xs
xsm
sm
md
lg

รวมพลัง “ชุมชนท้องถิ่นปลอดบุหรี่” เดินหน้าสังคมไทยไร้ควัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กว่า 13 ปีที่ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สํานัก 3) ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ดำเนินงานขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้ “ชุมชน” เป็นฐาน พัฒนากลไกการจัดการท้องถิ่นอย่างเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดึงศักยภาพชุมชน 4 องค์หลักทั้งท้องถิ่น ท้องที่ ภาครัฐ และองค์กรชุมชนเข้าด้วยกัน

จากการทำงานเชิงพื้นที่กว่าทศวรรษ ปัจจุบัน สสส. มีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่กว่า 3,618 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ขับเคลื่อนครอบคลุมประเด็นสุขภาวะในมิติต่าง ๆ ทั้งคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หนี้ครัวเรือน การจัดการระบบอาหาร เสริมศักยภาพเด็กและเยาวชน รวมทั้ง “ชุมชนท้องถิ่นปลอดบุหรี่”

นั่นจึงเป็นที่มาของการรวมตัวครั้งสำคัญ เมื่อเร็ว ๆ นี้ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จัดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2567” วาระ: ชุมชนท้องถิ่นร่วมแก้ปัญหาประเทศ” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 13 โดยยังคงมุ่งมั่น “เสริม” และ “สร้าง” ความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น พร้อมแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ปัญหาบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในท้องถิ่น สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร ปี 2564 จะพบว่า คนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบทมากกว่าในเมือง โดยคนสูบบุหรี่ในชนบทคิดเป็นตัวเลข 19.0% และในเขตเมืองคิดเป็น 15.6%

ขณะที่ภาคใต้ยังคงครองแชมป์อัตราการสูบบุหรี่สูงสุดถึงร้อยละ 22.4 รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 18.0 ภาคกลางและกรุงเทพฯ มีอัตราการสูบ ใกล้เคียงกัน นั่นคือ ร้อยละ 16.3 และร้อยละ 16.1 ตามลำดับ และสุดท้ายภาคเหนือ มีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 15.6

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า นิโคตินพบได้ทั้งในบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งนิโคตินจะออกฤทธิ์กระตุ้นสมองส่วนหน้า หากมีการเสพติดไปแล้วอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายทางสมอง ในส่วนที่มีหน้าที่ควบคุมการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การตัดสินใจ บุคลิคและควบคุมพฤติกรรมทางสังคม โดยเฉพาะการเสพติดสารนิโคตินในเด็กและเยาวชน ยิ่งในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงพัฒนาสมอง การได้รับสารนิโคตินอาจส่งผลกระทบที่มีความรุนแรงต่อการพัฒนาสมอง ต่างจากช่วงอายุ 20-25 ปีขึ้นไป แม้จะไม่มีผลทำลายสมองเช่นเดียวกับในวัยเด็กเพราะสมองมีการพัฒนาเต็มที่แล้ว แต่สารนิโคตินยังมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งโรคหัวใจ โรคซึมเศร้า ปอดอักเสบ มะเร็งปอด และโรคใหม่อย่างโรคปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้า หรือ อิวารี่ (EVALI)

ศ.นพ.ประกิต ในฐานะผู้ขับเคลื่อนงานด้านนี้มาไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษเองยังต้องยอมรับว่า บุหรี่ไฟฟ้าน่ากลัวมากกว่าบุหรี่มวน เพราะมองเห็นโรคเร็วกว่า

“ในฐานะหมอทางโรคปอด ผมไม่เห็นคนอายุน้อยตายจากบุหรี่มาก่อน” ศ.นพ.ประกิต อธิบายต่อว่า นอกจากนิโคติน บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารเคมีอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งที่เหมือนกันและไม่เหมือนกันเพราะฉะนั้นโรคก็เช่นเดียวกัน ยังมีอีกหลายโรคที่เราไม่เคยเจอในบุหรี่มวนมาก่อน ปกติคนที่สูบบุหรี่มวนจะเริ่มสูบเฉลี่ยอายุ 17-18 ปี ส่วนใหญ่เริ่มเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเมื่ออายุ 35 ปี มะเร็งปอดอายุ 50 ปี และถุงลมปอดพอง อายุ 60 ปี แต่ในขณะที่โรคปอดอักเสบรุนแรงจากบุหรี่ไฟฟ้ากลับพบในคนที่อายุน้อยมาก ๆ

โดยมีการยกตัวอย่างถึง “สหรัฐอเมริกา” ที่พบผู้ป่วยโรคอิวารี่กว่า 2,807 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 68 ราย ซึ่งมีอายุเฉลี่ยแค่ 24 ปีเท่านั้น


และสำหรับประเด็นสำคัญที่พูดถึงกันอย่างมากก็คือ บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนจริงหรือ?

ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ตอบคำถามในประเด็นนี้ไว้ว่า สําหรับคนที่สูบบุหรี่มวนอยู่แล้ว ในความเป็นจริงยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะสามารถลดอันตรายได้ แต่มีหลักฐานว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ทำให้เลิกสูบบุหรี่มวน และบางครั้งอาจนำไปสู่การสูบบุหรี่ทั้งสองประเภท ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้น ในทางกลับกันความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับเด็กและเยาวชนก็สูงมาก โดยเฉพาะเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่แล้วหันมาลองบุหรี่ไฟฟ้า มีความเสี่ยงที่จะเสพอย่างรุนแรง อันตรายต่อสุขภาพไม่น้อยกว่าบุหรี่มวน

การจะแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว จึงจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือ โดยเฉพาะ “ชุมชน” ในฐานะคนที่ใกล้ชิดของเด็กและเยาวชนไม่ต่างจากครอบครัว ศ.นพ.ประกิต แนะนำว่า 1. ต้องเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า 2. เรียกร้องให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า 3. เรียกร้องให้ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในทุกที่ที่กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ 4. รวมพลังผู้นําทางความคิดในท้องถิ่น สื่อ ร่วมรณรงค์ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า 5. สนับสนุนค่านิยมให้ชุมชนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า 6. องค์กรต้องเป็นต้นแบบปลอดบุหรี่ไฟฟ้า 7. ชี้เบาะแสถึงแหล่งที่มีการลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า และสุดท้าย 8. เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า

“เราอยู่สังคมเดียวกัน ดูแลลูกตัวเองให้ดีแล้วก็ต้องดูแลลูกของคนในชุมชนด้วย เพราะเด็ก และเยาวชนไม่ใช่สมบัติของพ่อแม่อย่างเดียว แต่เป็นสมบัติของชุมชนและประเทศ ซึ่งถ้าเด็กมีปัญหา ประเทศก็ไปไหนไม่ได้เหมือนกัน”

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจุบันชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทอย่างมากในเรื่องสาธารณสุข และสุขภาพ ยิ่งสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก และเยาวชนในปัจจุบันที่ถือได้ว่า มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากการสำรวจลงพื้นที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ. ลพบุรี พบเด็กวัยประถมกว่า 42.8% ของเด็กประถมโรงเรียนแห่งนี้เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยสัดส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 55 % และอีก 30% คือผู้ชาย

ซึ่ง รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ให้ข้อมูลที่น่าตกใจยิ่งกว่าว่า ปัจจุบันยังคงมีเด็กประถมอีก 11.8% ยังคงสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่

“ดังนั้น ท้องถิ่นจึงต้องเข้ามาช่วยกันดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งอันดับแรก ‘ผู้นำ’ ต้องให้ความสำคัญกับปัญหานี้อย่างจริงจัง บางคนอาจคิดว่า ปัญหาเรื่องบุหรี่ไม่ได้เป็น ปัญหาหลักของเขา แต่ว่าถ้าตระหนักจริง ๆ แล้วจะพบว่า บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารตั้งต้นของสารเสพติดอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของคนที่ป่วยด้วยโรคจากบุหรี่มันมหาศาลมากเลย ถ้าเกิดเราร่วมรณรงค์มันก็จะลดส่วนนี้ได้มาก ส่วนสุดท้ายคือผลกระทบกับคนอื่นที่ไม่ได้สูบ ทั้งในสังคม และชุมชน มันมีผลกระทบตรงนี้ค่อนข้างมาก”

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในบทบาทสำคัญของเราคือการเข้าไปสนับสนุนชุมชน การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยความรู้ที่ถูกต้องส่งไปถึงชุมชนในท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เขาตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าสุดท้าย คนเหล่านี้จะสามารถพัฒนาแผนการจัดการในท้องถิ่นของตนเองได้อย่างเหมาะสม


ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามนําเข้า และห้ามจําหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าแบบเด็ดขาดนับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย สวนทางกับตลาดบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกที่กำลังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง รู้หรือไม่ว่า ในแต่ละปีบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำกำไรได้มากถึงปีละ 40,000 ล้านบาท ซึ่ง 50% มาจากเด็ก และวัยรุ่น

