xs
xsm
sm
md
lg

สสส. สานพลัง ก.แรงงาน หนุนสถานประกอบการ-รัฐวิสาหกิจ ใช้โมเดล “Happy Workplace” ลดความขัดแย้งนายจ้าง-ลูกจ้างในองค์กร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. สานพลัง ก.แรงงาน หนุนสถานประกอบการ-รัฐวิสาหกิจ ใช้โมเดล “Happy Workplace” ลดความขัดแย้งนายจ้าง-ลูกจ้างในองค์กร พบ คนทำงานมีสุขภาวะทางจิตใจดีขึ้น 73.1% มีน้ำใจสูงถึง 70.6% สุขภาพร่างกายแข็งแรง เกิดเป็นผู้นำองค์กรสุขภาวะแล้ว 29 แห่ง เล็งขยายผลยกระดับสถานประกอบการให้เป็นองค์กรสุขภาวะต้นแบบทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2567 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดพิธีมอบรางวัลสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านสุขภาวะในองค์กร 29 แห่ง ประจำปี 2567 ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ด้านสุขภาวะในองค์กร หนุนการใช้แนวคิดองค์กรสุขภาวะ (Happy workplace) มุ่งเน้นให้บุคลากรทุกคนในองค์กรมีความสุขในการทำงาน

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 การทำสงครามในภูมิภาคยุโรปตะวันออก และภาวะเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่ต้องโดนเลิกจ้าง ขาดรายได้ และความมั่นคงในการทำงาน นำมาสู่ปัญหาข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานสถานการณ์ด้านแรงงาน ไตรมาสที่ 1 เดือน ม.ค.-มี.ค. 2567 โดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน พบว่าอัตราการเกิดข้อขัดแย้งต่อสถานประกอบการ 100,000 แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น 7.76% จาก 5.86% ในไตรมาสสุดท้าย ปี 2566 สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ ขาดการสื่อสารระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รวมถึงขาดทัศนคติและความจริงใจต่อกัน

“กระทรวงแรงงาน สานพลัง สสส. ริเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ด้านสุขภาวะในองค์กร เน้นให้เครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ในสถานประกอบการและรัฐวิสาหกิจ ร่วมพัฒนานโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรทุกมิติ รวมถึงพัฒนาศักยภาพแกนนำแรงงานร่วมขับเคลื่อนระบบสุขภาวะในองค์กร ช่วยให้คนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี สถานประกอบการและรัฐวิสาหกิจดีเด่นด้านสุขภาวะในองค์กร ทั้ง 29 แห่ง ที่ขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะในองค์กรได้อย่างเป็นระบบ จะมาเป็นพลังสำคัญร่วมขับเคลื่อนให้สถานประกอบการทั่วประเทศพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักคิด ร่วมสร้าง ร่วมมี ร่วมธำรงไว้ ต่อไป” นายอารี กล่าว

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายแรงงานสัมพันธ์ด้านสุขภาวะในองค์กร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการทำงานของวัยแรงงาน เปิดโอกาสให้สถานประกอบการและรัฐวิสาหกิจที่มีการบริหารจัดการด้านสุขภาวะด้านสุขภาวะในองค์กร มีผลการดำเนินงานโดดเด่น เป็นรูปธรรม สอดคล้องกับมาตรฐานข้อกำหนด และตัวชี้วัดของ สสส. ในการเป็นองค์กรสุขภาวะ เข้าร่วมประกวด มีสถานประกอบการได้รับรางวัลในระดับดีเลิศ 23 แห่ง ระดับก้าวหน้า 1 แห่ง และระดับพื้นฐาน 5 แห่ง มีการพัฒนาหลักสูตรพัฒนาคน เสริมศักยภาพทีมเพื่อองค์กรแห่งความสุข ชุดกิจกรรมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาวะ และนักสร้างสุของค์กร นำไปสู่การยกระดับเป็นสถานประกอบกิจการต้นแบบที่เข้มแข็งและยั่งยืน

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนให้สถานประกอบการนำแนวคิดองค์กรสุขภาวะ หรือ Happy Workplace มุ่งพัฒนาสุขภาวะคนทำงานทุกคน ซึ่งเป็นกำลังหลักของครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม ภายใต้การดำเนินงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน สสส. ได้สนับสนุนทั้งมาตรการสุขภาวะองค์รวมของวัยทำงาน ชุดความรู้สุขภาพ และนวัตกรรม HAPPINOMETER เครื่องมือวัดค่าความสุข 8 มิติ ของพนักงานผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์ จากรายงานผลการสำรวจคุณภาพชีวิต ความผูกพันองค์กร และความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน ของคนทำงาน 7,989 คน จากสถานประกอบการ 30 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการฯ ปี 2567 พบหลังเข้าร่วมโครงการคนทำงานมีสุขภาวะในมิติจิตวิญญาณดีสูงถึง 73.1% รองลงมาคือมีน้ำใจดี 70.6% ใฝ่รู้ดี 69.5% ครอบครัวดี 65.8% และสุขภาพร่างกายดี 62.5% สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิด Happy Workplace ช่วยส่งเสริมให้องค์กรมีสุขภาวะที่ดี คนทำงานมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ครอบครัวอบอุ่น และร่วมสร้างสังคมที่น่าอยู่ ปลอดภัย ไร้ความขัดแย้งด้วยกัน












กำลังโหลดความคิดเห็น