xs
xsm
sm
md
lg

"อ.อ๊อด"ยื่น อว.ตรวจสอบ สว.ใช้ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ถูกต้องหรือไม่ ชี้เทียบวุฒิจากบริษัทไม่มหาวิทยาลัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อาจารย์อ๊อด" ยื่นร้อง อว.ตรวจสอบกรณีผู้สมัคร สว.ใช้ตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” นำหน้าชื่อ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ชี้เป็นการเทียบวุฒิฯ จาก บริษัท California University FCE ซึ่งไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา ด้านผู้ช่วยปลัดกระทรวง เป็นตัวแทนรับหนังสือ เผยศาสตราจารย์ในประเทศและต่างประเทศอาจแตกต่างกัน จะเร่งตรวจสอบ ถ้าไม่มีจริงก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.67 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถนนศรีอยุธยา นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว.ในฐานะรองโฆษกกระทรวง อว. ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. ให้เป็นผู้แทนรับหนังสือร้องเรียนจาก รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และ ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่เดินทางมายื่นถึง รมว.กระทรวง อว.ขอให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกรณีมีผู้ใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์นำหน้าชื่อ ทำให้สังคมไทยเข้าใจผิดว่าเป็นการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย


รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า จากการที่มีบุคคลรายหนึ่งได้ใช้ตำแหน่งวิชาการ “ศาสตราจารย์” นำหน้าชื่อ เพื่อสมัครเข้ารับการเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทำให้สังคมสับสนว่า เป็นการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง โดยเหตุแห่งการได้มาซึ่งตำแหน่งศาสตราจารย์ เป็นการเทียบวุฒิจากสถาบันเทียบวุฒิที่ต่างประเทศ คือ บริษัท California University FCE ซึ่งไม่ใช่สถาบันอุดมศึกษา และมีการกล่าวอ้างในการแถลงข่าวของกลุ่มคนที่นำตำแหน่งศาสตราจารย์ดังกล่าวมาใช้นำหน้าชื่อ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.67 ว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) รับรองสถานะ นำมาซึ่งการเข้าใจผิดของสังคมในวงกว้าง ซึ่งอาจขัดต่อกฎหมายพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 โดยเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ในประเทศไทย หลังจากผ่านกระบวนการประเมินผลงานวิชาการโดยเข้มงวดแล้ว ก็จะได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจนเสร็จสิ้นลง ก็จะต้องนำความกราบบังคมทูล เพื่อขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งในราชกิจจานุเบกษา ให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบสถานะในตำแหน่งศาสตราจารย์ และบุคคลนั้นก็สามารถใช้ประกอบคำนำหน้าชื่อได้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น กรณีที่มีบุคคลแอบอ้างได้ใช้ตำแหน่งศาสตราจารย์เพื่อสื่อต่อสาธารณะให้ประชาชนคนไทยเกิดความเข้าใจว่ามีตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์จะต้องพิจารณาโปรดเกล้าฯ นั้น ตนจึงอยากขอให้กระทรวง อว.ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบโดยตรง ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง และรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมไทยในประเด็นนี้ ไม่ให้เกิดการขยายวงกว้าง ทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งต่อความรู้สึกของประชาชน ศักดิ์ศรีของนักวิชาการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด


ด้านนายวันนี กล่าวว่า หลังจากรับหนังสือร้องเรียนแล้ว กระทรวง อว.จะเร่งดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอน ซึ่งการให้ตำแหน่งวิชาการในแต่ละประเทศ มีระบบแตกต่างกัน ในแวดวงวิชาการก็จะมีอาจารย์ที่ได้ตำแหน่งวิชาการจากต่างประเทศ มาขอเทียบตำแหน่งวิชาการในประเทศ เช่น ตำแหน่งศาสตราจารย์จากต่างประเทศ ถ้าเมื่อได้การรับรองการเทียบเท่ากับศาสตราจารย์ในประเทศ ในการทำงานในมหาวิทยาลัยก็สามารถได้เงินประจำตำแหน่งศาสตราจารย์ได้ ก็มีบางกรณีที่ตำแหน่งศาสตราจารย์จากต่างประเทศ อาจเทียบไม่เท่าตำแหน่งศาสตราจารย์ในประเทศ แต่การใช้ตำแหน่งทางวิชาการ หากผู้นั้นได้มาอย่างถูกต้องตามระบบของมหาวิทยาลัยในแต่ละประเทศ ก็ย่อมมีสิทธิ์ใช้นำหน้าชื่อได้ เช่น เป็น Prof. ที่หมายถึงศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ พอมาที่ประเทศไทยก็มีสิทธิ์ใช้คำนำหน้าชื่อเป็น Prof. ได้ แต่หากจะใช้เพื่อทำงานทางวิชาการและมีเงินประจำตำแหน่งเทียบเท่ากับศาสตราจารย์ในประเทศ ก็ต้องมีการเทียบและรับรอง

“แต่หากการได้มาซึ่งตำแหน่งศาสตราจารย์ ไม่ถูกต้องหรือไม่มีจริง จะเข้าข่ายจงใจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิด ซึ่งอาจผิดกฎหมายได้” นายวันนี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น