“เพิ่มสุข” ปลัด อว. ชี้กองทุนอุดมศึกษาฯ ปฏิรูประบบการเรียนการสอนให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงประเทศ ด้านกรรมการหอการค้าไทย ระบุกระทรวง อว. ควรเป็นเจ้าภาพพัฒนาประเทศและช่วยภาคธุรกิจปรับตัวให้เข้าสู่โลกยุคใหม่
เมื่อวันที่ 23 ก.ค.นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการเสวนา “บทบาท อว.กับการพัฒนาประเทศ” หนึ่งในกิจกรรมสำคัญในงาน “อว.แฟร์” ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า กระทรวง อว .เป็นหน่วยงานที่มีส่วนสำคัญกับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมา กระทรวง อว.ได้มีการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านนโยบายและกลไกต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมหลายโครงการ และสามารถนำความสำเร็จเหล่านั้นไปช่วยหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในภาพรวม สำหรับกลไกที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้กระทรวง อว. มีบทบาทในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาเกิดการปฏิรูประบบการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีคุณภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ตลอดจนเน้นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย
ด้าน น.ส.ปริม จิตจรุงพร กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมและวิจัยหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ซึ่งมาร่วมให้ความคิดเห็นและแบ่งบันประสบการณ์ในการเสวนาครั้งนี้ ผ่านการบรรยาย เรื่อง “อว. กับการพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรม” กล่าวว่า กระทรวง อว. ควรเป็นเจ้าภาพในการพัฒนาประเทศ เพราะมีทั้งสถาบันอุดมศึกษา มีวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และได้ใช้ประโยชน์จาก วทน. ที่มีอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ ที่สำคัญกระทรวง อว. สามารถช่วยให้ภาคธุรกิจในการปรับตัวให้เข้าสู่โลกยุคใหม่ได้โดย 1. เป็นแหล่งข้อมูลให้ธุรกิจเข้าถึงได้ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้ติดตามแนวโน้มระดับโลกอย่างใกล้ชิดในด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม โดยระบุเทคโนโลยีใหม่ๆ ความท้าทายและโอกาสที่เกิดขึ้น 2.พัฒนาทักษะในอนาคต โดยสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่มุ่งสู่อนาคต เช่น วิเคราะห์ข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ และการรู้ดิจิทัล เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนและแรงงานสำหรับงานในอนาคต
น.ส.ปริม กล่าวต่อว่า ในขณะที่ข้อ 3 คือ ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มการเข้าถึง ประสิทธิภาพและความร่วมมือ และ 4. สร้างพื้นที่ในการบ่มเพาะและเรียนรู้ โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการทดลอง การยอมรับความเสี่ยง และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรมและความยืดหยุ่น