xs
xsm
sm
md
lg

ตับขอ พอแล้วเหล้า! สสส. ชวนคนหนองคาย “Check ตับ ยืดชีวิต” รู้ทันป้องกันก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รู้หรือไม่ว่า… ผู้ชายไทยมีแนวโน้มอายุเฉลี่ยสั้นกว่าผู้หญิงประมาณ 8 ปี โดยผู้หญิงจะมีอายุเฉลี่ย 78 ปี ในขณะที่ผู้ชายมีอายุเฉลี่ยเพียง 70 ปี แล้วส่วนต่าง 8 ปี หายไปไหน?

คำตอบของคำถามดังกล่าว คงต้องไล่เรียงไปดูอัตราการเสียชีวิตของผู้ชายส่วนใหญ่ที่มักเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “การดื่มแอลกอฮอล์” ถ้าดูจากข้อมูลจะพบตัวเลขคนไทยที่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์แบบหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 5.73 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.05 ในจำนวนนี้เป็นนักดื่มหนักเพศชายสูงถึง 5.05 ล้านคน

ซึ่งแน่นอนว่า อาจตามมาด้วยอุบัติเหตุอย่างการเมาแล้วขับ หรือไม่ก็ปัญหาสุขภาพที่นำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะมะเร็งตับ ซึ่งถือเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งที่พบในเพศชายทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ อีกทั้งภาวะตับอักเสบ พิษสุราเรื้อรัง ไขมันแทรกในตับ ตับแข็ง ตับวาย เส้นเลือดสมองแตก และส่งผลให้เอนไซม์ตับรั่วออกมาในกระแสเลือดในปริมาณสูง

แล้วเอนไซม์ตับรั่ว บอกอะไรเราบ้าง?

“ต้องเข้าใจก่อนว่า ตับถือเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เปรียบเสมือนเครื่องกรองบำบัดน้ำเสีย” นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือ ‘หมอบอย’ เปิดประเด็น “เมื่ออาหารเข้าไป ตับจะทำหน้าที่ปรุงให้เกิดสารอาหารต่าง ๆ ทั้งกรดอะมิโนและไขมัน แต่ในขณะเดียวกัน ตับก็จะกรองและดักของเสียไว้ เหมือนโรงบำบัดน้ำเสียที่จะบำบัดสิ่งไม่ดีก่อนส่งให้ไตขับออกจากร่างกาย ดังนั้น ตับจึงเป็นปราการสำคัญที่รับของเสียทั้งหมดในร่างกายเข้าไป ซึ่งถ้าเรารับของเสียเข้ามาโดยที่ไม่จำเป็นมากเกินไป ไม่ว่าจะจากแอลกอฮอล์ หรือสารเคมีในอาหาร ของเสียส่วนเกินเหล่านั้นจะกลับมาทำลายตับและร่างกายในที่สุด”

“ซึ่งเอนไซม์ตับจะอยู่ในเซลล์ตับของเราอีกที ปกติค่าเอนไซม์ตับจะอยู่ที่ประมาณ 35-40 ยูนิต/ลิตร แต่ถ้าเกิดมีการอักเสบหรือการรั่วออกมา ซึ่งถ้ายิ่งรั่วออกมาในปริมาณมาก แสดงว่า ตับกำลังร้องเตือนร่างกายอยู่ว่า ฉันไม่ไหวแล้ว! สมมติถ้าไปตรวจคนที่ดื่มหนัก ๆ จะพบเลยว่า กลุ่มนี้มีค่าเอนไซม์ตับสูงมากเพราะเซลล์ของตับมีการอักเสบไปแล้ว ทำให้ปล่อยเอนไซม์ตับรั่วออกมาสู่กระแสเลือด อย่างไรก็ดี แม้ค่าเอนไซม์ตับจะไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า ตอนนี้เราเป็นโรคแล้วหรือยัง หรือว่ากำลังเป็นโรคอะไร แต่การตรวจพบค่าเอนไซม์ตับที่สูงติดต่อกันนาน ๆ มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับในระยะยาว”