ซึ่งหากจะพูดว่า เป้าหมายของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าคือเด็กและเยาวชนก็คงไม่ผิดซะทีเดียว

“ตอนนี้ประเทศไทยมีมาตรการต่าง ๆ สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าทั้งกรณีการจำหน่าย นำเข้า ครอบครอง หรือกรณีสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่พยายามผลักดันจะให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ดังนั้น ประชาชนในสังคมจำเป็นต้องร่วมกันแสดงพลังให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และจริงจัง ควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนรับรู้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ให้ความเห็น

นางนัฏฐิยา โยมไธสง ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม
มหาสารคาม เป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ที่ทำงานร่วมผลักดันกับ สสส. มาตั้งแต่ปี 2550 ความน่าสนใจของที่นี่คือมีระบบการจัดการพื้นที่ในแบบเฉพาะตัว ทำงานภายใต้ข้อมูลอย่างมีแบบแผน พร้อมมีความเข้มแข็งของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้

และแม้ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี แต่วันนี้มหาสารคามสามารถผลักดันตนเองจาก “ชุมชนปลอดบุหรี่” จนเข้าใกล้ “เมืองปลอดบุหรี่” แล้ว

นางนัฏฐิยา โยมไธสง ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองมหาสารคาม จ. มหาสารคาม เล่าการทำงานคร่าว ๆ ให้ฟังว่า สารคามถูกเรียกว่าเป็น“เมืองแห่งการศึกษา” เนื่องจากมีสถานศึกษากว่า 21 แห่ง มีประชากรเข้ามาในพื้นที่ไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 คน/ปี มีจำนวนร้านค้าและร้านอาหารกว่า 300 ร้าน หอพักอีก 600 แห่ง ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาที่ตามมาก็คือ ปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน โดยเทศบาลเมืองมหาสารคามมีความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ “เมืองแห่งการเรียนรู้ ผู้คนมีสุข”

โดยเป็นการดำเนินงานภายใต้ 5 กลยุทธ์การสร้างเสริมสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวา (Ottawa Charter) ได้แก่ 1. นโยบายสาธารณะ เทศบาลเมืองมหาสารคามมีการประกาศนโยบายสาธารณะตั้งแต่ปี 2561 โดยการทำ MOU ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขระดับจังหวัด และ 80 หน่วยงานในพื้นที่ทั้งชุมชน อสม. หน่วยงาน หอการค้า และที่สำคัญคือวัด เพื่อประกาศเป็นเมืองปลอดบุหรี่ 2. การจัดการสิ่งแวดล้อม ปรับทุกพื้นที่สาธารณะให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ ไม่ว่าจะสวนสาธารณะ บ.ข.ส. หรือตลาดสด 3. การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดย 31 ชุมชนในเขตเทศบาลต้องมีแผนปลอดบุหรี่อย่างชัดเจน 4. การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล มีเครือข่ายในการพัฒนาทักษะความรู้ โดยองค์กรสาธารณสุขจังหวัด มีระบบ Line OA ช่องความรู้สำหรับประชาชนเพื่อการศึกษาเรื่องบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งจัดหาแกนนำเลิกบุหรี่ในชุมชน และโรงเรียน และ 5. การปรับระบบบริการ จากข้อมูล 10 กว่าปีที่ผ่านมา เทศบาลเมืองมหาสารคามมีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 20% จากประชากรกว่า 10,000 คน ทำให้ต่อมามีการจัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่ 5 แห่งสำหรับผู้สูบบุหรี่ ภายใต้สโลแกน 5 นาทีก็เลิกได้ สะดวกที่ไหนเลิกที่นั่น มีการติดตามผลตลอด 6 เดือน นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มทักษะให้พยาบาลวิชาชีพ และอสม. เป็นผู้พาเลิกบุหรี่ และมีการลงพื้นที่ให้ความรู้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

“จริง ๆ ทั้งหมดมันอยู่ที่ชุมชน ถ้าชุมชนเห็นว่า ปัญหานี้กระทบต่อสุขภาพเขา เขาจะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของพื้นที่เอง อย่างพื้นที่ของเราเหมือนกัน เราไม่ใช้การบังคับแต่ให้เขาค้นหาปัญหาของตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เกิดความยั่งยืน ต้องเป็นคนในชุมชนนี่แหละที่ร่วมใจกันทำ พอชุมชนขับเคลื่อนร่วมกันก็จะเกิดความต่อเนื่อง เพราะชุมชนทำด้วยตนเอง โดยชุมชน เพื่อชุมชน” นางนัฏฐิยา แนะนำทิ้งท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น