ไทยพีบีเอส จับมือ 10 องค์กรภาคีเครือข่าย ทวงคืนรอยยิ้มคนไทย เปิดตัวโครงการ Happyland แดน (เคย) สุขใจ สร้างพื้นที่สุขภาวะทางปัญญา ยกระดับสุขภาพจิตคนไทยเชิงบวก ชวนคนไทยร่วมหาวิธีสร้างภูมิคุ้มใจด้วยกัน
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ธนาคารจิตอาสา ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และหมู่บ้านพลัมประเทศไทย เครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยประเทศไทย (TSIC) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เปิดตัวโครงการ Happyland แดน (เคย) สุขใจ โดยมีนายสมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านสร้างสรรค์และหลอมรวมเนื้อหา กล่าวต้อนรับและเปิดงาน
นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต ในปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 2.3 ล้านคน จากข้อมูล Mental Health Check-in ของกรมสุขภาพจิต พบสถานการณ์สุขภาพจิตคนไทยทุกช่วงอายุ ระหว่างปี 2563-2567 มีความเครียดสูง 8.04% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 9.47% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 5.39% กลุ่มที่น่าห่วงเป็นเยาวชนไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี มีความเครียดสูง 24.83% มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า 29.51% และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงถึง 20.35% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าวัยทั่วไป รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุกว่า 800,000 คน ที่มีภาวะความจำเสื่อมในจำนวนนี้ 90% มีปัญหาสุขภาพจิตร่วมด้วย
พนิตพรรณ เอี่ยมนนท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้จัดทำ Preventing suicide: a resource for media professionals Update 2023 เพื่อใช้เป็นหลักยึดในสิ่งที่ควรทำและไม่ควรสำหรับสื่อในการนำเสนอข่าว เช่น ไม่พาดหัวหรือมีเนื้อหาเร้าใจ ไม่อธิบายวิธีการ รายละเอียดการฆ่าตัวตาย แต่สิ่งที่ควรนำเสนอควรเป็นการรับมือความเครียดและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันป้องกันการฆ่าตัวตาย รวมถึงคำนึงเสมอว่า เหตุการณ์ฆ่าตัวตายไม่ใช่แค่การรายงานข้อเท็จจริง หรือแค่การเพิ่มเรตติ้ง แต่คือจรรยาบรรณและการตระหนักถึงผลเสียที่จะตามมาจากรูปแบบการนำเสนอข่าว
ผศ. ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจสุขภาวะของคนทำงาน เรื่อง ภาวะ Presenteeism หรือ ภาวะการฝืนทำงาน ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยทางกายราว 50 % ยังฝืนทำงาน บางคนฝืนไปทำงาน 1-2 ครั้ง บางคน 3-4 ครั้ง หรือ 5 ครั้งขึ้นไป และแม้ว่าจะมีปัญหาสุขภาพจิต 27.5 % ก็ยังฝืนทำงานทั้ง ๆ ที่จิตใจมีปัญหา ขณะที่ 5 สาเหตุหลักที่คนทำงานเลือกจะฝืนทำงานอันดับ 1 ไม่มีใครสามารถทำงานที่รับผิดชอบแทนได้ 22.2 อันดับ 2 มีงานด่วนหรือต้องทำงานสำคัญในวันนั้น 20.6% อันดับ 3 มีความจำเป็นเรื่องเงินหรือกลัวได้รับผลกระทบต่อการประเมิน 17.5% อันดับ 4 เพราะความจำเป็น หรือเป็นภาระหน้าที่ที่ต้องไปทำงาน 14.3% และอันดับ 5 รู้สึกว่ายังพอทนไหวไม่ถึงขั้นหยุดพัก 14.3% เหล่านี้อาจส่งผลให้คนทำงานหมดไฟในที่สุด
นายสมยศ เกียรติอร่ามกุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านสร้างสรรค์และหลอมรวมเนื้อหา กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพจิตของพนักงาน ส.ส.ท. หลายคนเผชิญปัญหาภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล จากข้อมูลการพบจิตแพทย์ที่คลินิกไทยพีบีเอส พบว่า พนักงานที่ไปพบจิตแพทย์เฉลี่ย 12 คน/เดือน ข้อมูลเชิงประจักษ์นี้แสดงให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องใหญ่ส่งผลกระทบกับการทำงานและชีวิต ขณะเดียวกันไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะที่เห็นความสำคัญของปัญหานี้จึงมีความตั้งใจร่วมกับภาคีเครือข่ายทำโครงการ Happyland แดน (เคย) สุขใจ ขึ้น เพื่อทวงคืนรอยยิ้มของคนไทย เพราะเชื่อว่า คนไทยควรจะได้รับการดูแล และมีสุขภาวะทางจิตที่ดี กิจกรรมภายใต้โครงการฯ เช่น Happy talk & Forum ร่วมเสวนาผ่าทางตันปัญหาสุขภาพจิตเชิงนโยบาย Happy Room เปิดห้องฮีลใจ วัยรุ่น คนทำงาน ครอบครัว และอีกมากมายหลากหลายกิจกรรม เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. - 10 ต.ค.นี้ ผ่านทุกช่องทางของไทยพีบีเอส
นอกจากจะมีคลินิกให้คำปรึกษาแล้ว ยังจัดกิจกรรม “ฮีลใจ คนไทยพีบีเอส” ภายใต้แผนส่งเสริมสุขภาวะทางใจ ครอบคลุมการประเมินตรวจเช็คสุขภาวะ ทบทวนตัวเอง ตระหนักรู้สภาวะ จิตใจ ปลดปล่อยความเศร้า ความเครียด เปิดพื้นที่พูดคุยแบบสุนทรียสนทนาวงเล็ก ๆ “ทุกศุกร์ ฟังทุกข์สุข” และยังมีโครงการดี ๆ ที่จะขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะทางจิตชวนให้ติดตามกันต่อไป
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
▪ Website : www.thaipbs.or.th
▪ Application : Thai PBS
▪ Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X , LINE, TikTok, Instagram, Threads, Linkedin