บอร์ด สสส.ตั้ง “ชาญเชาวน์” อดีตปลัด ยธ. จับมือหน่วยงานเกี่ยวข้องปราบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ห้ามพกพา-สูบในสถานที่ราชการ สนามบิน โรงเรียน สถานบริการ ประสาน “ตำรวจไซเบอร์” ปิด 309 บัญชี ใน 23 จังหวัดที่ขายออนไลน์ "สมศักดิ์" มอบ สสส.สื่อสารต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) คนที่ 1 กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด สสส.ครั้งที่ 5/2567 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดและจัดทำร่างข้อเสนอนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน มีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมเป็นคณะทำงาน ทำหน้าที่หนุนเสริมกลไกการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าผิดกฎหมาย ห้ามซื้อขาย นำเข้า ถือครอง และให้บริการอย่างเด็ดขาด โดยมีกฎหมายที่รองรับและควบคุมอย่างน้อย 4 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560, พ.ร.บ.ส่งออกและนำเข้า ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี
“บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายอย่างชัดเจน แต่ยังคงยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่เข้มข้นเพียงพอ" นายสมศักดิ์กล่าว
นายสมศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้คณะทำงานฯ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคุมเข้ม เช่น ห้ามพกพาและสูบบุหรี่บุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่ราชการทุกแห่ง, กระทรวงคมนาคม กวดขันพื้นที่โดยสารในสถานีหรือสนามบิน โดยไม่ให้ผู้โดยสารพกพาหรือสูบบุหรี่ไฟฟ้าบนเครื่องบิน, กระทรวงศึกษาธิการ ให้สารวัตรนักเรียนสอดส่องดูแลพื้นที่สถานศึกษา ไม่ให้นักเรียนพกพาหรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า และพนักงานรักษาความปลอดภัยกวดขันพัสดุที่ส่งมาให้แก่นักเรียนในสถานศึกษา, กระทรวงมหาดไทย ให้เข้มงวดสถานประกอบการและสถานบริการ ไม่ให้มีผู้พกพาหรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า, กระทรวงแรงงาน ที่มีแรงงานขึ้นทะเบียนกว่า 30 ล้านคน เพิ่มมาตรการเข้มงวดไม่ให้พกพาหรือสูบบุหรี่ในสถานประกอบการ, กระทรวงสาธารณสุข ที่มีคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ดำเนินการขับเคลื่อนผ่านกรรมการจังหวัดทุกจังหวัด และรายงานให้กระทรวงทราบทุก 3 เดือน
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้หน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย จัดทำบันทึกความร่วมมือบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน หรือจัดตั้งคณะทำงานร่วมขับเคลื่อนเฉพาะกิจ นอกจากนั้นเห็นชอบให้ขอความร่วมมือกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ พิสูจน์ทราบผู้กระทำผิดและเริ่มปราบปรามผู้โฆษณาและค้าขายบุหรี่ไฟฟ้าออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ค้าจากระบบเฝ้าระวังที่พบจำนวน 309 บัญชีรายชื่อ กระจายอยู่ใน 23 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผู้ค้ารายใหม่ และให้ สสส.รณรงค์สร้างความเข้าใจบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นต่อไป
ด้าน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบการดำเนินงานแผนงานพลังวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยไร้ยาสูบ ที่ทำงานร่วมกับ 23 องค์กรวิชาชีพ และสมาพันธ์จังหวัด 36 แห่ง ในการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการควบคุมยาสูบ สำรวจพฤติกรรมทัศนคติและความรู้ด้านการบริโภคยาสูบของนิสิตนักศึกษาวิชาชีพสุขภาพในประเทศไทย การให้บริการคลินิกลอยฟ้า จัดตั้งคลินิกฟ้าใส 563 แห่ง และพัฒนาการให้บริการเลิกยาสูบในคลินิก NCDs โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และชุมชน กว่า 200 แห่ง การพัฒนาระบบบริการสุขภาพร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ในประเด็นการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูภาวะติดนิโคติน นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญในการคงกฎหมายห้ามนำเข้า-ขายบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทย
นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น กฎหมายกรมควบคุมโรค ห้ามสูบในที่สาธารณะ กฎหมายกรมศุลกากร ห้ามนำเข้า กฎหมาย สคบ. ห้ามซื้อขาย ซึ่งตนมองว่า ควรมีการบูรณาการกฎหมาย เพื่อให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยจากการลงพื้นที่ขับเคลื่อนงาน ยังพบว่า แหล่งใหญ่ของบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีการนำเข้าทางช่องทางธรรมชาติ และสำแดงเท็จ รวมถึงการจับกุม ต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก เพราะต้องจับพร้อมกันหลายสาขา เนื่องจากสาขาใหญ่ จะดูกล้องวงจรปิดทั้งหมด หากมีสาขาใดถูกจับ ก็จะแจ้งสาขาที่เหลือปิดหนีทันที จึงต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก ในการจับพร้อมกันทุกสาขาของรายใหญ่ นอกจากนี้ ยังพบว่า บุหรีไฟฟ้ามียอดขายถึงสาขาละ 3 ล้านบาท ทำให้จังหวัดจันทบุรี มียอดขายไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท