xs
xsm
sm
md
lg

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผนึกกำลังกับกูรูด้านอาหารของประเทศ เปิดตัวหลักสูตรปริญญาโทการจัดการร้านอาหาร RMBA หลักสูตรแรกของประเทศ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการยุคใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดงานแถลงข่าวและสัมมนาเปิดตัวหลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการร้านอาหาร (RMBA) อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญ ในวงการร่วมให้ข้อมูลถือเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยที่เน้นเฉพาะทางด้านการบริหารจัดการร้านอาหาร

ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวถึงบทบาทของหอการค้าไทยในการยกระดับธุรกิจร้านอาหารว่า "หอการค้าไทยมุ่งเน้น 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าให้แก่ อัตลักษณ์อาหารไทย การส่งเสริมการท่องเที่ยวอาหาร การสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงธุรกิจ การให้คำปรึกษาและฝึกอบรม และการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ"

"อาหารไทยเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่สำคัญของประเทศ และเป็น Competitive Advantage ที่ควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมหลัก การมีหลักสูตร RMBA จะช่วยพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่ระดับสากล"

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและผู้อำนวยการหลักสูตร RMBA กล่าวว่า "หลักสูตรนี้ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ต้องการบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางด้านการบริหารจัดการร้านอาหาร เราได้ออกแบบหลักสูตรให้ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การวางแผนธุรกิจ การตลาด การบริหารต้นทุน การพัฒนาเมนู ไปจนถึงการบริหารบุคลากร เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจร้านอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

"เรามีความยินดีที่จะแจ้งว่าหลักสูตร RMBA รุ่นแรกได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีผู้สมัคร เต็มจำนวนแล้ว และขณะนี้เราได้เปิดรับสมัครสำหรับรุ่นที่ 2 แล้ว ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครได้ที่ www.utcc.ac.th/rmba"

คุณต่อ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพนกวินเอ็กซ์ จำกัด (เจ้าของเพจ Torpenguin) ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในโครงการนี้ กล่าวเสริมถึงจุดเด่นของหลักสูตรว่า "RMBA ผสมผสานระหว่างภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และโอกาส ในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้าถึงข้อมูลและเทรนด์ใหม่ๆ ในวงการอาหารอยู่เสมอ"

"ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในวงการอาหาร ผมเห็นว่าหลักสูตรนี้มีความพิเศษตรงที่เน้นการปฏิบัติจริง ผู้เรียนจะได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาจริง และมีโอกาสฝึกงานกับร้านอาหารชั้นนำ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างแท้จริง"
ดร.รวิดา วิริยกิจจา คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “หลักสูตร RMBA ถูกออกแบบด้วยความเข้าใจในปัญหาที่ผู้ประกอบการร้านอาหารจะต้องเจอในแต่ละสถานการณ์ เราจัดให้มีระบบ Mentoring ที่จับคู่ผู้เรียนกับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ เป็นที่ปรึกษา ทำให้ผู้เรียนสามารถปรึกษาปัญหาในรายละเอียดกับผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง ไม่ใช่แค่การเรียน ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เราเชื่อมั่นว่ากระบวนการนี้ ประกอบกับกลุ่มเพื่อนที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารเช่นกัน จะทำให้เกิด dynamic consultant เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน”

โดยในงานสัมมนาเปิดตัวหลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการร้านอาหาร (RMBA) ม.หอการค้าไทย ยังได้รับเกียรติจากกูรูในแวดวงธุรกิจอาหารอีกหลายท่าน ซึ่งมาร่วมแชร์ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย

คุณตุลย์ ชนินทร์ นาคะรัตนากร Digital Manager Burger King ได้พูดถึงเทรนด์การตลาดร้านอาหารปัจจุบันนี้ว่า “ร้านอาหารจำเป็นต้องทำการตลาดทุกช่องทางในการใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อให้ทุกคนรู้จักเรามากขึ้น ใช้จ่ายกับเรามากขึ้น การมี data สำคัญ และการใช้เดต้าหรือข้อมูลที่ถูกที่สุดของร้านอาหารคือ 1. การใช้ไลน์แอด 2. การใช้วงในฟู้ดสตอรี่ มันคือการได้มาซึ่งเดต้าที่ละเอียดและถูกที่สุด เพราะฉะนั้นเทรนด์ในอนาคตคือการเอาเดต้าของลูกค้ามาวิเคราะห์ว่าเราจะทำอะไรกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ดี ควรจะเพิ่มสเปนดิ้งหรือการใช้จ่ายของเขา หรือควรจะดึงเขามาที่ร้านบ่อยขึ้น การเล่นกับลูกค้าเก่าเป็นฐานที่แข็งแรงให้กับเราและทำให้ร้านเราค่อนข้างได้เปรียบคนอื่น”

คุณแทน กิตติเดช วิมลรัตน์ iTAN นักวิจารณ์อาหาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด และเจ้าของร้านเผ็ดมาร์ค แฟชั่นแบรนด์ที่ขายอาหาร สร้างแบรนด์อาหารแตกต่างจากตลาดทั่วไปเผยว่า “การสร้างแบรนด์ ความยากไม่ได้อยู่ที่การสร้างแบรนด์ ความยากมันอยู่ที่คนสร้างไม่ได้รู้จักและเข้าใจแบรนด์ที่กำลังจะสร้าง เราจะย้ำกับคนอื่นเสมอว่า First Priority (สิ่งสำคัญอันดับแรก) ของเผ็ดมาร์ค คือ คอนเทนต์เจนซี เป็นคอนเทนต์แรกตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้ เราไม่เคยบอกว่าเราจะทำกะเพราให้อร่อยขึ้น แต่ห้ามอร่อยน้อยลงจากครั้งที่แล้วที่เขาเคยมากิน ห้ามสกปรก พนักงานห้ามมีทัศนคติที่ต่างจากเดิม การทำแบรนด์ของเราคือการรักษาไว้ซึ่งการทำแบรนด์ที่คนเขาพร้อมใจกันจะมาลองกันอยู่แล้ว แล้วกลับมากี่ครั้งก็เหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่เราทำได้ในต้นทุนที่ถูกที่สุดในสภาวะเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดสำหรับการลงทุนต่างๆ”

ทางด้าน คุณแต๋ง กฤษฏิ์กุล ชุมแก้ว ผู้บริหารร้าน After Yum ชวนมาถอดกลยุทธ์ ทำยังไงให้กลายเป็นกระแสว่า “สำหรับตัวเราไม่มีเป้าหมายชีวิต แต่สำคัญคือทำแล้วมีความสุข การทำธุรกิจสำคัญคือการวิเคราะห์ อย่านั่งเทียน อย่าคาดเดา นำเดต้ามาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อกำหนดทิศทาง จะทำให้คุณรู้ว่าคุณจะไปต่อ หรือพอแค่นี้ เพื่อที่จะกลายเป็นเทรนด์เซ็ตเตอร์ ศึกษาข้อมูลให้แน่นที่สุด After Yum มีทุกวันนี้ได้เพราะเดต้า และสำคัญที่การต่อยอด เราเปรียบตัวเองเป็น Product ของแบรนด์ ไม่ว่าคุณจะเข้าวงการอะไร หน้าคุณเป็นโลโก้ของแบรนด์ของคุณ นั่นหมายความว่าสิ่งที่จะต่อยอดต่างหากที่จะทำให้ธุรกิจนั้นยั่งยืน สุดท้ายอย่าลอกเลียนแบบใคร มันไม่มีทางเหมือน มันจะกลายเป็นสิ่งที่ก๊อปปี้ เราควรสร้างตัวเราขึ้นมาให้ได้”
หลักสูตร RMBA มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการร้านอาหาร ยกระดับมาตรฐานของธุรกิจร้านอาหารไทย และสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเรียนหลักสูตร RMBA รุ่นที่ 2 ได้ที่ www.utcc.ac.th/rmba หรือ Line: @rmbaหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 089 890 9394 และโทร. 096 953 1500 




















กำลังโหลดความคิดเห็น