ว่าด้วยเรื่อง “วัยรุ่นไทยกับบุหรี่ไฟฟ้า” ต้องยอมรับด้วยความหนักใจว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าได้กลายเป็น “ตัวเลือก” ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายของนักสูบหน้าใหม่ ไม่ว่าจะด้วยรูปลักษณ์ กลิ่น หรือรสชาติที่หลากหลาย
ตัวเลขในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักสูบ แต่รวมไปถึงความพยายามในการหาวิธี “ลดความเสี่ยง” จากการสูบบุหรี่และการค้นหาทางเลือกที่ดูเหมือน “ผลกระทบน้อยกว่าบุหรี่มวน” ในขณะเดียวกัน ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของคำกล่าวอ้างจากโฆษณาชวนเชื่อ
อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่เด็กและเยาวชนกำลังลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ของเกือบทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
จุดยืนประเทศไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า
“จุดยืนของประเทศไทยคือ ไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า โดยห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” นั่นยังคงเป็นจุดยืนหลักของหลากหลายองค์กรบนเวที “สานพลังปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า” ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 22 โดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ
“บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่มีฤทธิ์เสพติดรุนแรงและอันตรายต่อสุขภาพ ไอบุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัยและมีสารเคมีอันตราย ซึ่งอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าทำการตลาดกับคนรุ่นใหม่ พัฒนาบุหรี่ไฟฟ้าให้มีรสชาติมากกว่า 1,000 กลิ่น เพื่อดึงดูดเด็กและเยาวชน ทุกประเทศควรดำเนินการอย่างเข้มงวดในการลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยการบังคับใช้กฎหมายระเบียบต่าง ๆ และพัฒนานโยบายที่เหมาะสม”
นั่นเป็นคำยืนยันความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าจาก ดร.จักดิช เคอร์ ผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคด้านการควบคุมยาสูบ (Dr.Jagdish Kaur, Regional Advisor (Tobacco-Free Initiative) องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ในขณะที่ WHO ยังคงสนับสนุนประเทศไทยคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า
ด้าน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เสริมว่า จากข้อมูลการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ 6,045 คน ตีพิมพ์ในวารสาร Tobacco control ปี 2567 ระบุว่า เยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน หากเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้าถือว่า เป็นประตูสู่การสูบบุหรี่มวนและเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนโดยตรง
ดร.นพ.ไพโรจน์ ให้ความเห็นต่อว่า เด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะว่ามีอัตราการสูบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การทำให้อนาคตของชาติสุขภาพดี ต้องเริ่มจากป้องกันไม่ให้ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เข้าถึง ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ธุรกิจยาสูบมุ่งเป้าเป็นพิเศษ ดังนั้น จำเป็นต้องขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 อย่างเข้มข้น
“สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการรณรงค์ สร้างกระแสสังคม สร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น โดย สสส. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานเรื่องนี้ ซึ่งการจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือ การทำงานร่วมกันจะช่วยลดการบริโภคยาสูบและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในภาพรวม ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการปกป้องสุขภาพของเด็กไทย ต้องขอบพระคุณทุกภาคีที่ได้จับมือกันทำงานเรื่องนี้อย่างเป็นระบบต่อไป”
บุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้า ล่าเหยื่อวัยทีน
อุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้าใช้กลยุทธ์ว่าด้วย การตลาดแบบล่าเหยื่อ หรือ Predatory marketing โดยมุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะผู้หญิง ซึ่งไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ให้เป็นนักสูบหน้าใหม่และเป็นลูกค้าระยะยาว จากการพัฒนารูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ที่มีความทันสมัย ขนาดกระทัดรัด ใช้สะดวก ปรับเป็นเครื่องประดับ หรือแฟชั่นดึงดูดความสนใจของกลุ่มวัยรุ่น และประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลายในสื่อโซเชียลซึ่งเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากที่สุด มีทั้งการสาธิต การรีวิว รวมทั้งนํามาเลียนแบบและจัดประกวด
ซึ่งที่น่าตกใจคือ มีการพัฒนารูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้าจาก รุ่น 1 มาเป็น รุ่น 5 (toy pod) อย่างรวดเร็ว
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้การตลาดบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชน ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบทั้งหมดจึงเร่งขยายเครือข่ายครูและผู้ปกครองทั่วประเทศ เพื่อช่วยสร้างความรู้ และดูแลลูกหลานของเรา อีกทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายสาธารณสุขพร้อมช่วยกันตัดเส้นทางการกระจายบุหรี่ไฟฟ้าในจังหวัดต่าง ๆ ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบทุกเครือข่ายมีแผนขับเคลื่อนในพื้นที่ของตนเพื่อปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า
ซึ่งในฐานะผู้แทนจากภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบทั่วประเทศ ขอประกาศปฏิญญา สานพลังปกป้องเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้าว่า 1. ขอเรียกร้องให้รัฐสภา ‘คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า’ เพื่อคุ้มครองสุขภาพเด็ก และให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติ มากกว่าผลกำไรและภาษี 2. ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมาย ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ จริงจัง เคร่งครัด และไม่เรียกรับผลประโยชน์ 3. จะเฝ้าระวัง เปิดโปงกลยุทธ์การตลาดของผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำการตลาดล่าเหยื่อมุ่งเป้าเยาวชน และกลยุทธ์การแทรกแซงนโยบายของเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านองค์กร บุคคล สื่อ ให้สังคมรับรู้ และ 4. จะร่วมมือกันส่งเสริมให้การไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เป็นค่านิยมดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น
