xs
xsm
sm
md
lg

อัตราผู้กระทำความผิดกับการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดระยะเปลี่ยนผ่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหายาเสพติดส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security) ในขณะที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อการกำหนดมาตรการหรือนโยบายที่จะช่วยควบคุมและป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกชนิดให้ลดลงแต่กลับพบว่าสถานการณ์ปัญหามีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการเข้าถึงแหล่งซื้อ-ขายสารเสพติดที่ผิดกฎหมายในยุคสังคมดิจิทัลก็เกิดขึ้นอย่างง่ายดายและรวดเร็ว โดยเฉพาะผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Platforms) และเว็บไซต์สาธารณะต่าง ๆ

จากรายงานของ The UN Office on Drugs and Crime (UNODC) World Drug Report 2023 ได้กล่าวถึงวิกฤตการณ์การขยายตัวของตลาดยาผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ.2564 มีผู้ใช้สารเสพติดแบบฉีดประมาณ 13.2 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ 18% และมีผู้ที่ใช้ยาเสพติดกว่า 296 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มขึ้น 23% จากทศวรรษก่อนหน้า ขณะเดียวกันมีผู้ที่ทุกข์ทรมานจากความผิดปกติจากการใช้สารเสพติดสูงถึง 39.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา แต่ความต้องการที่จะเข้ารับการรักษาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง มีเพียง 1 ใน 5 ของคนที่ทุกข์ทรมานจากโรคที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเท่านั้นที่เข้ารับการบำบัดรักษาโดยใช้ยา อีกทั้งยังเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาที่เพิ่มมากขึ้นทั่วทุกภูมิภาค

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บังอร เทพเทียน อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาพัฒนาสุขภาพ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าโครงการวิจัย นโยบายสิ่งเสพติด การตอบสนองทางกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายในระบบยุติธรรม: การเปรียบเทียบข้ามชาติระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น ได้รับทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (NRCT-JSPS) ปี 2021 - 2024 กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ประเทศไทยมีการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติด จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมีมากถึง 305,447 คน โดยพบว่า ผู้ถูกคุมขังต้องโทษด้วยคดียาเสพติด จำนวน 248,125 คน หรือ 81.23% (ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการนำกฎหมายมาบังคับใช้เป็นหลักทำให้เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ (Overcrowding) โดยในประเทศไทยจึงได้มีการเริ่มต้นการปฏิรูปนโยบายยาเสพติดขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ.2560 นอกเหนือจากมาตรการเดิม ยังได้มีการนำยุทธศาสตร์ทางเลือกแทนการคุมขังมาใช้เพื่อลดความแออัดในเรือนจำ โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ที่เข้ามามีบทบาทด้านการให้การบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดแทนการถูกนำตัวส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถลดจำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดในเรือนจำได้ราว 7.92% ในระยะที่ผ่านมา (จำนวนผู้ถูกคุมขังต้องโทษด้วยคดียาเสพติด 73.31% ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2567) และทางกระทรวงยุติธรรมก็ได้ดำเนินการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังต่อไป นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังมีมาตรการลดบทลงโทษผู้กระทำผิดและเปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจในการตัดสินลงโทษตามเหตุและผลที่สมควร

แม้บทลงโทษสำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะเบาลง แต่ในกรณีที่ผู้เสพมีการกระทำความผิดในคดีอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากการเสพสารเสพติด เช่น ก่อคดีอาชญากรรมหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น จะไม่สามารถอ้างถึงอาการมึนเมาจากการใช้สารเสพติดมาเป็นเหตุผลในการลงมือก่อเหตุได้ ผู้ต้องหาจะได้รับโทษและถูกดำเนินคดีในฐานกระทำความผิดในคดีอาญาข้อหาทำร้ายผู้อื่น และหากไม่แสดงความประสงค์ขอเข้ารับการบำบัดในกรณีที่พบว่ามีการเสพสารเสพติดก็จะถูกดำเนินคดีในข้อหาดังกล่าวอีกด้วย

