เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ส.ค. 2567 ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ (พศย.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัด “การสัมมนาสื่อมวลชนสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อสร้างความตระหนักและร่วมกันสื่อสารเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับกลุ่มสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เพื่อเชื่อมประสานองค์กรสื่อของภาครัฐเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนสังคมปลอดบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีผู้เข้าร่วมมาจากผู้บริหารจากกรมประชาสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย 74 แห่ง รวม 130 คน
นางสุดฤทัย เลิศเกษม อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนปัจจุบัน ได้เข้าไปในโรงเรียนจนถึงนักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่น่าเป็นห่วง คือพบกลุ่มผู้เสพหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนอายุเพียง 13 ปี และมีการนำไปขายในสถานศึกษา โดยเด็กและเยาวชนเป็นคนรับไปจำหน่ายเอง ซึ่งถือเป็นปัญหาในระดับประเทศ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน สนับสนุนให้องค์กรที่อยู่ในสังกัดของกรมประชาสัมพันธ์ มีแผนงานการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ และสื่อบุคคล สร้างการรับรู้ถึงพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยเป็นเกราะป้องกัน ปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนไทยทุกคนจากมหันตภัยพิษร้ายของบุหรี่ไฟฟ้า
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน จากโรงเรียน 87 แห่งทุกภูมิภาค พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ที่สำคัญยังพบว่า มีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี จากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น มีกลิ่นหอม และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จากข้อมูลผลการสำรวจของ รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง “การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษา และการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียน” ระหว่างเดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 มีกลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 6,147 คน จาก 16 จังหวัดทุกภูมิภาค พบเด็ก 39.3% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะนี้ 35.8% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) และ 34.2% ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้ ดังนั้นการปกป้องเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน
“เด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ติดนิโคตินหนักกว่าเด็กที่สูบบุหรี่มวน มีความเสี่ยงที่เด็กจะไปสูบบุหรี่มวน หรือติดสิ่งเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น ๆ นิโคตินมีอันตรายต่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการซึมเศร้า และยังเป็นอันตรายต่อปอด หลอดเลือดและหัวใจในระยะยาว ที่น่ากังวลคือ สารปรุงแต่งกลิ่นหอมที่ใช้ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อได้รับความร้อนจากแบตเตอรี่ในอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ปอดอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง อีกทั้งไอของบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารก่อมะเร็งและโลหะหนัก เป็นอันตรายต่อพันธุกรรม (DNA) ของเนื้อเยื่อต่าง ๆ สามารถพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง สิ่งสำคัญคือ พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องเป็นแบบอย่าง ไม่สูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อลดความเสี่ยงเด็กเสพติดบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า” ศ.นพ.ประกิต กล่าว