สสส. จับมือ กทม. ใช้แนวคิด Happy Workplace ยกระดับคุณภาพชีวิตบุคลากร หลังพบคนทำงานเครียดสูง สาเหตุจาก งานเร่ง งานล้น มีภาวะหมดไฟในการทำงาน นำร่องใน 6 เขต กทม. เกิดเป็นองค์กรต้นแบบ แกนนำสร้างสุข 60 คน เล็งขยายผลครบ 50 เขต สร้างสุขภาวะบุคลากร 8 หมื่นคน ภายในปี 70
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวที “แลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิดชูองค์กรสุขภาวะ และเวทีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมสุขภาวะในองค์กร เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีให้แก่บุคลากรของกรุงเทพมหานคร ว่า สสส. มุ่งดำเนินงานขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรสุขภาวะ โดยเฉพาะในองค์กรซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญต่อการมีสุขภาพดีของคนวัยทำงาน ตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ สสส. จึงร่วมกับ กทม. และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มโครงการสำรวจและพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานสำหรับหน่วยงานในสังกัด กทม. จากผลสำรวจคุณภาพชีวิตการทำงานบุคลากรสังกัดหน่วยงาน กทม. ปี 2566 กลุ่มตัวอย่างข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว จำนวน 2,710 คน พบว่ามีบุคลากรเกิน 50% มีโรคประจำตัวและเสี่ยงป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มีความเครียดจากการทำงานสูงเกือบ 90% สาเหตุจากภาระงานเร่งด่วน ปริมาณงานเยอะ และภาวะหมดไฟในการทำงาน
“สสส. สนับสนุนให้ กทม. นำแนวคิดองค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace ) และแนวทางความสุขพื้นฐาน 8 ประการ (Happy 8) กำหนดเป็นนโยบายการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ระยะแรกนำร่องอบรมให้ความรู้การด้านการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ให้คำปรึกษา พัฒนากิจกรรมและหลักสูตรนักสร้างสุข ใน 6 สำนักงานเขต ได้แก่ สำนักงานเขตภาษีเจริญ สำนักงานเขตตลิ่งชัน สำนักงานเขตบางเขน สำนักงานเขตคลองเตย สำนักงานเขตมีนบุรี และสำนักงานเขตพระโขนง จนเกิดพื้นที่ต้นแบบองค์กรสุขภาวะ และ นักสร้างสุของค์กรด้านสุขภาพกาย-ใจที่ดี ต้นแบบ 60 คน ซึ่งความร่วมมือ MOU ครั้งนี้ สสส. จะร่วมสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในองค์กรกับ กทม. อย่างใกล้ชิด มุ่งเป้าขยายผลองค์กรแห่งความสุขของ กทม. จากเดิม 6 สำนักงานเขต เพิ่มให้ครบ 50 สำนักงานเขต ในปี 2570 ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม. มุ่งดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีอยู่ 10 ล้านคน เป็นอันดับแรก ส่งผลให้คนทำงานในทุกระดับต้องเจอกับสภาวะความกดดันและความเครียด มีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ตามแผนพัฒนา กทม. 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) เน้นให้บุคลากรเป็นมืออาชีพในการบริการประชาชน บุคลากรในสังกัด กทม. จึงจำเป็นต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการที่มีคุณภาพ ความร่วมมือกับ สสส. ครั้งนี้ กทม. มุ่งขับเคลื่อนให้หน่วยงานในสังกัดสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สร้างค่านิยมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี รวมถึงพัฒนานวัตกรรม และสร้างแกนนำสร้างเสริมสุขภาพระดับเขต สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการบริหารบุคคล ที่มุ่งเน้นให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริการประชาชน
ดร.ศิริเชษฐ์ สังขะมาน หัวหน้าโครงการสำรวจและพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานสำหรับหน่วยงานในสังกัด กทม. กล่าวว่า ผลสำรวจเชิงลึกบุคลากร กทม. ใน 6 เขต พบว่าบุคลากรส่วนใหญ่ขาดการออกกำลังกาย มีค่า BMI สูงเกินมาตรฐาน เครียดจากงาน และมีแนวโน้มเป็นออฟฟิศซินโดรม โดยเฉลี่ยต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า 72% มีปัญหาหนี้สิน ขาดความรู้การบริหารจัดการด้านการเงิน แม้ กทม. จะสนับสนุนงบประมาณให้บุคลากรดูแลสุขภาพในทุกมิติ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ มีผลโดยตรงต่อการออกแบบกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ เสนอให้ กทม. มุ่งพัฒนาบุคลากรผ่านแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1. วางพื้นฐานการเป็นองค์กรสุขภาวะด้วยความเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล 2. เปิดพื้นที่ให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมและผลักดันนโยบายองค์กรสุขภาวะ 3. สร้างการรับรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาวะในองค์กรแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตอบโจทย์แผนพัฒนา กทม. ให้เป็น “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน”