xs
xsm
sm
md
lg

“วิชาชนะมาร” หลักสูตรสร้างภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงฉบับใหม่ของเด็กไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายครั้งที่เราคุ้นเคยกับการดูแลป้องกันเด็กและเยาวชนแบบเดิม ๆ ที่เปรียบเสมือนการดูแลแบบการตัด "เสื้อโหล" ซึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันอาจไม่เหมาะสำหรับเด็กทุกคนเสมอไป

"วิชาชนะมาร" หลักสูตร(ทางเลือก)จึงถูกออกแบบจากความตั้งใจของผู้ใหญ่ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พร้อมด้วย มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และ เครือข่ายละครเพื่อการเรียนรู้ 5 ภูมิภาค ผ่านการดึงกิจกรรมนันทนาการอย่างละครมาเป็นเครื่องมือ เพื่อส่งเสริมทักษะการป้องกันเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงอย่างเหล้า บุหรี่ และการพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้น ช่วงวัยที่เป็นรอยต่อของความเป็นเด็กและวัยแรกรุ่น

และที่สำคัญยังเป็นช่วงวัยที่ตกเป็น “เหยื่อ” จากการตลาดแบบล่าเหยื่อของอุตสาหกรรมเหล้า บุหรี่ และการพนันอีกด้วย

ทำความรู้จัก “วิชาชนะมาร”

“เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างเยอะ ไม่รวมถึงการตลาดล่าเหยื่อที่มุ่งเป้ามาที่เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก” น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เปิดประเด็นในช่วงแรกของเวทีเสวนา สานพลัง...ส่งต่อวิชา "ชนะมาร" สร้างภูมิรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่ พนัน) ในสถานศึกษาและงานเทศกาลละครเพื่อการเรียนรู้ "วิชาชนะมาร ส่งเสริมทักษะการอยู่ร่วมกันและการแก้ปัญหาจากปัจจัยเสี่ยง

ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. เผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และผลการวิจัยโดยเครือข่ายสุขภาพ ระหว่างปี 2565-2566 พบว่า ในปี 2565 เด็กไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 5.3 เท่า มีการโฆษณาและส่งเสริมการขายในออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48 จากเดิมในปี 2558 พบเพียงร้อยละ 27 สาเหตุสำคัญคือ บุหรี่ไฟฟ้ามีรสชาติ รูปลักษณ์ที่ดึงดูดให้อยากลองสูบ หากมีเพื่อนสูบ หรือเคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน จะเสี่ยงติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 4 เท่า และหากมีพ่อแม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ลูกจะเสี่ยงติดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า

ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พบว่า เด็กเยาวชน อายุ 15-24 ปี ดื่มมากถึงร้อยละ 20.9 หรือ 1.9 ล้านคน เพศชายมีอัตราการดื่มที่ลดลง แต่เพศหญิงดื่มเพิ่มมากขึ้น ที่น่ากังวลคือพบการดื่มแล้วขับทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต ร้อยละ 25.09 นอกจากนี้ สถานการณ์พนัน โดยเฉพาะพนันออนไลน์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบเด็กเล่นพนันครั้งแรกอายุยิ่งน้อยลงล่าสุด พบเด็ก 6 ขวบเริ่มเล่นพนัน โดยร้อยละ 54 เริ่มเล่นพนันตั้งแต่อายุก่อน 20 ปี และร้อยละ 75 มีแนวโน้มที่จะไม่หยุดเล่นพนัน

(น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.)
วิชาชนะมาร จะเป็นกิจกรรมที่สอดแทรกในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น ในกิจกรรมชมรม กิจกรรมเสริมของโรงเรียน โดยใช้ละครเข้ามาเป็นเครื่องมือ เพื่อพัฒนาให้เด็กเกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อที่จะพัฒนาทักษะสมองหรือเรียกว่า Executive Function (EF) ที่จะทำให้เด็กเข้าใจ จดจำ และนำไปสู่การปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เราอยากให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถชนะสิ่งที่มองว่า เป็นสิ่งชั่วร้าย หรือที่เรียกว่ามารได้ สามารถผ่านปัญหาอุปสรรครอบตัวที่เกิดขึ้น รวมถึงการบอกต่อคนรอบข้างให้สามารถพาตัวเองออกจากปัจจัยเสี่ยง ซึ่งนอกจากภูมิคุ้มกันที่เราสร้างให้เด็กแล้ว เด็กจะได้ทักษะการคิด วิธีการตัดสินใจ ไม่ว่าต่อไปจะเจอปัญหาหรือเจอมารตัวอื่นที่มากกว่านี้ เขาก็จะมีวิธีคิดและตัดสินใจที่เหมาะสม”

