xs
xsm
sm
md
lg

กทม. เตรียมพร้อมเฝ้ารับเสด็จฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดอาคาร “โรงพยาบาลรัตนประชารักษ์” 8 สิงหาคม 2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม. เตรียมพร้อมเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดอาคาร “โรงพยาบาลรัตนประชารักษ์” 8 สิงหาคม 2567

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยมการจัดสถานที่เฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณ วรราชภักดีสิริกิจการิณี พีรยพัฒนรัฐสีมา คุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน (เป็นการส่วนพระองค์) เปิดอาคาร “โรงพยาบาลรัตนประชารักษ์” ในวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ณ โรงพยาบาลรัตนประชารักษ์ เขตคลองสามวา โดย พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา นายสุธน เอกเสถียร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคลองสามวา และผู้เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงาน

โรงพยาบาลคลองสามวา เริ่มก่อตั้งโดยมีผู้แสดงเจตนาในการบริจาคที่ดิน คือ นายใย-นางเพ็ญแข ลิ่มทอง และนางประดับ โกมุท จำนวน 2 แปลง มีเนื้อที่ 20 ไร่ ผ่านพระเทพประสิทธิมนต์ (โกศล มหาวีโร) เจ้าอาวาสวัดศรีสุดารามวรวิหารเป็นผู้รับมอบให้แก่กรุงเทพมหานครเพื่อสร้างโรงพยาบาล ขนาด 200 เตียง ครอบคลุมพื้นที่เขตคลองสามวา สายไหม บางเขน คันนายาว หนอกจอก มีนบุรี และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รวมประชากรที่จะได้รับประโยชน์จากการบริการทางการแพทย์ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจำนวนกว่า 1,124,530 คน โดยในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2556 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงพยาบาลคลองสามวา โดยเปิดให้บริการอาคารผู้ป่วยนอก (OPD) แล้วเสร็จ ประกอบด้วย อาคารชั้นเดียวยกใต้ถุนสูง 2 เมตร กว้าง 18 เมตร ยาว 49 เมตร พื้นที่ใช้สอยประมาณ 1,790 เมตร ลานจอดรถบนอาคารกว้าง 18 เมตร ยาว 26 เมตร สำหรับให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป และเมื่อวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2560 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารโรงพยาบาลคลองสามวา ถนนไมตรีจิต แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้พี่น้องประชาชนมีสุขอนามัยที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ อันเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการก้าวสู่การเป็นมหานครแห่งสุขภาพที่เข้มแข็ง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกมีสถานพยาบาลของรัฐให้บริการไม่ครอบคลุมพื้นที่ โรงพยาบาลคลองสามวาจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายด้านสุขภาพมุ่งสร้างโรงพยาบาลให้ครบ 4 มุมเมือง เพื่อให้บริการประชาชนฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร พร้อมให้บริการในช่วงแรกวันจันทร์-วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. ต่อมาในปี 2563 ได้ขยายการให้บริการเพิ่มขึ้นในวันจันทร์-วันศุกร์ ระหว่างเวลา 08.00–20.00 น. ในวันเสาร์-วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 08.00–12.00 น.

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด 19 โรงพยาบาลให้บริการตรวจรักษา พร้อมให้บริการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้กับประชาชน ซึ่งในวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ผู้บริหารโรงพยาบาลคลองสามวาได้ขอความอนุเคราะห์จากท่านเจ้าอาวาสวัดฝวงโกวซัน หรือวัดจีน สร้างอาคารคลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI) เพื่อรองรับการให้ตรวจประชาชน และได้รับมอบหมายจากผู้บริหารกรุงเทพมหานครให้บริการเปิดศูนย์พักคอยเขตสะพานสูง เพื่อรักษาผู้ป่วยที่ต้องแยกตัวออกจากผู้ที่ไม่ได้รับเชื้อโรคโควิด 19

ในปี 2563 ผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้อนุมัติงบประมาณในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลคลองสามวา โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือ 1,080 วัน แล้วเสร็จในปี 2567 โดยก่อสร้างอาคารจำนวน 3 อาคาร ประกอบด้วย 1. อาคารโรงพยาบาลและอาคารจอดรถ จำนวน 1 อาคาร 2 ทาวเวอร์ เป็นโรงพยาบาลสูง 10 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 61,935 ตร.ม. แยกเป็นพื้นที่การรักษาพยาบาล พื้นที่สำนักงานของบุคลากรการแพทย์ และอาคารจอดรถ สูง 8 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น สามารถจอดรถได้ 629 คัน พื้นที่ใช้สอย 23,100 ตร.ม. 2. อาคารหอพักแพทย์และพยาบาล จำนวน 1 อาคาร 2 ทาวเวอร์ หอพักแพทย์ สูง 9 ชั้น มีจำนวน 70 ห้องพัก แพทย์พัก 2 คน/ห้อง พักได้ 140 คน พื้นที่ใช้สอย 4,800 ตร.ม. และหอพักพยาบาล สูง 9 ชั้น มีจำนวน 154 ห้องพัก พยาบาลพัก 3 คน/ห้อง พักได้ 462 คน พื้นที่ใช้สอย 9,500 ตร.ม. และ 3. อาคารผู้ป่วยนอกขนาดชั้นเดียว 1 อาคาร รองรับการบริการประชาชน และการเรียนการสอนในการผลิตแพทย์ ร่วมกับวิทยาลัยจุฬาภรณ์

นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการมูลฝอยแยกประเภท แบ่งเป็นมูลฝอยทั่วไป มูลฝอยย่อยสลายได้ มูลฝอยรีไซเคิล มูลฝอยอันตราย และมูลฝอยติดเชื้อ รวมถึงระบบการจัดการน้ำเสีย ระบบป้องกันอัคคีภัย และการรักษาความปลอดภัย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานชื่อโรงพยาบาลดังกล่าวว่า “รัตนประชารักษ์” หมายถึง โรงพยาบาลที่เป็นแหล่งรักษาประชาชนอันยอดเยี่ยม พร้อมพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “สธ” ประดับที่ป้ายชื่อโรงพยาบาล โดยจะเสด็จพระราชดำเนินเปิดแพรป้ายชื่อโรงพยาบาลในวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม 2567 ซึ่งโรงพยาบาลรัตนประชารักษ์เป็นโรงพยาบาลขนาด 250 เตียง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการประชาชนในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครในเขตคลองสามวา สายไหม บางเขน คันนายาว หนอกจอก มีนบุรี รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง คือ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี








กำลังโหลดความคิดเห็น