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นพ.พงศ์เทพ ให้ข้อมูลต่อว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินกว่ามาตรฐาน จะเหมือน “ค้อน” ที่เข้าไปช่วยทุบตับให้รั่วไวขึ้น ตามธรรมชาติตับสามารถทำลายแอลกอฮอล์ได้เพียง 1-2 ดื่มมาตรฐานเท่านั้น หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ เบียร์ 1 กระป๋อง เหล้าแดง 2 ฝา และเหล้าขาว 2 เป๊ก ซึ่งเมื่อดื่มเกินที่ตับจะทำลายไหว แอลกอฮอล์ส่วนเกินจะย้อนกลับมาทำลายตับแทน และทำให้เกิดการอักเสบ

“ถ้าเราอยากได้คนอายุยืนแล้วไม่พิการก่อนวัยอันควร เราก็ต้องเดินกลับไปก่อนที่เขาจะเกิดโรค เดินไปดูพฤติกรรม การใช้ชีวิต ความเจ็บป่วย ก่อนป่วย ซึ่งนั่นก็คือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และเอนไซม์ตับก็คือภาวะที่หลบซ่อนอยู่ ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งสุดท้ายปลายทางมันจะเดินไปสู่ความเจ็บป่วย แต่ถ้าเราจัดการตั้งแต่ตรงนี้ได้ มันก็จะส่งผลให้คนไทยอายุยืนยาวอย่างแท้จริง”

นั่นจึงทำให้ “พลังหมออนามัย ชวนคนลด ละ เลิกเหล้า Check ตับ ยืดชีวิต” ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เกิดขึ้น…

โดยริเริ่มจากแนวคิดการ “ตรวจ” เพื่อ “เตือน” ควบคู่ไปกับการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ตามแนวคิด “ฤดูกาลสุขปลอดเหล้า” (Healthy Sobriety) มาตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่พร้อมใจขับเคลื่อนแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนผ่านการรณรงค์ให้ประชาชน “วัดค่าเอนไซม์” พร้อมสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โดย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่นำร่องที่ สสส. เข้าไปขับเคลื่อนงานต่อจากน่าน เมื่อเร็ว ๆ นี้ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำทีมลงพื้นที่ถอดบทเรียนความสำเร็จและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “พลังหมออนามัย ชวนคนลด ละ เลิกเหล้า Check ตับ ยืดชีวิต” พร้อมการเจาะเลือดตรวจหาค่าเอนไซม์ตับจากกลุ่มผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นครั้งที่ 2 ภายหลังเข้าร่วมโครงการฯ ครบ 6 เดือน และการตรวจเยี่ยมบ้านผู้เข้าร่วมโครงการฯ

ส่อง ‘โพนพิสัยโมเดล’
เดินหน้าแก้ปัญหานักดื่ม

ปัจจุบัน สสส. มีการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวกว่า 80 พื้นที่ทั่วประเทศครอบคลุม 12 เขตสุขภาพ โดยเน้นการขับเคลื่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เพื่อเร่งแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 ที่พบว่า ในปี 2564 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 32.2 สูงเป็นอันดับ 2 รองจากภาคเหนือ

ทั้งนี้ ในภาคตะวันเฉียงเหนือ นอกจากหนองคายก็ยังมีขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ หนองบัวลำภูร่วมด้วย

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า จากผลการคัดกรองพฤติกรรมผู้ดื่มด้วยแบบประเมินปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ AUDIT Score ในทุกภูมิภาค เมื่อเดือน ธ.ค. 2566 จำนวน 13,556 คน พบกลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยง 4,236 คน คิดเป็นร้อยละ 31.25 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะตับ และได้ชวนกลุ่มเสี่ยงเพื่อตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ โดยมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 3,469 คน พบเอนไซม์ตับผิดปกติ 849 คน คิดเป็นร้อยละ 24.47

สำหรับพื้นที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีนโยบาย “สามหมอ สานพลัง ชวนคนโพนพิสัยเลิกเหล้า” โดยใช้ รพ.สต. เป็นฐานปฏิบัติการ เชื่อมภาคีเครือข่ายในชุมชน ชวนคน ลด ละ เลิกเหล้า Check ตับ ยืดชีวิต มี รพ.สต. ในพื้นที่เข้าร่วม 6 แห่ง มีประชาชนเข้าร่วมโครงการประเมินและคัดกรองพฤติกรรมผู้ดื่ม 1,594 คน เมื่อปี 2566 พบผู้ดื่มระดับเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพ 478 คน ในจำนวนนี้ผู้สมัครใจตรวจเลือด เพื่อตรวจค่าเอนไซม์ตับ 377 คน พบการทำงานตับปกติ 302 คน ผิดปกติ 75 คน


อย่างไรก็ดี สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ผู้จัดการกองทุน สสส. มองว่า นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์ ยังถือเป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ด้วยการสร้างความเข้มแข็งผ่านการจัดการตนเองของคนในชุมชน ทั้งหมออนามัย ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ สสส. พยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง

“วันนี้โพนพิสัยมีการขับเคลื่อนไปถึง 6 พื้นที่ แม้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นแต่ก็ต้องขอชื่นชม จากนี้ขอฝากการบ้านให้แกนนำชุมชนกลับไปดูว่า ที่ผ่านมาคนในชุมชนของท่านมีสุขภาพดีแล้วหรือยัง มีใครตายหรือพิการก่อนวัยไหม ความตายและความพิการก่อนวัยมันสัมพันธ์กับเรื่องอะไรบ้าง บางทีมันอาจจะไม่ใช่เรื่องของแอลกอฮอล์ แต่รวมถึงอาหารการกิน สภาพแวดล้อม แล้วจากนั้นให้นำมาคุยกันในหมู่บ้าน ผมบอกเลยนะว่า ชาวบ้านเขาไม่ค่อยเข้าใจข้อมูลเปอร์เซ็นต์อะไรพวกนี้หรอก แต่เขาจะสนใจบทเรียนจากประสบการณ์จริงที่นำมาขยายผลต่างหาก ผมคิดว่า ถ้าเราทำได้ เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นและมีสุขภาพที่ดีได้”

ตรวจเอนไซม์ตับจำเป็นไหม? หมอมีคำตอบ

นพ.พงศ์เทพ ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า การตรวจเอนไซม์ตับถือเป็น “เครื่องมือ” ที่จะช่วยในการตรวจสอบสุขภาพตับและการป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งส่วนมากมักจะอยู่ในวัย 35-40 ปี หรือวัยทำงาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยแนะนำว่า ควรตรวจค่าเอนไซม์ตับปีละ 1 ครั้ง เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม แม้ในระบบสุขภาพของประเทศไทยยังไม่มีการแนะนำให้ประชาชนทั่วไปตรวจในทุก ๆ ปี

แต่ถึงอย่างนั้น นพ.พงศ์เทพ ก็อยากให้มองว่า การตรวจเอนไซม์ตับเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสุขภาพเช่นเดียวกัน

“การตรวจเอ็นไซม์ตับเริ่มด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ อย่างการปรึกษา รพ.สต. ใกล้บ้านหรือดาวน์โหลด AUDIT Score (ประเมินปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) มาทำ ซึ่งถ้าเกิดคัดกรองแล้วคะแนนเกิน 7 คะแนนขึ้นไป แสดงว่า มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากการดื่มสุรา ผมแนะนำว่า ให้ไปเจาะเลือดเพิ่มเติมหรือถ้ากลัวเข็มก็สามารถปรับพฤติกรรม ลดการดื่มอย่างน้อยให้เหลือเพียง 1-2 ดื่มมาตรฐาน และสัปดาห์หนึ่งไม่ควรเกิน 1-2 วัน ถือว่า ไม่ได้ทำร้ายตับจนเกินไป”

แท็กทีมพลังชุมชน
ช่วยเบิ่ง(ดู) ช่วยลด ช่วยเลิก



ด้าน ดร.บุญเรือง ขาวนวล นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ และรองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและภารกิจพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ เสริมด้วยข้อมูลที่น่าสนใจว่า การตรวจค่าเอนไซม์ตับ หากมีค่าเกิน 40 ยูนิต/ลิตร ถือว่าการทำงานของตับผิดปกติ ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ใช่สาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น เช่น การกินยาบางชนิด โรคไวรัสตับอักเสบ โรคไขมันพอกตับ ความผิดปกติจากพันธุกรรม สารพิษจากสิ่งแวดล้อม โรคทางเมตาบอลิซึม (โรคเบาหวาน ภาวะดื้ออินซูลิน)

แต่อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสุขภาพตับ ทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ตาเหลือง ตัวเหลือง จุกแน่นใต้ชายโครงด้านขวาเกิดจากการอักเสบของตับ นำไปสู่โรคตับแข็งในที่สุด หากเลิกดื่มตับจะฟื้นฟูได้เองอย่างน้อย 1-3 เดือน ตับฟื้นฟูได้ ร้อยละ 80 ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน

“ดังนั้น การรณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกดื่มเริ่มต้นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ และการตรวจเอนไซม์ตับ จะทำให้ประชาชนตระหนักและรู้ภาวะสุขภาพตับและสุขภาพของตัวเอง ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้”

“ซึ่งต้องอาศัยบทบาทหมออนามัยในพื้นที่ โดยหมออนามัยเป็นผู้ให้บริการสุขภาพที่ใกล้ชิดชุมชน รู้จักคน รู้จักพื้นที่ จึงมีส่วนสำคัญในการสานพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง อสม. ชุมชน มาร่วมช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกรณีผู้ป่วยมีอาการรุนแรงประสานส่งต่อการรักษาไปยังแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว หรือแพทย์ของโรงพยาบาลแม่ข่าย”

อย่างไรก็ดี ดร.บุญเรือง หวังว่า ความสําเร็จของโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาสุขภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนต่อไป

ด้านตัวแทนในพื้นที่เครือข่ายหมออนามัย นางสาวรฏิมา อารีรักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเซิม เล่าถึงการทำงานว่า ในเบื้องต้นหมออนามัยจะต้องผ่านการอบรมพัฒนาศักยภาพหมออนามัยด้วยเรื่อง Healthy Routine รวมทั้งคัดกรองผู้ดื่มแอลกอฮอล์ด้วย AUDIT Score ก่อนที่จะลงทำงานในพื้นที่ เมื่อประชุมชี้แจงกับ อสม. ที่จะเข้ามาเป็นพลังเสริมในขับเคลื่อน ทำหน้าที่คัดกรองนักดื่มในพื้นที่ของตนเอง โดยรับผิดชอบ 1 คนต่อ 10 หลังคาเรือน ซึ่งจะใช้แบบประเมิน AUDIT Score ในการประเมินพฤติกรรมของนักดื่มแต่ละคน ซึ่งทำให้กระบวนการคัดกรองเร็วขึ้น

จากนั้นจะเป็นหน้าที่ รพ.สต. ทำการคัดแยกกลุ่มผู้ที่มีคะแนน AUDIT Score สูงกว่า 7 ซึ่งผู้ที่มีคะแนนสูงกว่า 7 จะถูกเชิญมาเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าเอนไซม์ตับ หากพบว่า ค่าเอนไซม์ตับอยู่ในเกณฑ์ที่วิกฤต จะมีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย ในขณะเดียวกันก็จะมีการติดตามผู้ที่มีค่าเอนไซม์ตับสูงอย่างใกล้ชิด ต้องมีบันทึกการดื่มสุราประจำวัน จัดอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนมีโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง

นางสาวรฏิมา อารีรักษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเซิม (ซ้าย)
“ยกตัวอย่างโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตำบลเซิม คือ A-SERM Model ซึ่งแบ่งออกเป็น A - AUDIT Score ประเมิน AUDIT Score เพื่อคัดกรองผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย ที่มีคะแนนประเมินมากกว่า 7 คะแนนขึ้นไป S - Self Care การดูแลตนเอง ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ดูแลสุขภาพทางอารมณ์ E - Enyme Liver ตรวจประเมินค่าเอนไซม์ตับทุก 3 เดือน จำนวน 3 ครั้ง R - Reflection มีการคืนข้อมูลการ AUDIT Score และค่าเอนไซม์ตับให้กลุ่มเป้าหมายทราบและเยี่ยมทุก 1 เดือน และ M - Model and Motivation มีการใช้บุคคลต้นแบบมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการกลุ่ม และใช้รางวัลมาเป็นแรงจูงใจ”

รฏิมา เอ่ยว่า แม้โปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป แต่ทว่ามีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนของเรา

เลิกไม่ได้ ก็ต้องลดให้ได้

นายธวัช สารบรรณ ครูชำนาญการจากโรงเรียนเซิมวิทยาคม
หนึ่งในผู้ตรวจเอนไซม์ตับ เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า เขาไม่ได้เรียกตนเองว่า “คนติดเหล้า” แต่ก็ยอมรับว่า ด้วยเงื่อนไขการทำงานร่วมกับชุมชน การเข้าสังคม มันปฏิเสธไม่ได้

พ่อพิมพ์ของชาติ เล่าย้อนต่อไปอีกว่า ตนเริ่มดื่มมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งนับรวม ๆ แล้วน่าจะเป็นเวลากว่า 20 ปี ยิ่งช่วงทำงานก็ยิ่งกินหนัก หลังเลิกเรียนจะมีการตั้งวงกันเพื่อปรึกษาหารือกัน แต่สุดท้ายก็จบที่การดื่มแอลกอฮอล์เหมือนเดิม แต่ละเดือนต้องจ่ายค่าแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย ตอนกินก็สนุกสนาน แต่พอตื่นเช้าขึ้นมาแฮงค์เป็นวัน ๆ ปวดหัว ไปสอนนักเรียนก็ทำได้ไม่เต็มที่ หงุดหงิดง่าย บางวันร่างกายไม่พร้อมก็ต้องลางาน พรุ่งนี้ไม่ไหว ก็ลาอีก ซึ่งตนเองก็ยอมรับว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีมาก ๆ

นายธวัช สารบรรณ ครูชำนาญการจากโรงเรียนเซิมวิทยาคม
“ยิ่งเป็นครู เราก็ต้องเป็นตัวอย่างให้กับนักเรียนถูกไหม ตอนนั้นเด็กนักเรียนบางคนก็ทักบ้าง ซึ่งเราในฐานะครูก็ยิ่งรู้สึกไม่ดี เลยคิดว่า ถ้ายังดื่มอยู่แบบนี้ จะไปสอนเขาได้อย่างไรว่า แอลกอฮอล์มันไม่ดี ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ บวกกับค่าเอนไซม์ตับที่สูงมากในตอนนั้นประมาณ 76% ก็ยิ่งทำให้เรายิ่งตกใจ ซึ่งตอนนี้ค่าเอนไซม์ตับลดลงเหลือประมาณ 28% ภายใน 3 เดือน รู้สึกได้เลยว่า ร่างกายตัวเองปรับเปลี่ยนได้ดีขึ้น ไปสอนนักเรียนได้ตามปกติ นอกจากนั้นก็ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายลงด้วย”

“ถึงตอนนี้จะยังเลิกแอลกอฮอล์แบบเด็ดขาดไม่ได้ แต่ก็ลดลงพอสมควร ไม่เมาหัวราน้ำแบบเดิมแล้ว (หัวเราะ) ซึ่งตนตั้งใจว่า ปีนี้จะงดเหล้าเข้าพรรษาอย่างจริงจังด้วย” ธวัชเอ่ยทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น