“ถ้าปล่อยให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย พวกเราจะยิ่งลำบาก ตอนบุหรี่มวนเราพยายามทำให้คนสูบลดลงจาก 23% เหลือ 17.4% หรือราว ๆ 9 ล้านคนก็ว่าเหนื่อยแล้ว แต่ถ้าหากว่า บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายอีก เชื่อเลยว่า จะยิ่งเหนื่อยกว่าเดิมมาก เราคงสู้กับบริษัทบุหรี่ไม่ได้เพราะเขามีเงินมากกว่าเรา เพราะฉะนั้นอยากจะเชิญชวนทุกคน ถ้าหากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นครอบครองหรือขาย สามารถโทร 1166 สายด่วนสคบ. และ 1599 สายด่วนตำรวจ ร่วมด้วยช่วยกันและก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะผ่านปัญหานี้ไปด้วยกัน” ศ.พญ.สมศรี กล่าว
ปกป้องเด็กยุคใหม่ ต้อง “รู้ให้ทัน"
ในขณะเดียวกัน ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างโรงเรียนให้เป็นบ้านหลังที่ 2 ที่ต้องช่วยทั้งพัฒนาทักษะชีวิต สนับสนุนการเรียนรู้ มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต และสิ่งสำคัญคือความปลอดภัย
นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองไว้ว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่เน้นการให้ความสำคัญกับการศึกษาและความสุขของนักเรียน โดยยึดหลัก "เรียนดี มีความสุข" ซึ่งหมายความว่า การมีสภาพแวดล้อมที่ดีคือหัวใจสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด กัญชา กระท่อม บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนและสุขภาพของนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายที่เข้มงวดในการเฝ้าระวังและป้องกัน ตลอดจนมุ่งมั่นให้ความรู้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับวิวัฒนาการของสารเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่มีการพัฒนารูปแบบและวิธีการตลาดใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา การรู้เท่าทันจะช่วยให้ครูและบุคลากรมีความรู้เท่าทัน สามารถป้องกันและจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายในการปราบปรามปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพและอนาคตของเยาวชนไทย โดยมีแนวทางการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ดังนี้ 1. เน้นย้ำสถานศึกษาในสังกัด ให้ป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา 2. ประสานสถานีตำรวจ ฝ่ายปกครอง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ วางแผนร่วมออกตรวจบริเวณหน้าประตูโรงเรียน รวมทั้งในและนอกสถานศึกษาทุกวัน และให้สถานศึกษาต้องเป็นที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 3. ให้สถานศึกษาบูรณาการให้องค์ความรู้ รู้เท่ากันพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 4. ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รวบรวมรายงานผลการดำเนินงานของสถานศึกษา
ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) "การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด" กับภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมายสร้างความตระหนักในเด็กและเยาวชน ป้องกันการใช้สารเสพติดในสถานศึกษาโดยการตรวจปัสสาวะ ในเฟสแรกจะดำเนินการในกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีความเสี่ยงสูงและสมัครใจ
“นอกจากความเข้มข้นในสถานศึกษา ก็ต้องฝากไปถึงผู้ปกครอง ที่ถือว่าอยู่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด รวมทั้งชุมชน ดังเช่นคำกล่าวที่บอกว่า เลี้ยงเด็กหนึ่งคน ใช้คนทั้งหมู่บ้าน ครั้งนี้ก็เช่นกัน อยากจะขอให้ช่วยกันสอดส่องดูแลกันและกัน ผมมองว่า ระเบียบการก็ส่วนหนึ่ง ค่านิยมสังคมเองก็ส่วนหนึ่ง ซึ่งการสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้กับเยาวชนมีส่วนสำคัญมาก ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น ไม่ใช่ว่า โรงเรียนห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าแต่ผู้ใหญ่ยังสูบบุหรี่ไฟฟ้าให้เด็กดู ให้เขาคิดว่า มันเป็นค่านิยมที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ผมคิดว่า ตรงนี้ก็มีส่วนสำคัญ ฉะนั้นระเบียบกับการสร้างค่านิยมของสังคมต้องทำควบคู่กัน”
“ท้ายที่สุดผมให้ความให้ความมั่นใจว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งและจะไม่ยอมให้สถานศึกษาเป็นแหล่งที่แพร่ระบาดของการใช้ยาเสพติดอย่างแน่นอน” นายสิริพงศ์ ทิ้งท้าย
เร่งทำ เร่งแก้ เร่งด่วน
ในขณะที่จุดยืนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. โดย นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า และแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่าย ได้จัดรับฟังความคิดเห็นและจัดเวทีสมัชชาสุขภาพ
โดยมีการรับรอง “มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ดังนี้ 1. สร้างความตระหนักรู้ถึงภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกต้องและทันเหตุการณ์ 2. เฝ้าระวังและกำหนดมาตรการทางกฎหมาย หรือมาตรการ เพื่อกำกับการนำเสนอเนื้อหาสาระและการผลิตสื่อภาพยนตร์หรือสื่อวีดิทัศน์ 3. เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย 4. สร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคสังคม และภาควิชาการ กับกลไกในระดับชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5. เป็นแบบอย่างที่ดีไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงปกป้องไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 6. คงนโยบายห้ามนำเข้า ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และป้องกันการแทรกแซงนโยบายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา เห็นชอบ เพื่อประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต
ท้ายนี้ นพ.สุเทพ เอ่ยว่า กุญแจสำคัญคือต้องร่วมกันขับเคลื่อนประเด็นบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน หรือสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหานี้ส่งผลกระทบไปสู่ลูกหลานเราในอนาคต