั้งใจจริงของ สมศ. ที่ต้องการลดภาระครูและสถานศึกษา ซึ่ง สพฐ. ได้พยายามชี้แจงสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาในสังกัดให้ปรับเปลี่ยนมุมมอง เลิกมองว่าการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นภาระ เพราะสถานศึกษาไม่ต้องทำอะไรเพิ่มจากงานประจำที่ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยดูว่างานที่ทำเป็นอย่างไร เปรียบเหมือนมีกระจกอีกบานที่มาช่วยสะท้อนให้สถานศึกษาเห็นภาพการทำงานของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดย ดร.มธุรส ได้เล่าถึงเสียงตอบรับของสถานศึกษาว่า “หลังจากที่ สมศ. ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ไม่ใช่ประเมินเพื่อจับผิดหรือตัดสิน สถานศึกษาต่างๆ ก็ค่อยๆ ปรับมายด์เซ็ตที่มีต่อการประเมินคุณภาพภายนอก ส่งผลให้ทัศนคติของสถานศึกษาในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เริ่มเข้าใจและมองเห็นประโยชน์ของการประเมินคุณภาพภายนอกมากขึ้น ซึ่งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน โดย สมศ. เป็นกระจกคอยสะท้อนว่าอะไรที่ยังขาด สถานศึกษาคอยเป็นผู้เติม และเขตพื้นที่การศึกษา หรือ สพฐ. เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนก็จะเป็นการร่วมมือร่วมใจกันช่วยยกระดับ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป”


สถานศึกษา สังกัด อปท. เชื่อมั่น สมศ. ตบเท้าเข้าร่วมประเมินกว่า 80%
ด้านนางสาวชลิดา ยุตราวรรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาปฐมวัยและศูนย์เด็กเล็ก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. มีโรงเรียนในสังกัดกว่า 1,700 แห่ง มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกกว่า 18,000 แห่ง รวมสถานศึกษาในสังกัด กว่า 19,000 แห่ง สำหรับการประเมินในรอบปัจจุบัน อปท. ได้มีการแจ้งไปยังสถานศึกษาที่ครบกำหนดเข้ารับการประเมินและพบว่ามีสถานศึกษาที่สมัครใจและพร้อมเข้ารับการประเมินกว่า 80% จากจำนวนที่แจ้งไปซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่สถานศึกษาจำนวนมาก มองเห็นประโยชน์และความสำคัญของการประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งคาดว่ามาจาก 2 สาเหตุหลักๆ โดยสาเหตุแรกมาจากการที่ สมศ. ได้ใช้วิธีการประเมินรูปแบบใหม่ที่มุ่งลดภาระสถานศึกษา ไม่ต้องมีพิธีต้อนรับ เน้นประเมินเพื่อพัฒนาไม่ใช่ประเมินเพื่อจับผิดหรือตัดสิน อปท. จึงได้มีการสื่อสารให้สถานศึกษารับทราบ และให้เตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมิน อีกทั้งสถานศึกษาที่เคยเข้ารับการประเมินรูปแบบใหม่มาแล้วยังช่วยกันบอกปากต่อปากด้วยว่า สมศ. เปลี่ยนไปแล้ว สมศ. ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ทำให้สถานศึกษาผ่อนคลายความวิตกกังวล

ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุ คือ ที่ผ่านมา สถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักถูกมองว่ามาตรฐานและคุณภาพการศึกษาต่ำกว่าสถานศึกษาในสังกัดอื่น ทำให้ผู้ปกครองไม่ค่อยมั่นใจที่จะส่งลูกหลานมาเรียน จำนวนนักเรียนเข้าใหม่จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางสถานศึกษาจึงเล็งเห็นความจำเป็นและต้องการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก เนื่องจากเชื่อว่าหากได้รับการประเมินและรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่มีมาตรฐาน เป็นกลาง และเชื่อถือได้อย่าง สมศ. จะทำให้ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจและไว้วางใจที่ส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาเล่าเรียนเพิ่มมากขึ้น

“อยากฝากถึงคุณครูและสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต ทางเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมศ. หรือภาคีในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ต่างเป็นพี่เลี้ยงและเป็นกำลังใจให้กับสถานศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นท่านไม่ต้องวิตกกังวล ท่านสามารถสื่อสาร ขอคำแนะนำ หรือขอความช่วยเหลือเข้ามาที่ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคที่เป็นพี่เลี้ยงของท่านได้ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่เป็นพี่เลี้ยงและดูแลท่านมาโดยตลอด เพราะเราจะอยู่เคียงข้างท้องถิ่น และไม่ทิ้งกันแน่นอน” นางสาวชลิดา กล่าว


สมศ. สร้างความมั่นใจ ผู้ประเมินยุคใหม่ โปร่งใส เป็นกัลยาณมิตร
อีกหนึ่งความพยายามในการลบภาพจำเดิมๆ นอกเหนือจากการพัฒนากรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกใหม่แล้ว สมศ. ยังให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของผู้ประเมินภายนอกจากผู้ตรวจสอบที่ทำให้สถานศึกษารู้สึกเหมือนถูกจับผิด สู่การเป็น "กัลยาณมิตร" ที่มีความเข้าใจสถานศึกษาอย่างแท้จริง ให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา เป็นไปในเชิงบวกและสร้างสรรค์ พร้อมจับมือกันพัฒนา สมศ. จึงได้เพิ่มมาตรการต่างๆ เพื่อสอดส่องดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประเมินให้เป็นไปในทิศทางที่ สมศ. กำหนด ไม่ว่าจะเป็น เปิดรับข้อร้องเรียน หากสถานศึกษาพบเห็นผู้ประเมินปฏิบัติตนไม่เหมาะสมหรือมีการเรียกร้องใดๆ นอกเหนือจากที่ สมศ. กำหนดไว้ สามารถแจ้งกลับมาที่ สมศ. ได้ทันที เพื่อให้มีการตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป สุ่มสังเกตการณ์ สมศ. จะสุ่มส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสังเกตการณ์การปฏิบัติงานของผู้ประเมินภายนอกโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เปลี่ยนแปลงผู้ประเมินได้ ในกรณีที่สถานศึกษาเล็งเห็นว่า ผู้ประเมินภายนอกเคยมีประเด็นหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) กับสถานศึกษา ก็สามารถแจ้งมายัง สมศ. เพื่อขอเปลี่ยนแปลงผู้ประเมินภายนอกได้ โดย สมศ.จะปรับเปลี่ยนผู้ประเมินให้ตามหลักเกณฑ์ที่ สมศ.กำหนดไว้ นอกจากนี้ สมศ. ยังได้จัดทำ ระบบประเมินกลับ โดยเปิดให้สถานศึกษาสามารถประเมินการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประเมินภายนอกได้โดยตรง ผ่านระบบที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อให้เสียงของสถานศึกษาได้รับการรับฟัง และนำไปพิจารณาปรับปรุงกระบวนการประเมินต่อไป

มาตรการต่างๆ เหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง ของ สมศ. ในการ “ปรับตัว” และ “ปรับปรุง” การประเมินคุณภาพภายนอกทั้ง “ตัวระบบ” และ “ตัวบุคคล” ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม และไม่เพิ่มภาระให้แก่สถานศึกษา เพื่อให้เป็นกระบวนการที่ส่งเสริม ยกระดับ และพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างแท้จริง


















กำลังโหลดความคิดเห็น