xs
xsm
sm
md
lg

ถอดบทเรียนความสำเร็จ “โครงการรณรงค์ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้าบุหรี่) ในสถานศึกษา” เดินหน้าปั้นเยาวชนคนอาชีวะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา” ภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ที่กำลังเดินหน้าสู่ก้าวต่อไปเพื่อทำหน้าที่ป้องกันนักศึกษาอาชีวศึกษาให้ห่างไกลจากผลกระทบของปัญหากับปัจจัยเสี่ยงทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่และยาเสพติด ผ่านการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษา

ย้อนกลับไป สสส. เริ่มพัฒนาโครงการฯ มาตั้งแต่ ปี 2563 ไม่เพียงแต่เป็นโครงการที่มุ่งมั่นสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับนักศึกษาอาชีวศึกษาเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการช่วยยกระดับบุคลากรและวิทยาลัยอาชีวศึกษาสู่การสร้างสุขสภาวะ ความปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยง

หลังจากดำเนินงานมาอย่างยาวนานจนถึงปี 2567 ปัจจุบันโครงการฯ นี้มีการขยายสู่วิทยาลัยอาชีวะ 45 แห่งครอบคลุม 5 ภูมิภาคจากเดิมมีเพียง 25 แห่ง

“เมื่อพิจารณาถึงการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ สสส. จึงตั้งคำถามว่า เราควรเริ่มต้นจากที่ไหน” นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนโครงการฯ “สสส. ทำงานร่วมกับ สอศ. ซึ่งเราคิดว่า เราเลือกไม่ผิด โดยวิทยาลัยอาชีวะมีเครือข่ายวิทยาลัยที่เข้มแข็งกระจายทั่วประเทศ รวมทั้งศักยภาพที่เข้มข้นเป็นทุนเดิม ตั้งแต่ผู้อำนวยการวิทยาลัย และคุณครูที่มีส่วนในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ ซึ่งจะเปรียบเสมือนพี่เลี้ยง เป็นผู้แนะนำ ในขณะนักศึกษาที่เป็นแกนนำจะเป็นจุดสำคัญมาก ๆ ในการสร้างเครือข่ายแบบเพื่อนชวนเพื่อน บางคนอาจหลงผิดไปในทางไม่ดี แต่ถ้าเกิดเราไปหาวิธีให้เขาเหล่านั้น ใช้แกนนำชวนเขากลับตัว กลับใจ ให้เลิกแล้วก็ไปทำกิจกรรมที่มีประโยชน์แทน โดยสำหรับผมมี 3 กระบวนการหลัก ๆ คือ กระบวนการการเข้าถึงนักเรียน กระบวนการเข้าใจว่าทำไมเขาถึงต้องไปเสพ และ กระบวนการดึงเขากลับมา ซึ่งเมื่อมีการขับเคลื่อนและมีต้นแบบของโรงเรียนต่าง ๆ แล้ว ทางคณะกรรมการอาชีวศึกษาก็สามารถขยายเครือข่ายต้นแบบให้กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศได้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระจายโครงการให้ครอบคลุมกลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ทั้งในพื้นที่กรุงเทพและต่างจังหวัด”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ในขณะเดียวกัน บุหรี่ไฟฟ้า ก็ยังคงเป็นสิ่งผู้จัดการกองทุน สสส. เป็นกังวลมาโดยตลอด พร้อมหยิบยกเอาข้อมูลหนึ่งมานำเสนอ ที่จะพบว่า เยาวชนไทยที่กำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า จากผลสำรวจสถานการณ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 พบอัตราการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนอายุ 13-15 ปี เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ซึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงง่ายขึ้น มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์รูปการ์ตูน ทันสมัย แต่งกลิ่นหลายรสชาติ ชวนให้ลองสูบ และหลอกล่อด้วยคำโกหกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย เช่น แค่มีกลิ่นหอม เป็นแค่ไอน้ำ ปลอดภัยกว่า หรืออ้างว่าไม่มี “นิโคติน” ทำให้ไม่เสพติด แต่ความจริงมีสารเคมีที่เป็นอันตรายทำลายปอด ทำให้เกิดโรคปอดข้าวโพดคั่ว (popcorn lung) รักษาไม่หาย นิโคตินเมื่อสูบเข้าร่างกายถูกส่งไปยังสมองภายในระยะเวลา 10 วินาที ทำให้สมองของวัยรุ่นที่ยังเติบโตไม่เต็มที่เสี่ยงต่อการเสพติด”

ในขณะที่สถานการณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 พบกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี สูงสุดถึงร้อยละ 84.1 เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา

“ผมเชื่อว่า เราทุกคนต่างมีความปรารถนาดีที่จะฟูมฟักและส่งเสริมให้นักเรียนของเราเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทั้งในด้านการเรียนและการเป็นกำลังสำคัญของชาติ อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามที่มีต่อสุขภาพของเยาวชนทั้งเหล้า บุหรี่ ยาเสพติดและการพนัน ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำลายอนาคตของเยาวชนอย่างยิ่ง ซึ่งในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้เริ่มต้นล่าเหยื่อตั้งแต่เด็กยังอายุเพียง 5-6 ขวบ และเมื่อเสพติดแล้วก็ยากที่จะหลุดพ้น ผลกระทบจากการบริโภคเหล้าและบุหรี่ทำให้ค่าเฉลี่ยอายุของผู้ชายไทยต่ำกว่าผู้หญิงถึง 8 ปี โดยผู้ชายไทยมีอายุเฉลี่ย 70 ปี ขณะที่ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 78 ปี ซึ่งความแตกต่างนี้เป็นผลมาจากการบริโภคเหล้าและบุหรี่ที่ทำให้อายุสั้นลงนั่นเอง”


และเพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จ ล่าสุด สสส. มีการจัด “เวทีสรุปผลงานการดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครูและแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษาป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่)” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา และพิธีมอบประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานศึกษา ครู และนักศึกษาแกนนำ 45 แห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ ด้วย

โดย นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมามีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน อาทิ 1.ปัญหาการลักลอบสูบบุหรี่ในสถานศึกษาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 2.พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย 3.เกิดความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานในการป้องกันการซื้อขายเหล้าและบุหรี่ให้นักศึกษา 4.ผลิตชุดสื่อโดยนักศึกษาและเผยแพร่ทั้งในสถานศึกษา และสื่อสังคมออนไลน์ 5.จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อป้องกันนักศึกษาให้ห่างไกลปัจจัยเสี่ยงกว่า 80 กิจกรรม ทั้งนี้ สสส. จะเชื่อม สาน และเสริมพลังให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินงานควบคุมปัจจัยเสี่ยง เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้รับพิษภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่

พร้อมสนับสนุน 5 มาตรการ คือ 1.พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2.สร้างความตระหนักรับรู้โทษพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า 3.เฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมาย 4.พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา 5.ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน

“ผมรู้สึกยินดีได้รับทราบจากทีมเครือข่ายต่าง ๆ ว่า มีโครงการดี ๆ เกิดขึ้นในวิทยาลัยหลายแห่ง จุดเริ่มต้นสำคัญเหล่านี้จะกลายเป็นจุดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีค่า และพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ทั้งนี้ การดำเนินโครงการต่าง ๆ ไม่ใช่เพื่อรางวัลหรือการยกย่อง แต่เพื่อการเปลี่ยนแปลงนักศึกษาในสถาบันการศึกษาของท่านให้มีพฤติกรรมที่ดี ห่างไกลจากการสูบบุหรี่และสิ่งเสพติด และหากนักศึกษาเหล่านี้สามารถพัฒนานิสัยและวินัยที่ดี จะส่งผลให้พวกเขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีและมีความสุขในอนาคต”

“และขอเน้นย้ำว่า สสส. จะยังคงสนับสนุนและเป็นจุดเชื่อมประสานในการขยายโครงการเหล่านี้ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 45 แห่ง เราจะมุ่งขยายไปยังวิทยาลัยอื่น ๆ อีกกว่า 400 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนของเรามีสุขภาพที่ดีสามารถมุ่งมั่นในการเรียนรู้และพร้อมเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต”

เรือโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ในส่วนของ เรือโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ. มีความมุ่งมั่นในการพัฒนากำลังคนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกำลังคนในระดับอาชีวศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามต้องการของภาคประกอบการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า ผ่านการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถที่เพียบพร้อมด้วย 3 ทักษะสำคัญ ได้แก่ ทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะชีวิต ซึ่งไม่เพียงแต่ต้องมีความรู้ความสามารถในวิชาชีพเท่านั้น ยังต้องมีทักษะในการดูแลสุขภาพเพื่อสามารถรับมือกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมด้วย

อย่างไรก็ดี สอศ. ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนเพื่อจัดการกับปัญหาปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

1. จัดทำนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่เป็นลายลักษณ์อักษร ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางที่หลากหลาย 2. จัดตั้งคณะทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ สํารวจข้อมูลการสูบบุหรี่ในโรงเรียน 3. ติดเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่ให้เห็นชัดเจนบริเวณทางเข้าโรงเรียนทุกช่องทาง 4. วางแผนและกําหนดกิจกรรมสอดแทรกเรื่องบุหรี่ทั้งในและนอกหลักสูตร 5. ส่งเสริมกิจกรรมร่วมรณรงค์ให้นักเรียนป้องกันการสูบบุหรี่ทั้งในและนอกโรงเรียนและร่วมรณรงค์บ้านและชุมชนปลอดบุหรี่ 6. จัดเวรยามครูทั้งในและนอกโรงเรียนเพื่อเฝ้าระวังในสถานที่เปลี่ยวร่วมกับตำรวจและเชิญผู้ปกครองนักเรียนมาพูดคุย และ 7. จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักร่วมกับชุมชน ผลักดันให้ผู้นําชุมชนมีนโยบายสนับสนุน การดำเนินงานชุมชนปลอดบุหรี่ พร้อมชี้แจงและขอความร่วมมือร้านค้าในชุมชนไม่ขายบุหรี่


“นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นเดินหน้าสู่วิทยาลัยแห่งความสุข เริ่มตั้งแต่การสร้างบรรยากาศภายในและภายนอกที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ โดยเฉพาะที่ลับตาคน อาทิ ห้องน้ำหรือเป็นพื้นที่มีต้นไม้บัง ก็ต้องทำให้มันเบาบางลง ทำให้มันสว่าง ทำให้มันมีคนเห็นอย่างน้อย อย่างน้อยก็เป็นการเตือนตัวเองและเตือนเพื่อน ครูจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญปลูกฝัง หลักการวิชากับวินัยต้องไปด้วยกัน เพราะถ้าไม่มีวินัย มีอัตราของตัวเองมากเกินไป ไม่เคารพไม่กฎกติกา อยากทำอะไรก็อยากทำนั่นถือว่า เราไม่ใช่คนอาชีวะ”

“ครูมีบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์ที่ดีปฏิบัติตามวัฒนธรรมของโรงเรียนและได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ ครูต้องเป็นไอดอลของผู้เรียนที่สามารถบอกเขาได้ว่า สิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนี้ไม่ทำ ผู้เรียนมีสุขภาพและสุขภาพจิตที่ดีมีความพร้อมในการเรียนรู้ อันนี้สำคัญเพื่อสุขภาพที่ดี ต้องนอนเต็มอิ่ม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มันจะทำให้เรามีสติ มีสมาธิพร้อมที่จัดการเรียน การสอน และผู้บริหารมีการบริหารจัดการให้ความสุขเกิดขึ้นในโรงเรียน ผู้บริหารสำคัญต้องจัดกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้เรียนมีความสุข ไม่เครียดจนเกินไป”

ในส่วนประเด็นการซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ ซึ่งมีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสถานศึกษา เรือโทสมพร เสริมว่า ศูนย์ความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษากำลังวางมาตรการในการตรวจสอบ ป้องกันจัดการกับสื่อโซเชียลที่อันตรายและไม่เหมาะสม


มาที่ นายนิรุตต์ ประยูรเจริญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพังงา ตัวแทนวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ เล่าว่า ตนในฐานะ ‘ลูกหม้อ’ อาชีวะ และในปัจจุบันได้กลับมาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารในสถาบันอาชีวศึกษา ตนรู้สึกยินดีและขอบคุณที่ สสส. และ สอศ. มองเห็นความสำคัญของเยาวชนอาชีวะ และได้จัดโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่จัดขึ้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนานักเรียนนักศึกษาในสถาบันอาชีวศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรณรงค์ให้เยาวชนของเราห่างไกลจากการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของนักเรียน

ทั้งนี้ ในอนาคตอยากให้ สสส. พิจารณาการดำเนินโครงการฯ ให้ครอบคลุมตั้งแต่การรณรงค์ป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษาแบบครบวงจร เพื่อให้โครงการนี้สามารถประสบความสำเร็จเต็ม 100%

“ส่วนตัวคิดว่า นักเรียนและนักศึกษาของอาชีวะที่ติดเหล้า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผู้ป่วยมากกว่า ซึ่งโชคดีอาจมีนักเรียนส่วนหนึ่งที่กลับใจ แต่ก็จะมีนักเรียนส่วนหนึ่งที่ถลำลึกลงไป ซึ่งส่วนสำคัญที่ผมอยากให้มีในปีต่อ ๆ ไปเลยก็คือ นักจิตวิทยาหรือนักบำบัดที่สามารถช่วยเหลือให้กับลูก ๆ เรากลับใจได้ 100% เพื่อที่จะมาเรียนให้เป็นนักเรียนของสายอาชีวะแล้วก็ก้าวต่อไปในอาชีพนั้น ๆ ให้ได้ เป็นการคืนคนดีให้กับสังคม”


อย่างไรก็ดี ภาพความสำเร็จของโครงการฯ แบบเป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ถูกนำไปต่อยอดเป็นผลงาน โครงการ และกิจกรรมย่อยต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม อาทิ วิทยาลัยเกษตรและเทคนิคเชียงใหม่ที่ได้ดำเนินโครงการลดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เพื่อสร้างความตระหนักถึงพิษภัยที่เกี่ยวข้อง วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบที่ได้มีการจัดการปัญหาการสูบบุหรี่ในห้องน้ำ

รวมถึงวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานีที่ได้ส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าใจถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่ในระดับที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิทยาลัยเทคนิคพังงาที่ได้จัดโครงการแลกอุปกรณ์กีฬา รวมถึงโมเดลของวิทยาลัยการอาชีพหนองกุงศรี

และอีกหนึ่งนวัตรกรรมที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งคือ “นวัตกรรม Siren Smoke (เครื่องตรวจจับควันบุหรี่)” จากวิทยาลัยเทคนิค กฟผ. แม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

คุณครูวราภรณ์ ยศสมสาย ครูที่ปรึกษาของโครงการฯ
คุณครูวราภรณ์ ยศสมสาย ที่ปรึกษาของโครงการฯ เล่าถึงภาพรวมว่า วิทยาลัยเทคนิค กฟผ. แม่เมาะ เป็นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของชุมชนอำเภอแม่เมาะ โดยอยู่ใกล้สถานที่สำคัญโดยเฉพาะตลาดและร้านค้าในชุมชน ทำให้นักเรียน นักศึกษาสามารถหาซื้อบุหรี่ได้ง่าย และนักเรียน นักศึกษาที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้มักจะนําบุหรี่เข้ามาสูบในวิทยาลัยโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นจุดอับต่าง ๆ ซึ่งทำให้บางครั้งครูปกครองไม่สามารถติดตามเด็กเหล่านี้ได้ทันที เพื่อเป็นการลดปริมาณผู้ที่มี พฤติกรรมเสี่ยงที่ชอบสูบบุหรี่ในวิทยาลัยลดน้อยลง โดยแกนนํานักศึกษาจึงจัดทำโครงการ Siren Smoke (เครื่องตรวจจับควันบุหรี่) ขึ้น เพื่อเป็นการสร้างนวัตกรรมในการป้องกันและลดปริมาณผู้ที่สูบบุหรี่ในวิทยาลัย และสร้างวิทยาลัยปลอดจากบุหรี่

“วิทยาลัยเทคนิค กฟผ. แม่เมาะ ได้ร่วมมือกับ สสส. ในการพัฒนาโครงการฯ นี้มาประมาณ 1 ปี ซึ่งนวัตกรรมตัวนี้เป็นความคิดของนักศึกษาเพราะเขาเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เลยมีความรู้ในเรื่องการเขียนโปรแกรม บวกกับมีนักศึกษาแผนกไฟฟ้าร่วมด้วย ซึ่งนับเป็นการส่งเสริมทักษะให้กับนักศึกษาอย่างดี ซึ่งทางวิทยาลัยก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่”

“โดยผลตอบรับหลังการติดตั้งเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากการสูบบุหรี่ในวิทยาลัยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในตอนนี้แกนนำชุดปัจจุบันกำลังจะจบการศึกษา ดังนั้น เราจึงต้องสร้างแกนนำใหม่ขึ้นมา นอกจากนี้ นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นก็จะมีการต่อยอดและปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต”


ด้าน นายชิษณุพงศ์ วงศ์เรือน ปวส.ชั้นปี 2 วิทยาลัยเทคนิค กฟผ. แม่เมาะ เล่าการทำงานให้ฟังคร่าว ๆ ว่า อุปกรณ์นี้จะมีความสามารถในการลิงก์กับแอปพลิเคชันไลน์ของครูฝ่ายปกครองทันทีเมื่อมีการตรวจจับควันบุหรี่ โดยถูกติดตั้งในห้องน้ำเป็นหลัก เนื่องจากห้องน้ำถือเป็นสถานที่ที่มักมีการหลบซ่อนเพื่อสูบบุหรี่ ซึ่งความยากก็คือเมื่อมีการติดตั้งในสถานที่ที่สัญญาณ Wi-Fi ไม่เข้าถึง อุปกรณ์จะไม่สามารถทำงานได้ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการทดลองและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยินดีเผยแพร่ให้กับโรงเรียนในเครือข่ายที่สนใจ

ขณะนี้วิทยาลัยมีการทดลองใช้อยู่ 2 เครื่อง โดยมีค่าใช้จ่ายเครื่องละประมาณ 1,000 กว่าบาท

“ที่ผมเลือกทำนวัตกรรมชิ้นนี้ เพราะมองว่ามันใหม่ในแวดวงอาชีวศึกษา เนื่องจากยังไม่มีใครทำมาก่อน ซึ่งจากผลตอบรับที่ดี ผมและทีมก็รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดี ๆ แบบนี้” ตัวแทนแกนนำนักศึกษา กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น