โดยเครือข่ายละครเพื่อการเรียนรู้ 5 ภูมิภาคมาพร้อมกับละคร 5 เรื่องที่น่าสนใจ ได้แก่ ใจฟู ชูใจ กับเมืองติดหนึบ จากกลุ่มเรียนรู้บางเพลย์ จ.ชลบุรี การผจญภัยแห่งความสุข จากกลุ่มไม้ขีดไฟ จ.นครราชสีมา ขุมทรัพย์เมืองลับแล จากสำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ จ. อุตรดิตถ์ ดันเจี้ยนที่เขาคิดว่าโหด สามผู้กล้าขอกระโดดเข้าพิชิต จากทีมเฉพาะกิจเธียเตอร์ กรุงเทพมหานคร และ เพื่อนเกลอ จากกลุ่มละครสองเล และโรงเรียนใต้ร่มไม้ จ.สงขลา

ทั้งนี้ ละครทั้งหมดได้รับความร่วมมือจากทั้งครู นักเรียน รวมถึงเครือข่ายละคร เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบเนื้อหาละครให้สอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย โดยเนื้อหาของละครจะถูกปรับให้เหมาะสม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สะท้อนถึงปัญหาปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่นั้น ๆ


น.ส.รุ่งอรุณ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ภาคใต้มีการสูบบุหรี่มากกว่าภาคอื่น ดังนั้น ละครที่จัดทำขึ้นในพื้นที่นี้ จึงจำเป็นต้องมีเนื้อหาที่เน้นย้ำเกี่ยวกับการสูบบุหรี่มากขึ้น ภาคอีสานขึ้นชื่อเรื่องของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ค่อนข้างเกี่ยวโยงกับประเพณี การที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ส่วนภาคกลาง เนื่องจากอยู่ใกล้ศูนย์กลางการซื้อสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่หาซื้อได้ง่ายมาก ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ดังนั้น ละครที่ออกมาก็ต้องสอนให้เด็กรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวัง

ในก้าวต่อไป สสส. ตั้งเป้าหมายขยายต้นแบบไปกว่า 200 โรงเรียน กระจายทุกภูมิภาคของประเทศในปีถัดไป และมีความตั้งใจที่จะพัฒนารูปแบบการทำงานร่วมกับเครือข่ายครู เพื่อให้กระบวนการเรียนรู้และการฝึกฝนทักษะละคร สามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมชั่วคราวเท่านั้น

แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็แก้แบบเดิมไม่ได้แล้ว!

และเมื่อพูดถึงภาคีที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็กและเยาวชน แน่นอนว่า เราหมายถึง ‘บ้านใหญ่’ อย่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ หรือ สพฐ. ซึ่งที่มีเด็กในความดูแลมากถึง 6.6 ล้านคน

“ในครั้งนี้ สพฐ. จะมีการบูรณาการกับกระบวนการเรียนรู้วิชาชนะมาร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนควรมีการเชื่อมประสานกับศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ที่ดูแลเรื่องของปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพนันอยู่แล้ว เพื่อต่อยอดกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา “กลุ่มที่ 5 ความปลอดภัย” ที่เน้นเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพ สร้างทักษะชีวิตในการป้องกันและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ การใช้ยา สารเสพติด และความรุนแรง”

ซึ่ง นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความรุนแรงมากขึ้นวิธีการจัดการแบบเดิมอาจไม่เพียงพอ หวังว่า วิชาชนะมารจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าใจและสามารถป้องกันตนเองจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

(นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ)
“พูดกันตามตรง การจัดการศึกษาไม่ใช่งานของกระทรวงศึกษาธิการซะทีเดียว แต่มันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ทุกคนที่จะปกป้องและสร้างเด็ก ๆ ของไทยให้เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังหลักของชาติ คำถามคือ 100 กว่าปีก่อน ไม่มีเราแล้วใครเป็นทำ คำตอบง่าย ๆ ก็คือครอบครัว ชุมชน ผู้ใหญ่ในท้องถิ่นนั่นแหละที่เขาทำกันมา ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ถือว่า มีความสำคัญที่สุดในการทำเรื่องนี้ โดยที่มีกระทรวงศึกษาธิการหรือโรงเรียนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ. พร้อมจับมือกับภาคีต่าง ๆ เดินหน้าทำงานอย่างเต็มกำลัง สุดท้ายนี้ ต้องฝากทุกคนที่เข้าใจเรื่องนี้ ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่ใช่เด็กของกระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นเด็กของท่าน เป็นลูกหลานของทุกคน เพื่อให้เขาเติบโตเป็นกำลังหลักของชาติต่อไป”

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สพฐ. มีการดำเนินการป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการให้โรงเรียนดำเนินการแก้ไขอย่างเข้มข้น อาทิ การจัดตั้งทีมเพื่อควบคุมสถานการณ์การพนันในโรงเรียนในช่วงฟุตบอลโลก และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ในชั้นเรียน ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และบารากุให้ชัดเจนขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ตลอดจนประสานงานควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดตั้งทีมเจ้าหน้าที่เพื่อป้องกันการละเมิดกฎหมาย

ขณะเดียวกันก็มีการขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน และปลัดอำเภอ ในการควบคุมพื้นที่เสี่ยงทั้งภายในและนอกโรงเรียน เน้นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง อยุธยา ปทุมธานี สมุทรปราการ ปรับปรุงระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียน โดยเพิ่มจำนวนครูเครือข่าย และอบรมอย่างเข้มข้น พร้อมทั้งปรับปรุงอุปกรณ์และเครื่องมือการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์ปัจจุบัน

ในโลกที่ไม่คงเส้นคงวา ละครอาจจะเป็นคำตอบ

และในมุมมองที่คล้าย ๆ กันจาก ดร.ศิวัช บุญเกิด รองปลัดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ให้ความเห็นว่า การนำละครเข้ามาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจในการสร้างระบบนิเวศใหม่ทางการศึกษา โดยเฉพาะในยุคที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (VUCA World) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ต้องการแพลตฟอร์มที่ตายตัว แต่ต้องการให้คนเรียนรู้และเติบโตจากข้างใน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนั้นรวดเร็วและไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ ดังนั้น การมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาปัจเจกบุคคลจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

ซึ่งละครไม่เพียงแต่เป็นสื่อบันเทิง แต่ยังเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการกระตุ้นความรู้สึกและการเรียนรู้ในเชิงลึก เพราะการใช้ละครในการสร้างสถานการณ์จำลอง ช่วยให้เด็ก ๆ สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น อีกทั้งถือเป็นการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้เด็ก ๆ ได้เข้าไปมีตัวตน เป็น Avatar สามารถตีความบทบาทต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง แทนการยัดเยียดแบบ One-way ซึ่งเมื่อโลกหมุนเร็ว รูปแบบการเรียนรู้เองก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเรียนรู้แบบใหม่ที่เมืองพัทยากำลังพยายามเดินหน้าอย่างจริงจัง

ถอดบทเรียนความสำเร็จจาก ‘เมืองพัทยา’

(ดร.ศิวัช บุญเกิด รองปลัดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี)
การเรียนรู้แบบใหม่ที่ว่าเป็นแบบไหนนั้น ดร.ศิวัช ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “เมืองพัทยา” เริ่มจากการทบทวนระบบการศึกษาเดิมที่เน้นการสอนในลักษณะของ “โรงสอน” มากกว่า “โรงแห่งการเรียนรู้” เป็นการตั้งเป้าเดินหน้าสู่การศึกษาแบบ Lifelong Learning หรือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง สอดคล้องกับโลก VUCA World และ BANI World ที่มีความเปราะบางและความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของท่านปรเมศ นามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ที่ต้องการเห็นการศึกษาไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ภายในโรงเรียน แต่เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกที่และทุกเวลา หรือแม้แต่ใต้ต้นไม้ก็สามารถเกิดขึ้นได้