จากการศึกษาพบว่า การจัดการกับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติดของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความแตกต่างกัน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษสำหรับความผิดในการใช้สารเสพติดของแต่ละประเทศสะท้อนให้เห็นแง่มุมของอาชญากรรมและวิธีการจัดการกับปัญหาที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและค่านิยม การครอบครองยาเสพติดในประเทศญี่ปุ่นถือเป็นอาชญากรรมที่มีความร้ายแรงกว่าในประเทศไทยมาก ในประเทศญี่ปุ่นหากพบว่ามีการครอบครองยาเสพติดเพียงเล็กน้อยผู้ต้องหาจะถูกนำตัวเข้าสู่ระบบยุติธรรมทันที โดยมีการจับกุมที่เด็ดขาดควบคู่ไปกับนโยบายป้องกันและบังคับรักษาแบบบังคับ การแข่งขันที่เข้มข้นในสังคมญี่ปุ่นเริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงวัยเด็กทำให้ผู้คนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำการใด ๆ ที่อาจส่งผลเสียต่ออนาคต ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไมผู้กระทำความผิดในประเทศญี่ปุ่นจึงมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ โดยปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 125 ล้านคน แต่จำนวนนักโทษในเรือนจำทั้งสิ้นมีเพียงหลักหมื่น และเมื่อเทียบกับจำนวนผู้กระทำความผิดในประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่นมีอัตราผู้ต้องขังต่อประชากร 100,000 คนน้อยกว่าประเทศไทยประมาณ 10 เท่าตัว

ประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดมากที่สุดคือ วัยรุ่นและเยาวชน ซึ่งหากมีการเริ่มต้นใช้สารเสพติดตั้งแต่ช่วงวัยดังกล่าวอาจเป็นไปได้ว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาไปในทางที่แย่ลงเป็นการเสพติดได้อย่างรวดเร็ว วัยรุ่นยังเป็นวัยที่มักได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความผิดปกติในการใช้สารเสพติดเนื่องจากยาเสพติดส่งผลต่อระบบประสาทและสมองโดยตรง ซึ่งสมองของวัยรุ่นอยู่ในช่วงที่มีการจดจำและสามารถพัฒนาต่อไปได้และเมื่อได้รับสารเสพติดเข้าไปเพียง 1 ครั้ง อาจส่งผลให้เกิดความต้องการหรือการเรียกซ้ำ (recall) ถึงสิ่งนั้นขึ้นมาอีกได้ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้สารเสพติด เช่น การลอกเลียนแบบพฤติกรรมจากคนมีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ ความกดดันจากคนรอบตัว สภาพอารมณ์ ความเท่าเทียมในสังคม และสิ่งยึดเหนี่ยวทางกายและจิตใจ ซึ่งวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของการใช้สารเสพติดในวัยรุ่นที่ดีที่สุดควรเริ่มจากการปลูกฝังและสร้างความตระหนักรู้ถึงโทษจากการรับสารเสพติดเข้าสู่ร่างกาย โดยเน้นการปลูกฝังอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงวัยตั้งแต่เด็ก มีการให้ความรู้ถึงการทำงานของสารเสพติดต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายพร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจน อีกทั้งผู้ใหญ่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กเพื่อให้เกิดภาพจำและนำไปสู่การปฏิบัติตามในทางที่ถูกที่ควร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บังอร เทพเทียน กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ปัญหายาเสพติดจะมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น อีกทั้งผู้ต้องขังที่ถูกปล่อยตัวแล้วอาจกลับไปกระทำผิดซ้ำได้อีกก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญกับความเข้มงวดต่อระเบียบวินัยขณะคุมขังอาจเป็นวิธีที่ช่วยลดอัตราการเกิดซ้ำของปัญหายาเสพติดในระยะยาวได้ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนควรมีการวางแผนในการรับมือกับปัญหาร่วมกันอย่างจริงจังตั้งแต่แนวทางป้องกันการเกิดปัญหา การเตรียมความพร้อมขณะรับเข้า ก่อนปล่อยตัว และการให้การดูแลหลังจากนักโทษถูกปล่อยตัวออกสู่สังคม โดยอาจอาศัยความร่วมมือของชุมชนเข้ามาช่วยเพื่อไม่ให้ผู้ที่เคยกระทำผิดเกิดการเคว้งคว้างหรือไร้ที่พึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การกลับไปพึ่งพายาเสพติดอีกได้


กำลังโหลดความคิดเห็น