รองปลัดเมืองพัทยา กล่าวต่อว่า ขณะนี้เมืองพัทยามีการมุ่งเน้นการขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก ในระบบการศึกษา คือ 1.จัดการ Mindset เมืองพัทยามุ่งปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ทั้งระบบการศึกษา ตั้งแต่คุณครู นักเรียนและสังคม เพื่อปรับปรุงการศึกษาในภาพรวม 2. SMART School นำเอา Smart Classroom และ Edutainment เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และพัฒนาการ 3. การสร้างเครือข่าย การทำงานแบบเครือข่ายถือเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่หลากหลาย โดยเมืองพัทยาตระหนักดีว่า แต่ละพื้นที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ดังนั้น การทำงานร่วมกันจะช่วยเสริมสร้างการพัฒนาได้มากขึ้น เพราะเป็นการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ รองปลัดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ย้ำด้วยความมั่นใจว่า เมืองพัทยาพร้อมเป็นต้นแบบของระบบการศึกษาและการสร้างระบบนิเวศแบบใหม่ทางการศึกษา

หรือปัญหาที่ต้นน้ำจริง ๆ อาจไม่ใช่เด็ก?

ขณะที่ นายพลวัฒน์ การุญภาสกร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (สถ.) ให้ความคิดเห็นในอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจว่า ศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กัน

“การแก้ไขปัจจัยเสี่ยงของเด็กและเยาวชน อาจต้องกลับไปมองต้นทางอย่างองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงาน นอกจากการดำเนินการอย่างจริงจังแล้วนั้น ต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาแต่ละแห่งด้วย ซึ่งจะช่วยให้สามารถตรวจสอบระดับการปฏิบัติงานและความสำเร็จในการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า องค์กรไหนอยู่ในระดับใด และสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

“ทั้งนี้ การมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนและการประเมินผลอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ยังสามารถปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที”

นายพลวัฒน์ การุญภาสกร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย (สถ.)
ปัจจุบัน สถ. มีการดำเนินการตรวจประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (LPA) เป็นประจำทุกปี ในขณะที่สถานศึกษาก็มีแผนงานและการขับเคลื่อนเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งเหล้า บุหรี่ และพนันในสถานศึกษาอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การจับมือกับ สสส. ขับเคลื่อนงานรณรงค์งานเลี้ยงครูและงานเกษียณครูปลอดเหล้า เบียร์ บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และพนัน เป็นการพัฒนาครูต้นแบบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้แก่นักเรียน นอกเหนือจากหลักสูตรการสอนปกติ เช่นเดียวกับการพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ทั้งภายในสถานศึกษา และพื้นที่รอบสถานศึกษา ร้านค้า ชุมชน องค์กร และภาคประชาสังคม

และครั้งนี้ก็พร้อมบูรณาการกับกระบวนการเรียนรู้วิชาชนะมาร ซึ่งถือเป็นต้นทุนการเรียนรู้ที่เอื้อประโยชน์ให้กับเครือข่ายครูและนักเรียนที่จะมีองค์ความรู้ในการเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยง

ขณะนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในความดูแลของ สถ. มากถึง 1,700 แห่ง และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 19,000 แห่งทั่วประเทศ

ลงทุนกับเด็กคุ้มค่าที่สุด

ด้าน ครูเดือน หรือ นางอัญชฎา พรมลาย ครูหัวหน้ากลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา โรงเรียนโฆสิตสโมสร เล่าให้ฟังว่า การเสริมสร้างความรู้และทักษะจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น เหล้า บุหรี่ และการพนัน รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของคุณครูในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ปัจจัยเหล่านี้มีการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น การซื้อบุหรี่ไฟฟ้าผ่านช่องทางออนไลน์ ที่มีราคาไม่สูงมากบวกกับรูปแบบที่ล่อตาล่อใจ

“ตอนนี้ครูกังวลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนที่สุด ด้วยความที่เด็กอายุน้อย และพ่อแม่เองก็อายุน้อยด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาได้เห็น ได้รู้จักนั้นมาจากบ้านเขาเองด้วยซ้ำ ในขณะที่ปัญหาเหล้าหรือการพนันยังไม่มี” ครูเดือนเล่าต่อว่า ครั้งหนึ่งลูกศิษย์เคยนำบุหรี่ไฟฟ้าจากบ้านมาให้เพื่อนดูเพราะเพื่อนบางคนไม่เคยเห็นหรือรู้จักมาก่อน นั่นเลยทำให้ครูมองว่า ปัญหาหลักอาจมาจากครอบครัวหรือชุมชนมากกว่าโรงเรียน

โรงเรียนโฆสิตสโมสร เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก มีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 6 และมีนักเรียนประมาณ 600 คน จึงทำให้สามารถควบคุมดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง


“เดิมทีคุณครูในโรงเรียนก็ให้ความรู้เขาตลอด มีกิจกรรมพูดหน้าเสาธง หรือบางทีก็เป็นอินโฟกราฟิกให้ความรู้ส่งถึงผู้ปกครองเด็กด้วย”

สำหรับวิชาชนะมาร แม่พิมพ์ของชาติมองว่า เป็นโครงการที่ดีมากนอกจากเด็กนักเรียนจะได้รับประโยชน์แล้ว คุณครูเองก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ได้รับประสบการณ์และความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนได้

“ตอนนี้ทางโรงเรียนได้นำวิชาชนะมารเข้ามาปรับกับการเรียนการสอนได้สักระยะแล้ว อย่างครูเองเป็นครูพละ ในชั่วโมงเรียนก็จะให้เขาเรียนรู้เกี่ยวกับการพนันที่แฝงมากับกีฬา หรือเกมเป่ายิ้งฉุบตอบคำถามง่าย ๆ รวมทั้งวาดรูประบายสีประกวด”

“ซึ่งผลตอบรับก็เป็นที่น่าพอใจมาก เด็ก ๆ มีรีแอคชั่น มีฟีดแบคที่ดี บอกเลยว่า เด็ก ๆ วัยนี้ โดยเฉพาะประถมวัย ถ้าเราใส่อะไรให้เขา เขารับหมด ดังนั้น การปลูกฝังตั้งแต่เด็กถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็ก ๆ เขาชอบกิจกรรมนันทนาการเป็นทุนเดิม ชอบการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากกว่าการนั่งฟังบรรยายในห้องสี่เหลี่ยม มันมีประโยชน์สำหรับเขามากกว่าที่ครูพูดรวมกันทั้งเดือนด้วยซ้ำ(หัวเราะ)”

“และที่สำคัญคือสิ่งที่เขาได้รับ นั่นคือมุมมองใหม่ ๆ ในแบบฉบับของเขาเอง อย่างน้อย ๆ ครูคาดหวังว่า ละครที่เขาได้ดูก็จะเป็นการเตือนให้เขารู้จักระมัดระวังตัวมากขึ้น”

(นางอัญชฎา พรมลาย ครูหัวหน้ากลุ่มสาระสุขศึกษาและพลศึกษา โรงเรียนโฆสิตสโมสร)
“การปกป้องเด็กที่ดีที่สุดคือการสอนเขาว่า เขาต้องเจอกับอะไร” นั่นคือสิ่งที่ครูเดือนบอกกับเรา เธอขยายความว่า การสอนให้เด็กได้รับรู้ทั้งด้านดีและด้านที่ไม่ดีเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้พวกเขาได้เห็นและเข้าใจว่า สิ่งไม่ดีที่อาจเผชิญในอนาคตมีอะไรบ้าง และควรรับมืออย่างไร

“ที่สุดแล้วในฐานะครู ก็อยากจะเห็นเขาเติบโตเป็น ‘เด็กดี’ ก่อนที่จะเป็น ‘เด็กเก่ง’ เขาไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง เพราะเด็กแต่ละคนเก่งไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน แต่อยากให้เขามีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีระเบียบ เรียนอย่างมีความสุขและสนุก เพื่อที่เขาจะสามารถพัฒนาและพาตัวเองไปจุดสูงสุดในชีวิตเขาได้” ครูเดือนทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น